ผมเชื่อว่าหลายคนคงคิดไม่ต่างจากผม ‘โลกทุกวันนี้หมุนและเปลี่ยนไปเร็วมากๆ’ อะไรๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อนก็พร้อมจะเกิดขึ้นและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มันถึงมีคำพูดที่ว่า Only the Paranoid Survive
ก่อนจะมาอยู่ที่ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมเคยคิดว่าทุกอย่างมันจะยั่งยืนและคงอยู่แบบนั้นไปตลอด
ผมทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมฟิล์มและเทปคาสเซตต์มาก่อน พอมีความคิดความเชื่อแบบนั้น เราก็แค่ทำงานเดิมๆ ของเราไป ปรับให้มันดีขึ้นบ้าง เพิ่มยอดขายมัน
แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งเมื่อคิดจะล้มหายตายจาก มันจะเกิดขึ้นเร็วมากๆ มากจนไม่ให้เราตั้งตัวและไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าเลย แม้แต่เวลาให้มานั่งไว้อาลัยหรือโศกเศร้าเสียใจกับสิ่งที่พังลงไปก็ไม่มี
เมื่อเลือกไม่ได้และถูกดิสรัปต์มาตลอด ผมจึงเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดหูเปิดตากับเรื่องนี้มาก เข้าใจหลักการของมัน ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าวิธีการทำงานของมนุษย์เราก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
ผู้บริหารยุคใหม่ในโลกวันนี้จึงต้องคิดและทำอะไรใหม่ๆ ห้ามหยุดคิด ห้ามหยุดเดิน เพราะมันไม่มีอะไรแน่นอนเลยสักอย่าง ตัวผมเองพอได้เข้ามาดูแลมาม่า ผมเชื่อในเรื่องการ ‘ลองผิดลองถูก’ มากๆ ว่าเป็นสิ่งที่ดี สมมติว่าผมอยากจะปล่อยผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆ ออกมาสักรส เมื่อคิดได้และเกิดไอเดียแล้วต้องเริ่มลงมือทำทันที อย่าไปรอ เพราะไม่กี่นาทีหลังจากนั้นคนอื่นๆ ก็อาจจะคิดได้เหมือนกัน แล้วถ้าเขาชิงลงมือก่อน ‘ความคิด’ ของคุณก็จะเป็นได้แค่ ‘ความคิด’
ถ้ามันจะล้มเหลวขึ้นมาก็ไม่ได้เสียหาย เพราะเราก็ยังได้เรียนรู้จากมัน ที่ผ่านมามาม่าเองก็เคยพบกับความผิดพลาดอยู่หลายครั้ง เราก็เก็บมันมาเป็นบทเรียนทบทวน จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง แต่หากเปรี้ยงขึ้นมา มันก็จะเป็นผลดีกับองค์กร เขาจึงเรียกว่า Fail Fast, Fail Often, Fail Forward
ทุกครั้งเวลาที่พูดหรือสื่อสารกับพนักงานในบริษัท ผมจะพยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้พวกเขาได้ลองคิดลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่ทำแต่งานรูทีน มีไอเดียอะไรก็งัดออกมาคุยกัน ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จะแนะให้เขาลองเริ่มทำดูเลย บริษัทของเราจึงมีโปรเจกต์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรได้เริ่มคิดเริ่มทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าคุณสมบัติข้อแรกของการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรที่ดีในวันนี้คือ ‘คุณต้องไม่ Kill ไอเดียของลูกน้อง’ พอเขาเสนอความคิดที่คุณอาจจะไม่คุ้นหู เริ่มพูดขึ้นมาได้แค่ไม่กี่คำ คุณก็ไปตัดสินเขาทันทีแล้วว่า ‘ไม่เวิร์ก’ ส่วนหนึ่งอาจจะเห็นว่าเป็นเด็กจบใหม่ อายุน้อย ยังไม่มีประสบการณ์ ก็เลยให้เขาทำตามคำสั่งของคุณโดยไม่บอกเหตุผล นี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ถ้าคุณคิดจะบอกปัดไอเดียเขาทิ้ง คุณต้องให้เวลากับเขา อธิบายเหตุผลให้เขาฟังว่าตัดสินใจแบบนั้นเพราะอะไร อย่าใช้แค่คำว่า ‘ไม่เวิร์กหรอก’ หรือให้เขาทำตามคำสั่งของเราโดยที่ดูแววตาก็รู้ว่าเขาไม่เข้าใจเหตุผล ต้องบอกให้เขาเข้าใจว่าตัวคุณเองเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน ให้คำแนะนำเขาว่าลองวิธีอื่นที่ต่างออกไปจะดีกว่าไหม
คุณสมบัติประการถัดมา ผู้นำที่ดีนอกจากจะเปิดรับความคิดของลูกน้องแล้วก็ต้องเป็นผู้นำที่ ‘ได้ใจ’ ลูกน้องด้วย
คำว่าได้ใจในที่นี้มันเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและยุคสมัย อย่างสมัยก่อนแค่คนรู้ว่าผมเป็นหลานของนายห้างเทียม โชควัฒนา ผมก็อาจจะได้ใจคนในทีมหรือบริษัทแล้วก็ได้ เพราะคุณปู่ทำไว้ดีมากๆ ดูแลและให้เกียรติลูกน้องทุกคน
แต่ปัจจุบันหลักคิดแบบนั้นมันใช้ไม่ได้แล้ว คนไม่ได้ยึดติดกับนามสกุล อดีต หรือประวัติศาสตร์ของคุณอีกต่อไป โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก การจะได้ใจลูกน้อง ส่วนหนึ่งเขาจะมองว่าคุณประสบความสำเร็จในเรื่องใดมาบ้าง นอกจากนี้ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแล้วสามารถสื่อสารออกไปให้พวกเขารู้เรื่องด้วย ไม่ใช่เก็บเงียบอยู่กับตัวเอง
ได้ใจในที่นี้จึงครอบคลุมทั้งความสำเร็จของคุณ ความสามารถ และทักษะในการสื่อสาร ประกาศวิสัยทัศน์แล้วคนตามทัน คุณบอกให้คนทำอะไรแล้วมีเหตุผลรองรับว่าทำไมจึงสั่งอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น
สำคัญที่สุด ผู้นำที่ดีจะต้องพร้อมหนุนหลังผู้ตามในทุกๆ สถานการณ์เสมอ เมื่อใดก็ตามที่ลูกน้องของคุณทำตามคำสั่งหรือการชี้แนะของคุณแล้วเกิดล้มเหลวขึ้นมา ผู้นำก็จะต้องออกมาขอโทษและยอมรับกับลูกน้อง ทั้งหมดนี้ล่ะที่เรียกว่า ‘ผู้นำ’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- Only the Paranoid Survive หรือคนขี้ตระหนกเท่านั้นจึงจะอยู่รอด คือชื่อหนังสือของ แอนดรูว์ โกรฟ วิศวกร นักเขียน และนักธุรกิจเชื้อสายอเมริกัน-ฮังการี ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอและประธานกรรมการบริษัท Intel ทั้งๆ ที่เคยเป็นแค่พนักงานธรรมดาๆ มาก่อน