×

‘หุ้นเดินเรือ’ ราคาพุ่งเท่าตัว นักวิเคราะห์ชี้ปัจจัยหนุนอื้อ

25.11.2020
  • LOADING...
‘หุ้นเดินเรือ’ ราคาพุ่งเท่าตัว นักวิเคราะห์ชี้ปัจจัยหนุนอื้อ

ราคาหุ้นกลุ่มเดินเรือกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะในรายของ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) ซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล โดยนับแต่เข้าสู่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ RCL เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 110% แตะจุดสูงสุดที่ 11.90 บาท เมื่อ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่ราคาจะย่อตัวลงมาแตะ 10 บาท

 

ก่อนหน้านี้ธุรกิจขนส่งทางทะเล (Shipping) ไม่ค่อยสดใสนัก หลังถูกกดดันจากทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการค้าโลกที่ชะลอตัว แต่ล่าสุดดูเหมือนว่ากิจกรรมขนส่งทางทะเลจะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น 

 

Reuters ระบุว่า ดัชนี Freightos Baltic Global Container (FBX) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยค่าระวางเรือของ 12 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้นเป็น 2,359 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต นับเป็นสถิติสูงสุดใหม่ หลังจากราคาเพิ่มขึ้นถึง 30% นับแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ล่าสุดดัชนีราคายังขยับขึ้นเป็น 2,375 ดอลลาร์ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

 

ดัชนี FBX สะท้อนค่าระวางเฉลี่ยของเรือคอนเทนเนอร์

 

Hua Joo Tan นักวิเคราะห์ธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือของ Liner Research Services กล่าวว่า ค่าบริการที่พุ่งสูงขึ้นหนุนจากความต้องการใช้บริการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมากนับแต่เดือนกรกฎาคม เพื่อเติมสต๊อกสินค้าหลังช่วงคลายล็อกดาวน์ ในขณะที่การขนส่งทางอากาศยังถูกจำกัดอยู่ และทำให้ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

 

ต้นทุนขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปยังชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาขยับขึ้นถึง 42% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นสถิติใหม่ที่ 4,750 ดอลลาร์ อิงจากข้อมูล Freightos 

 

ขณะที่ Financial Times ระบุเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ต้นทุนของการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาดำเนินการเติมสต๊อกสินค้าก่อนหน้าที่จะถึงช่วงวันหยุดยาว และเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่โควิด-19 อาจจะแพร่ระบาดหนักขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ 

 

ก่อนหน้านี้การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือถูกยกเลิกไปจำนวนมากในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกสั่งปิดท่าเรือ แต่ปัจจุบันการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศกลับมาได้แล้วประมาณ 90% 

 

อัตราค่าบริการระยะยาวสำหรับการขนส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกาทางชายฝั่งตะวันตกพุ่งขึ้น 12.7% ในช่วงสุดสัปดาห์ของกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับราคาขึ้นชั่วข้ามคืนมากที่สุดนับแต่ปี 2558 ขณะเดียวกันอัตราค่าขนส่งเมื่อเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นถึง 63.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน 

 

David Kerstens นักวิเคราะห์ของ Jefferies กล่าวว่า อัตราค่าบริการที่พุ่งสูงขึ้นถูกผลักดันด้วยความต้องการสินค้าเอเชียหลายชนิดในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สต๊อกสินค้าต่างๆ กลับอยู่ในจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2533

 

ขณะที่ Peter Sand นักเศรษฐศาสตร์ของ Bimco กล่าวว่า ค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงอำนาจในการต่อรองที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ขายสินค้าต่างยอมจ่ายค่าขนส่งที่สูงขึ้น เพื่อมั่นใจได้ว่าจะสามารถขนส่งสินค้าได้ตามต้องการ 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาหุ้นในกลุ่มเดินเรืออื่นๆ ซึ่งไม่ได้เน้นการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ อาทิ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) หรือ บมจ.อาม่า มารีน (AMA) ราคาของหุ้นเหล่านี้ไม่ได้ปรับขึ้นแรงเหมือนกับ RCL โดยเพิ่มขึ้นราว 15-40% 

 

‘หุ้นเดินเรือ’ ฟื้น! ราคาเปลี่ยนแปลงช่วงไตรมาส 4 ปี 2563

 

สยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนสำคัญต่อหุ้นกลุ่มเดินเรือคืออุปสงค์ที่ฟื้นกลับมา และการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะฟื้นตัวได้ ทำให้ปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าระวางเรือปรับตัวขึ้น 

 

“บริษัทในกลุ่มเดินเรือให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า อุปสงค์ในปี 2564 น่าจะเติบโตได้ 5% ในขณะที่ปริมาณของเรือใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ต่างจากในอดีตที่อุปทานมักจะสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับอุปสงค์ จึงมองว่าแนวโน้มธุรกิจเรือเทกองจะสดใสมากขึ้น”

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อจากอุตสาหกรรมที่กลับมาดีขึ้น และบริษัทต่างๆ จะพลิกกลับมามีกำไร เทียบกับปีนี้ที่ขาดทุน ขณะเดียวกันการประเมินราคาพื้นฐานก็มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในอดีตด้วยอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวชัดเจน 

 

 ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X