×

ผลสำรวจชี้ คนไทย 1 ใน 3 เคยถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์-รถไฟฟ้า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากสุด

21.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ผู้หญิงมีอัตราการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด 45% รองลงมาคือเพศทางเลือกและเพศชาย ตามลำดับ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเหตุการณ์คุกคามทางเพศที่ผู้ตอบแบบสำรวจประสบ หรือ 52% เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นภายในรอบปี 2560 นี้เอง
  • ทุกคนมีหน้าที่พึงระวัง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งเฉย และเข้าไปแทรกแซงการกระทำคุกคามทางเพศ ซึ่งจะช่วยยับยั้งความรุนแรงทางเพศที่กำลังเกิดตรงหน้า รวมทั้งเป็นการสร้างความรับรู้ต่อสังคมถึงพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อสังคมที่ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน

 

 

     รู้หรือไม่ว่ามีภัยเงียบเกิดขึ้นระหว่างการใช้ชีวิตบนขนส่งสาธารณะทั้งหลายที่เราทุกคนใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมานานหลายปี เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน นั่นคือการคุกคามทางเพศต่อผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และ ‘ผู้หญิง’ คือเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศมากที่สุด ส่วนเพศทางเลือกและผู้ชายคือกลุ่มที่ถูกกระทำรองลงมาตามลำดับ

 

 

     คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอาชญากรรมทางเพศมักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน แต่จากการสำรวจสถิติอาชญากรรมภาคประชาชนเมื่อปี 2555 พบว่าเกิดในตอนกลางวันเพิ่มมากขึ้น โดย ‘ขนส่งสาธารณะ’ ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญ และการรณรงค์เพื่อขจัดปัญหาก็มีมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การรวมกลุ่มของภาคส่วนต่างๆ เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้ร่วมเดินทาง’ ทุกคนที่ต้องหันมาร่วมมือกัน

 

 

กระเป๋ารถเมล์ ปราการด่านแรก ทั้งโดนเองและช่วยผู้โดยสาร

     สมพร จิตต์สุข กระเป๋ารถร่วม ขสมก. วัย 65 ปี ประกอบอาชีพนี้มากกว่า 30 ปี เล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า ตั้งแต่มาทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ ยุคแรกๆ ก็มีการคุกคามทางเพศบ้าง แต่ไม่มากเท่าช่วง 10 ปีหลัง การคุกคามทางเพศในสมัยก่อนจะเป็นลักษณะของคนที่มีอาการทางจิตมากกว่า มาอวดแสดงเครื่องเพศ หรือใช้คำพูดวาจาในลักษณะลวนลาม

     “มาช่วงหลังประมาณ 10 ปีเห็นจะได้ คนใช้รถใช้ถนนเยอะ รถเมล์มันก็มีคนใช้มาก แออัด เบียดเสียด พวกมือดี มือบอนก็เยอะตามไปด้วย เช่น ไปยืนอยู่ข้างหลังผู้หญิง เวลารถเบรกก็เอาตัวกระแทกมาด้านหลัง จ้องคอเสื้อเขาบ้าง มีหลายรูปแบบ”

     สมพรเล่าอีกว่า ตอนที่เธอเริ่มทำอาชีพนี้ใหม่ๆ แรกๆ ก็กลัว เพราะเธอเคยถูกคุกคามเหมือนกัน “กระเป๋านี่ไม่รอด เมื่อก่อนเราสวยๆ เปรี้ยวๆ ด้วย เขามายืนข้างหลัง เราก็ไม่สนใจ พอรถเบรกก็โน้มตัวมา เอียงตัวมา ตอนนั้นก็กลัว”

 

 

     เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี เธออยู่ในอาชีพนี้จนมากประสบการณ์ ทำให้มองทะลุว่าแต่ละคนมีแววแสดงออกแบบไหน

     “พวกนี้จะเลือกเหยื่อผู้หญิงที่เรียบร้อย ดูไม่ค่อยมีปากเสียง แล้วก็จะเข้าไปลวนลามเขา ยิ่งเห็นนิ่งๆ แต่งตัวเหมือนผ้าพับไว้ยิ่งชอบ ไม่ใช่ว่าพวกแต่งตัวเปรี้ยวจะโดนนะ พวกแต่งตัวเปรี้ยวนี่มันไม่กล้ายุ่ง เพราะรู้ฤทธิ์”

     หลังจากสลัดความกลัวในช่วงแรก ทำให้สมพรกล้าที่จะต่อกรกับภัยคุกคามเหล่านี้ เธอมีสารพัดรูปแบบวิธีการรับมือ แต่ก็ต้องไม่ผลีผลาม ไม่มุทะลุ เพราะอาจเป็นอันตรายทั้งเธอและผู้โดยสาร

     “พวกคุกคามทางเพศมันแสดงออกเลย อย่างที่บอกว่าทำเป็นยืน ทำเป็นไปอยู่ข้างหลัง พอได้โอกาสก็จะลงมือ ผู้โดยสารบางคนเขาส่งสายตาให้เรา เราส่งสายตาให้เขา ฉันก็แกล้งเดินไปเก็บเงิน แกล้งเดินเฉี่ยวให้มันเซออกไป ให้มันรู้ตัวว่ามีคนรู้นะ”

     สมพรยังบอกอีกว่าผู้ช่วยที่สำคัญอีกคนหนึ่งก็คือประชาชนที่จะเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ส่วนคนขับนั้นสมาธิก็ต้องจดจ่ออยู่ที่พวงมาลัยและการจราจร จะไม่ได้มีบทบาทในการดูแลมาก แต่เนื่องจากเขาเป็นผู้ชาย ในบางกรณีก็มีบ้างที่จะต้องส่งเสียงเตือน

 

 

     อรุณ จิตต์สุข พนักงานขับรถร่วม ขสมก. คันที่สมพรทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเล่าเสริมว่า ขับรถมานาน นานจนแต่งงานกับกระเป๋า เรื่องคุกคามทางเพศก็ไม่เคยลด เป็นห่วงภรรยาเหมือนกัน แต่เขาทำมานานก็เก๋าเกม รู้ว่าจะรับมือแบบไหน “ลุงคิดว่าทุกคนต้องดูแลตัวเองด้วย แล้วก็ช่วยกันสอดส่อง จะให้คนขับมาช่วยก็ลำบาก ฝากทั้งหมดไว้ที่กระเป๋าก็ไม่ได้”

 

 

     ขณะที่ ยงค์ ฉิมพลี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือกระเป๋ารถโดยสาร ขสมก. ก็ยอมรับว่า ปัจจุบันการคุกคามทางเพศยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง จับของสงวน เบียดเพื่อสัมผัสอวัยวะ โดยพบมากที่สุดในชั่วโมงเร่งด่วน

     “เรื่องความปลอดภัยบนรถโดยสาร ขสมก. ขอให้ผู้โดยสารไว้วางใจ เพราะทางเรามีการฝึกเพื่อรับมือตรงนี้มาอย่างดี ตั้งแต่กล่าวตักเตือน ถ้ามีการยืนเบียดก็จะเข้าไปกันให้ แถมยังมีกล้องวงจรปิด ถึงจะยังไม่เพียงพอ เพราะจำนวนคนและงบประมาณไม่ได้มาก หากประชาชนที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทางช่วยกันสอดส่องดูแล ช่วยกันแจ้งเหตุ ก็จะช่วยได้มากขึ้นด้วย”

 

 

เปิดใจ ผู้หญิงถูกคุกคามบนรถไฟฟ้ารู้สึกดีเมื่อเพื่อนร่วมทางช่วย

     วรวรรณ ตินะลา ผู้เคยประสบเหตุการณ์ถูกคุกคามบนรถโดยสารสาธารณะเล่าว่าเคยถูกคุกคามบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงเวลา 6 โมงเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน เป็นช่วงเปลี่ยนขบวนรถบริเวณสถานีสยาม เมื่อเข้าไปในขบวนก็มีผู้หวังดีเข้ามาสะกิดว่ากระโปรงขาด พอเหลือบไปดูก็รู้สึกตกใจมาก เพราะเห็นกางเกงในด้วย มั่นใจว่าไม่ใช่การเกี่ยวธรรมดา แต่เป็นรอยกรีดที่เกิดจากมีด จากนั้นพลเมืองดีที่อยู่ในขบวนรถต่างช่วยกันนำเข็มกลัดมากลัดนับได้ 30 กว่าตัว

     “รู้สึกช็อกมากว่าเหตุการณ์แบบนี้มาเกิดขึ้นกับเรา เพราะตัวเองแต่งกายมิดชิด ไม่ได้แต่งตัวโป๊ ก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานี เขาบอกว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่มีกล้องวงจรปิด ตรงนี้ก็ยอมรับว่าโมโหและเซ็งที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นไม่คิดจะไปแจ้งความ เพราะรู้สึกเครียดและเซ็ง”

 

 

     หลังเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น วรวรรณบอกว่าเธอต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เดิมที่เลิกงานแล้วกลับบ้านคนเดียวก็จะหาเพื่อนกลับด้วย เปลี่ยนขบวนรถไม่ให้ซ้ำแต่ละวัน มีความรู้สึกหลอนไม่หาย เวลามีใครเดินตามก็ระแวง แถมเพื่อนๆ ก็เคยถูกคุกคามโดยพบกระโปรงเป็นคราบ คาดว่ามีคนช่วยตัวเองใกล้ๆ โดยไม่รู้ตัว

     วรวรรณฝากไปถึงเพื่อนผู้หญิงที่เดินทางว่าขอให้ใช้ความระมัดระวัง คนเราจิตใจไม่เหมือนกัน ต้องมีสติ อาจฝึกวิธีป้องกันตัวเองไว้เบื้องต้น ถ้าเกิดเหตุการณ์คับขันควรร้องให้คนช่วยหรือรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวเองไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมาก เพราะมีคนบนรถมาดูแลและช่วยเหลือ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีมาก

 

 

ผลสำรวจชี้ ‘ผู้หญิง’ เป็นเหยื่อคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะมากสุด

     ปี 2560 ‘เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง’ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรแอ็คชั่น เอด ประเทศไทย, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล และเครือข่ายสลัม 4 ภาค สนับสนุนให้มีการวิจัยความชุกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่นๆ โดยถามเกี่ยวกับ ประสบการณ์ทั้งที่ตนเองเคยถูกคุกคาม และการเห็นผู้โดยสารคนอื่นถูกคุกคาม

     ผลสำรวจพบว่า 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงมีอัตราการถูกคุกคามทางเพศสูงสุด 45% รองลงมาคือเพศทางเลือกและเพศชาย ตามลำดับ

     โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเหตุการณ์คุกคามทางเพศที่ผู้ตอบแบบสำรวจ ประสบ หรือ 52% เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นภายในรอบปี 2560 นี้เอง

     ขณะที่ลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่พบบนระบบขนส่งสาธารณะมีหลายรูปแบบ จำแนกได้เป็น 13  ลักษณะจากมากไปหาน้อยดังนี้

 

 

     ข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจที่ทำให้น่าตกใจและฉุกคิดอยู่ไม่น้อยก็คือ ผู้ตอบแบบสอบถาม 32.5% หรือ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่เคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับผู้โดยสารร่วมเส้นทางมีปฏิกิริยาที่จะนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี คิดเป็นความถี่ 12% ของการรับมือกับเหตุคุกคามทั้งหมด และมีผู้ตัดสินใจที่จะแจ้งพนักงานประจำยานพาหนะเพียง 28%

     สำหรับขนส่งสาธารณะใน 5 ลำดับแรกที่เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศตามลำดับมีดังนี้

 

 

     โดยมีข้อสังเกตว่าความถี่ของการพบเจอเหตุการณ์เหล่านี้บนขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ มักสอดคล้องกับปริมาณการใช้บริการขนส่งสาธารณะประเภทนั้นๆ พูดอย่างง่ายก็คือขนส่งสาธารณะใดที่มีผู้ใช้บริการมากก็มักมีเหตุคุกคามทางเพศสูงมากตามไปด้วย

 

 

     ข้อเสนอต่อรัฐในการจัดการกับปัญหานี้ที่ทางเครือข่ายอยากให้ดำเนินการก็คือ   

     1. ต้องสอดส่องดูแลความปลอดภัย หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในตัวยานพาหนะ ป้ายรถหรือท่าเรือ และสถานีรถโดยสาร จะช่วยให้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้มากขึ้น สามารถใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีผู้กระทำผิดหากมีการคุกคามทางเพศหรือมิจฉาชีพอื่นๆ และอาจช่วยให้พนักงานสามารถระงับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

     2. การแจ้งเหตุ หน่วยงานที่รับผิดชอบขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจัดให้มีการแจ้งเหตุที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และติดตามผลได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างสมควรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

     3. อบรมพนักงาน ให้สามารถสังเกตพฤติกรรมการคุกคามทางเพศต่างๆ และมีกระบวนการ ขั้นตอน และแบบแผนเพื่อยับยั้งและแจ้งเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

 

     อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีหน้าที่พึงระวัง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งเฉย และเข้าไปแทรกแซงการกระทำคุกคามทางเพศ ซึ่งจะช่วยยับยั้งความรุนแรงทางเพศที่กำลังเกิดตรงหน้า รวมทั้งเป็นการสร้างความรับรู้ต่อสังคมถึงพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อสังคมที่ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน

 

Photo: ธนกร วงษ์ปัญญา

FYI
  • องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง จัดกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ปี 2560 ภายใต้แคมเปญ ‘ถึงเวลาเผือก’ และการเปิดเผยผลการวิจัยสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2560 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องไม่ให้ประชาชนนิ่งเฉยเมื่อเห็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นต่อหน้า เชิญชวนพลังเงียบให้ลุกขึ้นมาแสดงพลังเผือกเพื่อปกป้องผู้หญิงที่ถูกคุกคาม   
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising