ในห้วงเวลาที่ผ่านมาของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายๆ คนได้รับผลกระทบและประสบปัญหาต่างๆ มากมาย สูญเสียงานและรายได้ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว เมื่อไม่สามารถทำการเกษตรได้ รวมถึงเมื่อไม่มีงานและรายได้พ่วงด้วยแล้ว จึงทำให้พวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
พรพล เอกอรรถพร – ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีภารกิจในการสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่ง พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าภายใต้ชื่อโครงการ ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ แก่ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ใช้ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นวัตถุดิบ และนำมาออกแบบตัดเย็บโดยฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมที่มีครูช่างฯ และทายาทฯ เป็นผู้สร้างสรรค์
ประเดิมที่แรกที่ชุมชนหัตถกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้านใน 2 อำเภอคือ อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โดยในชุมชนนั้นมีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ รวมถึงเด็กๆ และเยาวชน ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้
ประกอบกับในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัย จึงถือเป็นโอกาสที่เอื้อให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างมาทำงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน
อนัญญา เค้าโนนกอก – ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554
อนัญญา เค้าโนนกอก – ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่าตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากจากเรื่องภัยแล้งที่ไม่มีน้ำมาเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ บวกกับช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ไม่มีงานและไม่มีเงิน เมื่อ SACICT เข้ามาส่งเสริมให้ทำหน้ากาก จึงเป็นโอกาสดีที่คนในชุมชนท้องถิ่นจะได้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวในยามวิกฤตนี้
อนัญญาชูจุดเด่นของ ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ ของชุมชนหัตกรรมหนองบัวแดงนี้ว่าเป็นผ้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสวยงาม โดดเด่น และมีสีสันลวดลายเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว มาออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือ และย้อมสีธรรมชาติจากประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ
ผลิตด้วยมือและด้วยใจมาเป็นหน้ากากคละแบบ คละลาย หลากสีสัน ผ่านการซักทำความสะอาดอย่างดี ตัวหน้ากากมีสองชั้น และมีช่องสำหรับใส่ฟิลเตอร์เพิ่มได้ และด้วยเพราะเป็นเส้นใยจากธรรมชาติ จึงสวมใส่สบาย ให้สัมผัสที่ดี และมั่นใจได้ว่าจะไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างแน่นอน
ขณะนี้มีชาวบ้านร่วมโครงการแล้วกว่า 200 รายในกว่า 85 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตกันอย่างสอดคล้องในหลักการ Social Distancing ด้วยลักษณะต่างคนต่างทำงานที่บ้านของตนเอง รวมกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ชิ้นต่อเดือน
SACICT ได้เร่งขยายโครงการ ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ ไปยังชุมชนหัตถกรรมรวม 38 ชุมชนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 5 แสนชิ้น ที่น่ายินดีก็คือมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการ โดยหากภาคเอกชนอื่นๆ สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรม CSR ทาง SACICT ก็พร้อมช่วยประสานงานและสนับสนุนอย่างเต็มที่
เมื่อเห็นรอยยิ้มของชาวบ้านและผู้คนในชุมชนกลับมา พวกเราก็พลอยชุบชูใจตามไปด้วย SACICT จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมสนับสนุน ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ ผลิตจากผ้าศิลปาชีพ ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและโควิด-19 ได้มีรอยยิ้มและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เด็กๆ มีอนาคตที่สดใส คนชราได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ คนพิการได้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ต่อลมหายใจให้กับพวกเขาด้วยการกระจายรายได้และส่งต่อความสุขใจที่ได้ทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างเต็มปรี่
สามารถสั่งซื้อ ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ ได้ที่
- ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โทร. 09 2325 4655
- สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชัน SACICT Shop ทั้งระบบ iOS และ Android
- หรือสอบถามข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ 1289 และ www.sacict.or.th
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์