นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ฝากรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ คือหนึ่งในบทบาทที่ท้าทายความสามารถมากที่สุดในชีวิตการเป็นนักแสดงที่ไรอัน กอสลิง ต้องเผชิญ
นอกจากดวงตาเศร้า ด้วยประกายสีฟ้า หน้าตาหล่อเหลาเป็นเอกลักษณ์ และฝีมือการแสดงระดับคุณภาพ อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ไรอัน กอสลิง ก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงแถวหน้าของวงการภาพยนตร์คือ ‘ความทุ่ม’ สุดชีวิต ยอมทำทุกอย่างเพื่อเข้าถึงบทบาทที่ได้รับให้สมจริงที่สุด
นับตั้งแต่เขาเริ่มเข้าวงการตั้งแต่อายุ 12 ปี ในฐานะพิธีกรรายการ The Mickey Mouse Club มาจนถึง First Man เขามีผลงานพิสูจน์ความสามารถมาแล้วมากกว่า 40 เรื่อง THE STANDARD POP จะพาไปรู้จักกับ 7 บทบาทของไรอัน กอสลิง ที่แสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 26 ปีในวงการภาพยนตร์ ไม่เคยมีสักครั้งที่ผู้ชายนัยน์ตาเศร้าคนนี้จะหยุดพัฒนาตัวเอง
1. The Mickey Mouse Club (1992)
ไรอัน กอสลิ่ง และจัสติน ทิมเบอร์เลค
ไรอัน กอสลิง คือเด็กหนุ่มที่รู้ว่าตัวเองอยากสร้างความสุขให้กับคนอื่นในฐานะนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ตั้งแต่อายุ 12 ปี จากการเป็นพิธีกรรายการ The Mickey Mouse Club รุ่นเดียวกับบริตนีย์ สเปียร์ส, คริสตินา อากีเลราและจัสติน ทิมเบอร์เลก และความทุ่มเทอย่างแรกก็เกิดขึ้น เมื่อแม่ของเขาต้องเดินทางกลับไปที่แคนาดา และเขาตัดสินใจอยู่ต่อเพียงคนเดียว โดยต้องไปอาศัยอยู่กับจัสติน ทิมเบอร์เลก จนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันในช่วงนั้น
กระทั่งอายุ 18 ปี ชีวิตเขาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อได้รับเลือกให้รับบทนำในซีรีส์เรื่อง Young Hercules และเขาก็ตัดสินใจย้ายไปใช้ชีวิตที่นิวซีแลนด์เพื่อถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้โดยเฉพาะ และความทุ่มเทของเขาก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้เขาเริ่มมีงานในวงการภาพยนตร์อย่าง The Believer (2001), Murder by Numbers (2002) และ The United States of Leland (2003) ตามมา
2. The Notebook (2004)
บทโนอาห์ ช่างไม้ผู้ยอมทำทุกอย่างเพื่อคนรักใน The Notebook ที่ไรอัน กอสลิง ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว แต่กว่าจะแสดงบทบาทออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองชาร์ลสตัน เซาท์แคลิฟอร์เนีย สถานที่ถ่ายทำของเรื่องเป็นเวลา 2 เดือนก่อนเริ่มถ่ายทำ เพื่อให้ตัวเองคุ้นชินกับบรรยากาศมากที่สุด รวมทั้งการฝึกทำงานช่างไม้อย่างจริงจังในทุกๆ เช้า และถ้ายังจำกันได้ โต๊ะกินข้าวที่อยู่ในห้องครัว ก็เป็นผลงานที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือ
ในช่วงที่ทีมงานคนอื่นๆ ใช้เวลาหยุดพักกองถ่ายในช่วงวันคริสต์มาสไปกับการพักผ่อน แต่ไรอันต้องใช้เวลานั้นไปกับการลดน้ำหนักตัวลงเกือบ 20 กิโลกรัม เพื่อเตรียมตัวถ่ายทำช่วงเวลาที่โนอาห์ยังเป็นวัยรุ่น
หลังจากนั้นไรอันก็จริงจังกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกหลายครั้ง แต่ที่น่าจดจำที่สุดคือในปี 2007 ที่ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับเรื่อง The Lovely Bones ทาบทามให้เขามารับบทเป็นคุณพ่อของเด็กสาวที่ถูกฆาตกรรม แต่ไรอันเข้าใจว่าเขาต้องมารับบทเป็นตัวฆาตกร เขาเลยกลับไปตีความตัวละครใหม่ ไว้หนวดเครา กินไอศกรีมอย่างหนักเพิ่มน้ำหนักมาเกือบ 30 กิโลกรัม ปรากฏว่าพอมาเจอกันอีกครั้ง 1 เดือนก่อนถ่ายทำ ภาพลักษณ์ที่เห็นผิดจากที่ผู้กำกับคิดไว้อย่างสิ้นเชิง สุดท้ายไรอันก็ไม่ได้รับงานนั้น โดยมี มาร์ก วอห์ลเบิร์ก เข้ามารับบทนี้แทน
3. Blue Valentine (2010)
หนังความสัมพันธ์สุดหม่น ที่ตอกย้ำภาพ ‘ผู้ชายอมทุกข์’ ของไรอัน กอสลิง ให้ชัดขึ้นไปอีก
ก่อนถ่ายทำช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของดีนและซินดี้เริ่มจืดจางและมีปัญหา ไรอันและมิเชลล์ วิลเลียมส์ ต้องไปใช้ชีวิตด้วยกันในบ้านเช่าเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อจำลองภาพที่สามีภรรยาต้องเจอให้สมจริงที่สุด ทั้งการต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเข้ามาเองในงบประมาณจำกัด ตามอาชีพช่างทาสี (ระหว่างนั้นไรอันก็ฝึกทาสีจริงๆ ไปด้วยเหมือนเล่น The Notebook) และอาชีพพยาบาลของทั้งคู่ การทำอาหาร ปัญหาการแชร์ห้องน้ำของผู้ชายและผู้หญิง และอีกสารพันปัญหาที่ทั้งคู่ต้องเผชิญ จนผลที่ได้ทำให้ Blue Valentine กลายเป็นหนังรักที่แสดงภาพช่วงเวลาจืดจางของความสัมพันธ์ได้ ‘จริง’ จนหลายคนกลัว
และความจริงนั้นก็ส่งไปถึงตัวของไรอัน กอสลิง ที่ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อเช็กสภาพจิตใจ และได้รับคำแนะนำว่า เขาควรไปเล่นหนังแนวคอเมดี้เสียบ้าง!
4. Drive (2011)
บทบาท ‘ไดรเวอร์’ ที่ปรากฏตัวพร้อมกับแจ็กเก็ตหนังแมงป่องที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของไรอัน กอสลิง ในเวลาต่อมา แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นนิโคลัส ไวดิง เรฟิน เป็นเพียงผู้กำกับโนแนมที่มาฮอลลีวูดเพื่อหาทุนไปทำหนังของตัวเอง กระทั่งไรอัน กอสลิง รู้ข่าวและติดต่อให้มาพัฒนาโปรเจกต์นี้ร่วมกัน จนสุดท้ายทั้งคู่กลายเป็นผู้กำกับและนักแสดงคู่ขวัญที่มีผลงานอีกหลายเรื่องตามมา
เช่นเคยกับความจริงจังเพื่อเข้าถึงตัวละครในระดับ ‘เนิร์ด’ ของไรอัน กอสลิง หลังจากสร้างโต๊ะ หรือทาสีก็ทำมาหมดแล้ว พอมารับบทเป็นคนขับรถสุดระห่ำ เขาก็อัปเกรดตัวเองด้วยการประกอบรถ Chevy Malibu (รถสีเทาคันเก่าที่เห็นในหนัง) ขึ้นมาด้วยตัวเองเสียเลย
5. Only God Forgives (2013)
ในเรื่องนี้เขาต้องรับบทเป็นจูเลียน อดีตมาเฟียที่หนีมาเปิดค่ายมวยในกรุงเทพฯ และเพื่อความสมจริงที่ต้องเข้าฉากต่อสู้ด้วยแม่ไม้มวยไทยจริงๆ เขาก็บินมาอยู่ที่เมืองไทยก่อนถ่ายทำอยู่พักใหญ่ โดยใช้เวลาอาทิตย์ละ 4 วัน วันละ 2-3 ชั่วโมง เพื่อฝึกศิลปะการต่อสู้กับค่ายมวยไทยจริงๆ
และถ้าแค่นั้นยังฟังดูธรรมดาเกินไป ไรอัน กอสลิง ก็จัดให้ ด้วยการไม่ใช่แค่ซ้อมมวยไทย แต่ยังเข้าคอร์สลดน้ำหนักและสร้างกล้ามเนื้อตามแบบฉบับของ ‘นักมวยไทย’ จริงๆ อีกด้วย
6. La La Land (2016)
ความจริงจังอย่าแรกคือ ไรอัน กอสลิง ปฏิเสธบทเจ้าชายอสูรใน Beauty and the Beast เพื่อมารับบทเป็นเซบาสเตียน นักเปียโนช่างฝันในเรื่องนี้แทน เขาตัดสินใจเลือกเล่นบทที่ตัวเองใฝ่ฝันมานาน มากกว่าบทที่เป็นว่าที่หนัง Box Office เรื่องต่อไปได้อย่างไม่ลังเล
โจทย์แรกที่ เดเมียน ชาเซล ผู้กำกับให้กับไรอัน กอสลิง คือเขาต้องฝึกเล่นเปียโนให้ได้ ด้วยความที่ดนตรีเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขารักอยู่แล้ว และนี่นับเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะได้นั่งพรมนิ้วลงบนเปียโน โดยไม่ต้องทำอะไร นอกจากการฝึกให้เก่งขึ้นเท่านั้น
ตัวเดเมียน ชาเซล ก็คงนึกไม่ถึง ว่าการบ้านง่ายๆ ที่ให้ไป จะทำให้หนุ่มเนิร์ดอย่างไรอัน ไปใช้เวลา 6 วันในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อซ้อมเปียโนวันละ 3-4 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน จนเมื่อถึงเวลาถ่ายทำ เขาสามารถถ่ายฉากเล่นเปียโนได้อย่างสมจริง โดยที่ไม่ต้องใช้ตัวแสดงแทนแม้แต่ฉากเดียว
7. First Man (2018)
การรับบทเป็น นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ได้ลงไปฝากรอยเท้าบนดวงจันทร์ คือความท้าทายล่าสุดที่ไรอัน กอสลิง ต้องข้ามผ่านไปให้ได้
เมื่อมาถึงจุดนี้ ไม่มีใครที่ยังสงสัยในฝีมือการแสดงของผู้ชายนัยน์ตาเศร้าคนนี้อีกต่อไป แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเขาคือ การจะกลายเป็นตัวละครนี้ได้อย่างไร ในเมื่อนีล อาร์มสตรอง ได้จากโลกนี้ไปแล้ว
สิ่งที่เขาก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เขาเอาความพยายามเข้าแลกเพื่อเข้าถึงบทบาทให้ได้มากที่สุด เขาศึกษาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับอาร์มสตรอง ทั้งการอ่านชีวประวัติจากหนังสือ First Man อย่างละเอียด และพูดคุยกับเจมส์ อาร์. แฮนเซน ผู้เขียนที่เคยสัมภาษณ์อาร์มสตรองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งภรรยา ลูกชาย เพื่อน และครูฝึกการบินของอาร์มสตรอง ไรอันก็เข้าไปขอทำการฝึกแบบเดียวกับที่อาร์มสตรองเคยผ่านมาด้วย
รวมทั้งสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ฟาร์มในวาปาโคเนตา รัฐโอไฮโอ บ้านเกิดของนีล, มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์ Armstrong Air & Space Museum, ศูนย์ปฏิบัติการของนาซาทั้งที่แหลมคานาเวอรัลและฮูสตัน และทุกๆ ที่ที่เกี่ยวข้องกับอาร์มสตรอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไรอันพร้อมที่จะไปทั้งหมด
สุดท้ายเขาก็ค้นพบข้อมูลสำคัญอย่างเพลงที่อาร์มสตรองใช้เปิดระหว่างปฏิบัติภารกิจบนยานอพอลโล 11 และค้นพบเพลงที่อาร์มสตรองเคยเขียนไว้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
เขาได้ใช้เวลาอยู่กับ จูน น้องสาวของนีล ที่ฟาร์มของพวกเขาในวาปาโคเนตา, โอไฮโอ ซึ่งเป็นที่ที่นีลเกิด และพิพิธภัณฑ์ Armstrong Air & Space Museum และศูนย์ปฏิบัติการของนาซา ทั้งที่แหลมคานาเวอรัลและฮูสตัน, คำแถลงการณ์ถึงอาร์มสตรองก่อนขึ้นไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทีมงานไม่เคยรู้มาก่อน และได้ถูกนำมาใช้ประกอบใน First Man ด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: