×

ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักประพันธ์เพลงอัจฉริยะ คว้ารางวัลผู้สร้างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย

26.08.2018
  • LOADING...

หลังจากทุ่มเททำงานสร้าง ‘เสียงดนตรี’ ให้กับวงการเพลงและวงการภาพยนตร์มาเป็นเวลา 40 ปี (นับตั้งแต่ปี 1978 ในฐานะสมาชิกวง Yellow Magic Orchestra) พร้อมกับรางวัลระดับโลกมากมายที่ยอมรับในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งของหนึ่งในอัจฉริยะด้านเสียงดนตรีวัย 66 ปีอย่าง ริวอิจิ ซากาโมโตะ

 

ล่าสุดเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียอย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ก็ได้ยกให้เขาเป็น ‘ผู้สร้างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียประจำปี’ (Asian Filmmaker of the Year) โดยรางวัลนี้จะมอบให้กับคนเอเชียในวงการภาพยนตร์ทุกสาขาที่อุทิศตัวทำงานหนักและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ให้พัฒนาต่อไป

 

เช่นเดียวกับ หลิวเต๋อหัว นักแสดงชาวฮ่องกง, สวีอันหัว ผู้กำกับชาวฮ่องกง, สตูดิโอจิบลิ ผู้สร้างแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น, ฤทธิ ปานห์ นักทำหนังเลือดใหม่ชาวกัมพูชา และผู้กำกับชั้นครูชาวอิหร่านอย่าง อับบาส เคียรอสตามี โดยซากาโมโตะจะขึ้นรับรางวัลพร้อมการแสดงสดบนเวทีที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานในช่วงเดือนตุลาคม 2018

 

ซากาโมโตะถือว่าเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีที่มีความสามารถในทุกประเภทของดนตรีทั้งอิเล็กทรอนิกส์, ร็อก, คลาสสิก, โอเปรา ฯลฯ เขาเริ่มสร้างชื่อในวงการภาพยนตร์จากเพลงประกอบในเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) ที่ทำให้เพลง Forbidden Colours กลายเป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิกของโลกภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ต่อด้วยภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor (1987) ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ รวมทั้งดนตรีประกอบในเรื่อง Black Rain (1989), The Sheltering Sky (1990), Little Buddha (1993), High Heels (1991) ก็ล้วนมาจากฝีมือของเขาเช่นกัน

 

เขายังคงทำงานหนักเพื่อสร้างสรรค์ดนตรีในภาพยนตร์ต่างๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2014 ที่ซากาโมโตะต้องหยุดพักงานเพื่อรักษาโรคมะเร็งในช่องคอ แต่แม้กระทั่งเนื้อร้ายก็ไม่อาจหยุดยั้งเขาได้ เพราะในปีต่อมาเขาก็หายดีและกลับมาอีกครั้งกับดนตรีประกอบใน The Revenant (2015) และ Call Me by Your Name (2017)

และข่าวดีสำหรับแฟนๆ ชาวไทยของซากาโมโตะที่มีโอกาสได้รับชมชีวิตของอัจฉริยะที่เคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก ความละเอียดในการฟังเพลงที่ถึงขนาดไปจัดเพลย์ลิสต์ให้ร้านอาหารที่เขาชอบ ช่วงเวลาในการต่อสู้กับโรคร้าย รวมทั้งมุมมองด้านนักเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่น้อยคนเคยรู้จากสารคดีเรื่อง Ryuichi Sakamoto: Coda ที่ Documentary Club กำลังจะนำเข้ามาฉายในประเทศไทยช่วงปลายปีนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising