×

Ryuichi Sakamoto: Coda ความไพเราะของเปียโนผุพัง และความสวยงามของชีวิตในวันที่ความตายคืบคลานเข้ามา

01.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • Ryuichi Sakamoto: Coda คือสารคดีว่าด้วยชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักประพันธ์เพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่น หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งลำคอระดับที่ 3 ในปี 2014
  • Coda เป็นเครื่องหมายทางดนตรีในเพลงที่มีการบรรเลงซ้ำในบางท่อน ว่าให้กระโดดข้ามการเล่นซ้ำนั้นไป เพื่อเข้าสู่ช่วงโน้ตสุดท้ายของการบรรเลงเพลงได้ทันที
  • เขาหยุดรับงาน 1 ปีเต็มเพื่อรักษาร่างกาย ก่อนจะกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อผู้กำกับอย่างอินาร์ริตูบอกว่าต้องการให้เขาเป็นคนประพันธ์ดนตรีในหนังเรื่อง The Revenant
  • ริวอิจิ ซากาโมโตะ คิดว่าชีวิตตัวเองที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้นไม่ต่างอะไรจากเปียโนผุผังที่รอดมาจากคลื่นสึนามิ

จะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าความตายกำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ

 

หนึ่งในคำถามที่มักจะถูกตั้งขึ้นมาบ่อยครั้ง ทั้งในบทสนทนาระดับจริงจังเพื่อหาคำตอบทางปรัชญาให้กับชีวิต หรือแม้กระทั่งในวงสุราที่หลายคนมักเปรยขึ้นมาด้วยความคึกคะนอง

 

แต่ใครเล่าจะรู้คำตอบนั้นถ่องแท้ หากไม่เคยจ้องตากับมัจจุราชด้วยตัวเอง อย่างที่ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักประพันธ์ดนตรีชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผู้สร้างสรรค์เสียงดนตรีในหนังเรื่อง Merry Christmas Mr. Lawrence (1983) และคว้ารางวัลออสการ์จาก The Last Emperor (1987) เคยเผชิญเมื่อปี 2014

 

เพลงประกอบหนัง Merry Christmas Mr. Lawrence

 

Ryuichi Sakamoto: Coda คือหนังสารคดีที่ไม่ได้ให้คำตอบชัดเจนว่าท้ายที่สุดเราควรรับมือกับความตายอย่างไร แต่พาเราไปสังเกตชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ โดยโฟกัสไปที่ช่วงเวลา 3 ปีหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งลำคอระยะที่ 3 โดยมีเสียงแตกพร่าจากเปียโนที่ถูกคลื่นสึนามิซัดจนผุผัง แต่กลับไพเราะเหลือเกินในหัวใจของเขา นั่นเป็นเสมือนคำใบ้ให้คนดูค่อยๆ ตีความหาคำตอบนั้นด้วยตัวเองอย่างช้าๆ

 

จากข้อมูลที่เราได้รับก่อนดูหนังเรื่องนี้ Coda เป็นเครื่องหมายทางดนตรีในเพลงที่มีการบรรเลงซ้ำในบางท่อน ว่าให้กระโดดข้ามการเล่นซ้ำนั้นไปเพื่อเข้าสู่ช่วงโน้ตสุดท้ายของการบรรเลงเพลงได้ทันที

 

ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการนำเสนอคือ การ ‘กระโดด’ ไปยังบั้นปลายชีวิตของริวอิจิ ซากาโมโตะ หลังจากที่เขาเคี่ยวกรำตัวเองด้วยดนตรีซ้ำไปซ้ำมาอย่างหนักมาตลอดระยะ 40 กว่าปี ทั้งในฐานะสมาชิกวง Yellow Magic Orchestra, ศิลปินเดี่ยว, คอมโพสเซอร์, คนทำดนตรีประกอบหนัง ฯลฯ เขาควรจะหยุดทุกอย่าง เพราะสัญญาณบางอย่างได้เตือนว่าเวลาของเขาอาจเหลือน้อยเต็มที

 

 

ในช่วงหนึ่งปีแรก เขาหยุดรับงานทั้งหมด ควบคุมเรื่องอาหารและยา ดูแลรักษาตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ทันทีที่ อเลฮานโดร อินาร์ริตู ผู้กำกับที่เขาอยากร่วมงานด้วย ติดต่อมาว่าอยากให้เขาทำหนังดนตรีประกอบหนังเรื่อง The Revenant เขาตอบรับข้อเสนอนั้น และกลับเข้าสู่ช่วงการทำงานหนักอีกครั้ง เราเชื่อว่าเสียงของผู้กำกับอย่างอินาร์ริตูคือส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือเขาไม่อาจปฏิเสธต่อเสียงเรียกจาก ‘การทำงาน’ และ ‘ดนตรี’

 

ในขณะที่หลายคนอาจเลือกดูแลรักษาตัวเองให้ดีที่สุดแล้วค่อยกลับมาทำงานอีกครั้งก็ยังไม่สาย แน่นอนความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง ที่ริวอิจิ ซากาโมโตะเคยได้รับนั้นเพียงพอที่จะทำให้เขาทำแบบนั้นได้อย่างสบาย แต่เขาเลือกที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง เพราะการสร้างสรรค์เสียงดนตรีคือเครื่องการันตีถึง ‘ชีวิต’ ของเขาได้ดีกว่าระยะเวลาสุดท้ายในชีวิตที่ไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร

 

เพราะฉะนั้นเครื่องหมาย Coda ที่กำกับตัวโน้ตแห่งชีวิตของเขาไม่ได้ทำหน้าที่แค่พาเขาข้ามไปยังช่วงท่อนสุดท้ายของชีวิต แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างการเริ่มต้น และสิ้นสุด ทันทีที่บทเพลงช่วงหนึ่งแห่งชีวิตบรรเลงจบ เขาก็เริ่มต้นบรรเลงเพลงบทใหม่อีกครั้ง พร้อมกับความหมายของชีวิตที่คนดูอย่างเรารู้สึกได้ว่าสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม

 

เขากลับมาเล่นเปียโนทุกวันแบบที่เคยทำอีกครั้ง ถึงแม้นั่นอาจส่งผลเสียกับร่างกายในภายหลัง แต่เขากลับรู้สึกว่าความเจ็บป่วยทางกายที่ได้รับไม่อาจเทียบได้กับความเจ็บปวดข้างในจิตใจ หากจะต้องหยุดทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เขากลับมาสร้างสรรค์ผลงานให้กับโลกนี้ต่อไป ด้วยความหวังว่าจะสร้างสรรค์บทเพลงที่ทำให้เขาไม่ต้องอายใครออกมา

 

กระทั่ง Async สตูดิโออัลบั้มที่ 21 ของเขาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2017 ไม่รู้ว่าในความคิดของเขา เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ต้องอายใครออกมาได้หรือยัง แต่ในฐานะคนดูหนังและคนฟังเพลงอย่างเรา รู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับเสียงดนตรีที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความตั้งใจต่อไป

 

 

ณ เวลานั้น ความสงสัยอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปิดเรื่องด้วยเปียโนที่ผุพัง สายเปื่อยยุ่ยจากคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ต้องเป็นคนความรู้ทฤษฎีทางดนตรีจากไหน ก็พอจะบอกได้ว่านี่คือเปียโนที่อยู่ห่างไกลจากความ ‘สมบูรณ์แบบ’ มากที่สุด แต่ริวอิจิ ซากาโมโตะกลับรู้สึกว่าภายใต้เสียงแตกพร่านั้นมีความไพเราะในระดับที่เปียโนหลังใหม่สภาพสมบูรณ์แบบมอบให้ไม่ได้ซุกซ่อนอยู่ ก็ได้รับการคลายปมออกทันที

 

เพราะคนที่ไม่เคย ‘ผุพัง’ มาก่อน ย่อมไม่อาจมองเห็นและเข้าใจความสวยงามในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดไปได้ แต่ ริวอิจิ ซากาโมโตะ เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะตัวเขาที่ถูกเนื้อร้ายกัดกิน ก็ไม่ต่างอะไรจากเปียโนที่ถูกคลื่นยักษ์ซัด แต่ก็ยังรอดชีวิตมาได้ แม้จะไม่ใช่สภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและความหมายในตัวของตัวเอง

 

หากเสียงแตกพร่าของเปียโนที่รอดชีวิตจากสึนามิหลังนั้นคือเสียงที่ ‘ไพเราะ’ ที่สุด ชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ ที่เลือกจะกลับมาสร้างสรรค์บทเพลง และพรมนิ้วลงบนเปียโนซ้ำไปซ้ำมาทุกวันอีกครั้ง ก็คือช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ ‘สวยงาม’ ที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีเช่นกัน  

 

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Ryuichi Sakamoto: Coda

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เครือ SF Cinema แบบจำกัดสาขา และจะเริ่มฉายที่โรงภาพยนตร์ House RCA ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม เช็กรอบและสาขาที่ฉายได้ที่ www.facebook.com/DocumentaryClubTH/
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X