×

แด่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี สู่บัลลังก์ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ ที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม

20.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก หรือ RBG เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่ชาวอเมริกันในฐานะไอคอนของฝ่ายเสรีนิยม เธอเพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา
  • ตัวอย่างคดีที่ RBG ต่อสู้ในศาลสูงสุดจนชนะก็อย่างเช่น คดี Reed v. Reed ในปี 1971 ที่เธอต่อสู้ว่ากฎหมายของมลรัฐไอดาโฮ ที่ให้สิทธิ์ผู้ชายก่อนผู้หญิงในการเป็นผู้จัดการมรดก ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยหลัก Equal Protection Clause ซึ่งชัยชนะในการว่าความของ RBG ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการตีความโดยศาลสูงสุดเป็นครั้งแรกว่าหลัก Equal Protection Clause สามารถเอามาใช้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศได้
  • แนวทางต่อสู้ของเธอนั้นเป็นแบบการต่อสู้ทีละก้าวเล็กๆ เธอไม่หวังชัยชนะในคดีใหญ่ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอออกมาในรูปแบบของฝ่ายซ้ายที่ไม่ก้าวร้าวและไม่สุดโต่ง จนอยู่ในระดับที่ ‘รับได้’ ของนักการเมืองฝ่ายขวา
  • คดีที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสไตล์การทำงานและการเขียนคำพิพากษาของเธอคือคดีของเด็กหญิงอายุ 13 ปีที่ชื่อ ซาวานา เรดดิง ที่ตัดสินกันในปี 2009 ซึ่งนับแต่นั้นด้วยความกล้าแหวกขนบ กล้าพูด กล้าวิพากษ์ผู้พิพากษาด้วยกันเองของ RBG ทำให้เธอกลายเป็นฮีโร่ของฝ่ายเสรีนิยม เกิด Meme เกี่ยวกับเธอ มีหนังสือ/ภาพยนตร์เกี่ยวกับเธอออกมา

รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg หรือ RBG) เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด (Supreme Court) ของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่ชาวอเมริกันในฐานะไอคอนของฝ่ายเสรีนิยม เธอเพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา วันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนกลับไปรำลึกถึงชีวิต ผลงาน และการต่อสู้ของเธอคนนี้



หญิงสาวจากบรูกลิน
RBG ถือกำเนิดขึ้นในเขตบรูกลินของมหานครนิวยอร์ก ครอบครัวของเธอเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากยูเครนและออสเตรีย RBG สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้พบรักกับสามีของเธอ (มาร์ติน กินส์เบิร์ก) และเธอกับเขาก็ได้แต่งงานกันหลังจากที่ทั้งคู่เรียนจบ

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี RBG ได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยที่เธอเป็นผู้หญิง 1 ใน 9 คนที่ได้รับเข้าคัดเลือกให้เข้าศึกษาในปีนั้น จากบรรดานักศึกษาทั้งหลักสูตรกว่า 500 คน (ด้วยเหตุที่สังคมอเมริกาสมัยนั้นยังมีค่านิยมว่าการศึกษาในระดับสูงควรจะต้องสงวนไว้ให้ผู้ชาย) แต่ในเวลาต่อมา เธอก็ได้ทำเรื่องย้ายมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียแทน เพราะสามีของเธอได้งานทำในมหานครนิวยอร์ก เธอสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1959 โดยที่เธอสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ในรุ่น

แต่หลังจากที่เธอสำเร็จการศึกษา เธอกลับมีปัญหาว่าหางานทำไม่ได้ เพราะสังคมสมัยนั้นยังมีอคติกับผู้หญิง ยังตั้งแง่ว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานของผู้ชายอย่างการเป็นนักกฎหมายได้ เธอถูกปฏิเสธงานหลายต่อหลายที่ จนสุดท้ายเธอมาได้งานเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาของศาลเขตนิวยอร์กใต้ ด้วยความช่วยเหลือของอดีตอาจารย์ของเธอที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ช่วยไปขอร้องแกมบังคับหัวหน้าผู้พิพากษาว่า หากไม่รับ RBG เข้าทำงาน เขาจะไม่ส่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียมาทำงานที่นี่อีก

RBG ทำงานอยู่ที่ศาลเขตนิวยอร์กใต้อยู่ 2 ปี ก่อนที่จะลาออกมารับตำแหน่งนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ต่อด้วยตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส และในที่สุดเธอก็ได้กลับไปเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1972 ก่อนที่เธอจะได้รับคัดเลือกโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ให้เป็นผู้พิพากษาของศาลอุทธรณ์เขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 1980

 



สู้ทีละก้าว
RBG เริ่มต่อสู้ทางการกฎหมายเพื่อสิทธิสตรีตั้งแต่ในช่วงยุค 60 ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส โดยที่เธอใช้เวลาส่วนตัวนอกเหนือจากงานมาเป็นอาสาสมัครขององค์กรที่มีชื่อว่า American Civil Liberties Union หรือ ACLU ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะเพื่อคนผิวสีและสตรี เธอพยายามต่อสู้เพื่อให้ศาลยอมรับสิทธิสตรีผ่านการต่อสู้กับคดีเล็กๆ เพราะเธอมีแนวคิดว่าก่อนที่เธอจะสามารถโน้มน้าวให้ศาลสูงสุดตัดสินเข้าข้างฝ่ายเฟมินิสต์ในเคสใหญ่ๆ ได้ ศาลจำเป็นจะต้องเคยตัดสินคดีเล็กๆ เข้าข้างฝ่ายซ้ายมาเป็นบรรทัดฐานก่อน (Precedent) ซึ่งเป็นกลยุทธ์แบบเดียวกับที่นักกฎหมายอย่าง เทอร์กู๊ด มาร์แชล เคยใช้ในการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี จนกระทั่งพวกเขาชนะในคดีประวัติศาสตร์อย่าง Brown v. Board of Education ที่นำไปสู่การยกเลิกการแยกโรงเรียนของคนผิวสีและผิวขาว (Segregation) ทั่วประเทศ

ตัวอย่างคดีที่ RBG และ ACLU ต่อสู้ในศาลสูงสุดจนชนะก็อย่างเช่นคดี Reed v. Reed ในปี 1971 ที่เธอต่อสู้ว่ากฎหมายของมลรัฐไอดาโฮ ที่ให้สิทธิผู้ชายก่อนผู้หญิงในการเป็นผู้จัดการมรดกขัดกับรัฐธรรมนูญข้อแก้ไขที่ 14 ที่ว่าด้วยหลัก Equal Protection Clause ซึ่งชัยชนะในการว่าความของ RBG ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการตีความโดยศาลสูงสุดเป็นครั้งแรกว่าหลัก Equal Protection Clause สามารถเอามาใช้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศได้

อีกตัวอย่างคือคดี Frontiero v. Richardson ในปี 1973 ที่นักบินหญิงของกองทัพไม่สามารถขอรับสวัสดิการให้กับสามีตัวเองได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าสวัสดิการต้องเกิดจากการที่สามีขอให้ภรรยาเท่านั้น คดีนี้ RBG ก็ว่าความจนชนะ และกองทัพต้องยกเลิกกฎนี้ไป กลายเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ



สู่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด
ในช่วงกลางปี 1993 หลังจากที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ชนะการเลือกตั้งมาได้ไม่ถึง 1 ปี เขาก็ได้สิทธิ์ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาของศาลสูงสุดคนใหม่ เพราะผู้พิพากษาคนเก่าคนหนึ่งที่ชื่อว่า ไบรอน ไวต์ ขอเกษียณอายุตัวเอง คลินตันตั้งเกณฑ์ไว้ในใจ 2 ข้อสำหรับการเลือกผู้พิพากษาของเขาคือ 1. เขาอยากได้ผู้พิพาษาที่มีแนวคิดแบบกลางซ้าย เพราะเขาให้สัญญาประชาคมในการหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งปี 1992 ไว้ว่ารัฐบาลของคลินตันจะเป็นรัฐบาลแบบกลางซ้าย ไม่ซ้ายสุดโต่งเหมือนรัฐบาลของเดโมแครตในยุคก่อนๆ อย่างรูสเวลต์หรือจอห์นสัน และ 2. คลินตันอยากมอบตำแหน่งนี้ให้กับผู้หญิง เพราะเขาต้องการจะตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ว่าพรรคเดโมแครตของเขาเป็นพรรคที่ให้ความความสำคัญกับสิทธิสตรี ซึ่งก่อนหน้าที่ RBG จะได้รับการเสนอชื่อนั้น เพิ่งมีผู้หญิงคนเดียวที่เคยได้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ (เธอคนนั้นคือ แซนดรา เดย์ โอคอนเนอร์)

RBG ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เข้ากับเกณฑ์ของคลินตันทั้งสองข้อ คือเธอเป็นผู้หญิงและมีประวัติในการตัดสินคดีแบบซ้ายไม่สุดโต่ง อันที่จริง RBG มีแนวคิดแบบเสรีนิยมและมีความเป็นเฟมินิสต์ในตัวสูง ด้วยประสบการณ์ชีวิตของเธอที่ต้องดิ้นรนฟันฝ่าอคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง ทั้งเรื่องโอกาสในการศึกษาและการทำงานตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่อย่างไรก็ดี แนวทางต่อสู้ของเธอนั้นเป็นแบบการต่อสู้ทีละก้าวเล็กๆ เธอไม่หวังชัยชนะในคดีใหญ่ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอออกมาในรูปแบบของฝ่ายซ้ายที่ไม่ก้าวร้าวและไม่สุดโต่ง จนอยู่ในระดับที่ ‘รับได้’ ของนักการเมืองฝ่ายขวาอย่างสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคริพับลิกันอย่าง ออริน แฮทช์ ซึ่งเป็นคนแนะนำและเชียร์ให้คลินตันเลือก RBG

อย่างไรก็ดี เมื่อองค์กรสิทธิสตรีที่มีอิทธิพลสูงอย่าง National Organization of Woman หรือ NOW ทราบว่าคลินตันกำลังจะพิจารณาแต่งตั้ง RBG ก็ออกมาต่อต้านเธอ เพราะ NOW อยากได้ผู้พิพากษาผู้หญิงคนอื่นมากกว่าด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. NOW มองกว่า RBG เป็นผู้พิพากษาที่มีแนวคิดแบบกลางซ้าย แต่ NOW อยากได้ผู้พิพากษาที่ซ้ายจัดมากกว่า สาเหตุที่ NOW มองเช่นนี้เป็นเพราะประวัติการตัดสินคดีความของ RBG ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของศาลอุทธรณ์เขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นไปในทางกลางซ้ายจริงๆ เธอตัดสินคดีความไปในทิศทางเดียวกับผู้พิพากษาที่ถูกแต่งตั้งโดยรีพับลิกันบ่อยกว่าผู้พิพากษาที่ถูกแต่งตั้งโดยเดโมแครตด้วยซ้ำ นอกจากนี้ในงานเขียนและงานทางวิชาการของเธอที่เธอมักจะพูดอยู่เสมอว่าผู้พิพากษาจำเป็นต้องพยายามทำตัวให้ภาพลักษณ์ออกมาอยู่ตรงกลางไม่สุดโต่งไปทางซ้ายหรือขวา (Moderate and Restrained)

2. นักสิทธิสตรีหลายคน (โดยเฉพาะนักสิทธิสตรีผิวสี) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ของ RBG ที่เน้นการต่อสู้ในคดีเล็กๆ เพื่อสร้าง Precedent ไปเรื่อยๆ พวกเธออยากได้แนวทางการต่อสู้แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินมากกว่า และอยากได้พันธมิตรที่เชื่อในแนวทางการต่อสู้แบบนี้ไปนั่งในศาลสูงสุด นักสิทธิสตรีผิวสีหลายคนถึงกับครหาว่า RBG เป็นสตรีผิวขาวสูงศักดิ์ที่คิดว่าความเดือดร้อนของสตรีนั้นรอได้ ไม่เหมือนสตรีผิวสีอย่างพวกเธอที่ต้องเผชิญกับการกีดกันที่มากกว่าและมองว่าการต่อสู้นั้นรอไม่ได้

ข้อสุดท้ายที่น่าจะเป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือ RBG เคยออกมาวิพากษ์การตัดสินของศาลสูงสุดในคดีที่เป็นหัวใจของนักสิทธิสตรีอย่างคดี Roe v. Wade ที่ตัดสินว่าการทำแท้งในไตรมาสหนึ่งนั้นไม่ผิดกฎหมาย RBG เคยให้ความเห็นว่าศาลสูงสุดตัดสินคดีนี้ผิด เพราะการยอมรับในสิทธิการทำแท้งของสตรีควรจะได้รับการปกป้องบนพื้นฐานของ Equal Protection Clause ไม่ใช่ Rights to Privacy ซึ่งว่ากันตามจริง RBG ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานี้ในเชิงทฤษฎีกฎหมาย แต่เธอยินดีกับผลลัพธ์ แต่การที่เธอออกมาวิจารณ์คดี Roe v. Wade ทำให้กลุ่ม NOW เกิดความกังวลใจว่าเธออาจมีแนวคิดต่อต้านการทำแท้งอยู่ลึกๆ และอาจเข้าไปกลับคำตัดสินของคดีนี้เมื่อเธอได้เป็นผู้พิพากษาเสียเอง

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลของกลุ่ม NOW ไม่ใช่ข้อกังวลของคลินตัน เพราะเขาอยากได้ผู้พิพากษาที่มีแนวคิดแบบกลางซ้ายอยู่แล้ว นอกจากนี้มาร์ตินสามีของ RBG ก็ได้ใช้คอนเน็กชันของเขาในฐานะทนายความที่จบจากฮาร์วาร์ดไปล่ารายชื่อจากศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมาได้ถึง 34 คนให้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อสนับสนุนเธอ ซึ่งในที่สุดคลินตันก็ตัดสินใจยกตำแหน่งนี้ให้ RBG และเธอก็ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาด้วยเสียงท่วมท้นถึง 96 จาก 100 เสียง

 



จุดเปลี่ยนบนบัลลังก์
สไตล์การตัดสินคดีในช่วง 10 ปีแรกของการทำหน้าที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของ RBG นั้นเป็นลักษณะกลางซ้ายแบบที่คลินตันคิด กล่าวคือเธอมักจะตัดสินเข้าข้างฝ่ายเสรีนิยม แต่สไตล์การเขียนคำตัดสินของเธอนั้นเป็นลักษณะสงวนถ้อยสงวนคำ ไม่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง และเธอมักจะยึดหลักการที่ว่าการตัดสินคดีจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกับการตัดสินในคดีก่อนหน้า (Precedent) เธอจะไม่ตัดสินคดีสวนกับ Precedent โดยไม่จำเป็น เพราะนั่นจะทำให้คนกล่าวหาระบอบตุลาการได้ว่าเป็นไม้หลักปักเลน และทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นได้

อย่างไรก็ดี มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้แนวทางการทำงานของ RBG เปลี่ยนไป นั่นก็คือการเกษียณอายุของ เดย์ โอคอนเนอร์ ในปี 2006 ที่ทำให้ RBG กลายเป็นผู้พิพากษาหญิงหนึ่งเดียวในศาลสูงสุด และทำให้เธอเริ่มตระหนักว่าผู้พิพากษาชายอีก 8 คนที่เหลือไม่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงอเมริกันต้องเผชิญ และเธอคือหญิงเดียวที่จะเป็นตัวแทนของหญิงอเมริกันทั้งประเทศที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้

คดีแรกที่ทำให้ RBG เริ่มตระหนักรู้ถึงบทบาทนี้ของเธอคือการฟ้องร้องของสตรีที่ชื่อ ลิลลี เลดเบอเดอร์ ต่อโรงงานยางกู๊ดเยียร์ ซึ่งเป็นนายจ้างของเธอในปี 2007 เลดเบอเดอร์กล่าวหากู๊ดเยียร์ว่าปรับขึ้นเงินเดือนให้เธอน้อยกว่าลูกจ้างคนอื่นที่เป็นผู้ชายตลอดการทำงาน 20 ปีของเธอ ทั้งๆ ที่เธอทำงานได้ดีเทียบเท่าชายเหล่านั้น คดีนี้ศาลสูงสุดตัดสินว่ากู๊ดเยียร์ไม่ผิดอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียง 5-4 (RBG ต้องเป็น 1 ใน 4 เสียงที่ตัดสินว่ากู๊ดเยียร์ผิด) โดยเสียงส่วนใหญ่ตัดสินว่ากู๊ดเยียร์ไม่ผิดบนพื้นฐานของเทคนิคทางกฎหมายที่ว่าการฟ้องร้องคดีเลือกปฏิบัติในที่ทำงานจะต้องดำเนินการฟ้องภายใน 180 วัน แต่เลดเบอเดอร์รับเงินเดือนมาเกิน 180 วันแล้ว จึงจะมาฟ้องร้องตอนนี้ไม่ได้

RBG โกรธมากกับการตัดสินของผู้พิพากษาชาย 5 คนนั้น เธอถึงกับขึ้นบัลลังก์ไปอ่านคำโต้แย้ง (Dissent) ของเธอ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติแล้วผู้พิพากษาจะไม่ทำกัน) ในแง่เทคนิคเธอแย้งว่ากฎ 180 วันควรจะนับจากวันที่เธอทราบว่าเธอถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่วันที่เงินเดือนออก และเลดเบอเดอร์เพิ่งมาทราบว่าเธอได้เงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชายไม่กี่เดือนก่อนที่เธอจะฟ้องศาล ดังนั้นศาลควรจะต้องรับฟ้อง แต่ที่สำคัญกว่า เธอแย้งว่าศาลสูงสุดกำลังส่งสารที่ผิดๆ ไปยังบริษัทต่างๆ ว่าการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้าคุณมีเล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายที่แพรวพราวพอ หลังจากนั้น RBG ยังออกไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่ออีกว่า เพื่อนร่วมงานชายทั้ง 5 คนของเธอไม่ได้โตมาแบบผู้หญิง และไม่มีทางเข้าใจว่าการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพียงเพราะเป็นเพศหญิงอย่างที่ RBG เลดเบอเดอร์ และผู้หญิงคนอื่นๆ ต้องเผชิญมันเจ็บปวดแค่ไหน

แต่คดีที่ทำให้ RBG โกรธยิ่งกว่าและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในสไตล์การทำงานและการเขียนคำพิพากษาของเธอคือคดีของเด็กหญิงอายุ 13 ปีที่ชื่อ ซาวานา เรดดิง ที่ตัดสินกันในปี 2009 ซึ่งคดีนี้เกิดจากการที่อาจารย์ปกครองในโรงเรียนมัธยมแซฟฟอร์ด ในมลรัฐแอริโซนา ตั้งข้อสงสัยว่าเรดดิงได้นำยาแก้ปวดไอบูโพรเฟนมาจ่ายแจกให้เพื่อนๆ ในโรงเรียน ซึ่งผิดกฎของโรงเรียนที่ว่าการใช้ยาใดๆ จะต้องแจ้งอาจารย์ปกครองก่อน และห้ามนักเรียนจ่ายแจกยากันเอง (ไอบูโพรเฟนเป็นยาแก้ปวดธรรมดาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ไม่มีฤทธิ์เสพติดหรือผิดกฎหมายใดๆ)

หลังจากอาจารย์ปกครองได้ตั้งข้อสงสัย ก็ได้สั่งให้ผู้ช่วยที่เป็นหญิงไปค้นกระเป๋าและเนื้อตัวของเรดดิง ซึ่งผู้ช่วยก็ตรวจไม่พบไอบูโพรเฟนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปกครองก็ยังไม่สิ้นความสงสัย และได้สั่งให้ผู้ช่วยแง้มดูในกางเกงในและยกทรงของเธอเพื่อดูว่าเธอแอบซ่อนยาไว้ในที่ลับหรือไม่ แต่สุดท้ายผู้ช่วยก็ไม่พบอะไรอยู่ดี เรดดิงรู้สึกอับอายและสะเทือนใจกับการถูกตรวจค้นในที่ลับแบบนี้มาก เธอกลับบ้านไปบอกพ่อแม่ซึ่งก็โกรธไม่แพ้กับเธอ และได้นำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องว่าอาจารย์ปกครองทำเกินกว่าเหตุ

ในการสู้คดีกันครั้งนี้ ทนายของฝ่ายเรดดิงได้พยายามกล่าวหาว่าอาจารย์ปกครองได้ทำผิดรัฐธรรมนูญข้อแก้ไขที่ 4 ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและจับกุมประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร และการตรวจค้นโดยการเปิดชุดชั้นในถือเป็นการค้นที่เกินกว่าเหตุมาก ทนายของโรงเรียนมัธยมแซฟฟอร์ดได้พยายามแก้ต่างว่าอาจารย์ปกครองมีเหตุอันควรให้สงสัยว่าเรดดิงจะเป็นคนนำไอบูโพรเฟนมาจ่ายแจก เนื่องจากเคยตรวจพบว่าเธอนำบุหรี่มาโรงเรียน

ในตอนที่แก้ต่างกันหน้าบัลลังก์ RBG สัมผัสได้ว่าเรดดิงน่าจะแพ้คดี เพราะผู้พิพากษาชายทั้ง 8 คนดูจะไม่ตระหนักว่าการเปิดชุดชั้นในเป็นสิ่งเลวร้ายและเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ผู้พิพากษาชายคนหนึ่งอย่าง สตีเฟน เบรย์เออร์ ถึงกับพูดไปหัวเราะไปว่าเรื่องนี้ไม่เห็นจะแปลก เพราะสมัยเขาเป็นนักเรียน เขาก็เห็นกางเกงในของเพื่อนนักเรียนชายเป็นเรื่องปกติเมื่อเขาต้องเปลี่ยนชุดไปเรียนวิชาพลศึกษา

RBG ตัดสินใจทำในสิ่งไม่เคยมีผู้พิพากษาของศาลสูงสุดคนไหนทำมาก่อน ด้วยการออกไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดว่า เพื่อนร่วมงานของเธอไม่เคยมีใครมีประสบการณ์เป็นเด็กหญิงอายุ 13 ปี ทำให้ไม่มีใครเข้าใจว่าเด็กหญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นครั้งแรกมีความอับอายในร่างกายของตนขนาดไหน การที่ศาลมีแต่ผู้ชายและเอาประสบการณ์วัยรุ่นชายมาตัดสินคดีของเด็กหญิงจึงเป็นเรื่องที่น่าละอายและเต็มไปด้วยอคติของสังคมเพศชายเป็นใหญ่ เธอยังบอกอีกด้วยว่า ถ้า เดย์ โอคอนเนอร์ ยังอยู่ อะไรๆ คงจะดีกว่านี้ เพราะอย่างน้อยการมีผู้หญิงมากกว่า 1 เสียงในห้องประชุมก็น่าจะทำให้ผู้พิพากษาชายเปิดใจฟังแนวคิดจากฝั่งผู้หญิงบ้าง

ผลจากการที่ RBG ออกมาให้สัมภาษณ์แบบตีแสกหน้าเช่นนี้ ทำให้ทิศทางการโหวตของศาลเปลี่ยนไป สุดท้ายศาลสูงสุดตัดสินให้เรดดิงชนะ 8-1 เสียง โดยให้เหตุผลว่าอาจารย์ปกครองไม่ได้มีเหตุผลอันมีน้ำหนักมากพอที่จะสงสัยว่าเรดดิงเป็นคนนำไอบูโพรเฟนมาโรงเรียน และไอบูโพรเฟนก็ไม่ใช่ยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นการตรวจค้นโดยการเปิดชุดชั้นในจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

คดีนี้ทำให้ RBG ตระหนักได้ถึงภาระของเธอในฐานะผู้หญิงคนเดียวของศาลสูงสุด เธอเริ่มใช้ภาษาที่ดุเดือดขึ้นในการเขียนคำพิพากษา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนบ่อยขึ้น กล้าที่จะวิพากษ์ผู้พิพากษาของศาลสูงสุดคนอื่นๆ โดยเฉพาะในคดีที่เป็นหัวใจของเธออย่างคดีสิทธิสตรีและคดีสิทธิของคนผิวสี

ด้วยความกล้าแหวกขนบ กล้าพูด กล้าวิพากษ์ผู้พิพากษาด้วยกันเองแบบนี้ของ RBG ทำให้เธอกลายเป็นฮีโร่ของฝ่ายเสรีนิยม เกิด Meme เกี่ยวกับเธอ มีหนังสือ/ภาพยนตร์เกี่ยวกับเธอออกมา มีการทำสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับตัวเธอ และที่สำคัญชาวอินเทอร์เน็ตได้มอบฉายาให้เธอว่าเป็น The Notorious RBG ให้ล้อไปกับชื่อ The Notorious B.I.G. ของแรปเปอร์ชื่อดังอย่าง Biggie Smalls

 



แรงสั่นสะเทือนต่อการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน
การเสียชีวิตของ RBG จะส่งผลกระทบต่อพลวัตของการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำ ส.ว. ของพรรครีพับลิกันอย่าง มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าพวกเขาจะพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ให้สำเร็จให้ได้ก่อนที่ประธานาธิบดีคนต่อไปจะมารับตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่าทรัมป์และแม็กคอนเนลล์จะต้องเผชิญแรงต้านทานจากพรรคเดโมแครต เพราะแม็กคอนเนลล์เคยสร้างบรรทัดฐานไว้ในปี 2016 ที่เขาไม่ยอมให้ บารัก โอบามา แต่งตั้งผู้พิพากษาของศาลสูงสุดคนใหม่หลังจากที่ผู้พิพากษาสคาลิสเสียชีวิตลง โดยแม็กคอนเนลล์อ้างว่าปี 2016 เป็นปีสุดท้ายของโอบามาแล้ว โอบามาควรจะรอให้ประธานาธิบดีคนใหม่มาแต่งตั้งจะสง่างามกว่า การที่แม็กคอนเนลล์ล้มล้างบรรทัดฐานของตัวเองแบบนี้ทำให้ฐานเสียงพรรคเดโมแครตโกรธมากกับความสองมาตรฐาน และอาจจะทำให้พวกเขาแห่กันออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างถล่มทลาย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X