สำนักข่าว AP รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ แอนตอน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัสเซีย ซึ่งเปิดเผยว่า รัฐบาลกรุงมอสโกได้จัดการชำระดอกเบี้ยพันธบัตรสกุลดอลลาร์ 2 ฉบับ วงเงินรวม 117 ล้านดอลลาร์แล้วในวันนี้ (18 มีนาคม) ทำให้รัสเซียรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งสองฉบับมีกำหนดชำระเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา กระนั้นก็ยังมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วัน ซึ่งการชำระดอกเบี้ยครั้งนี้อยู่ในระยะเวลาผ่อนผันดังกล่าว
แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังรัสเซียระบุว่า จำนวนเงินได้รับการโอนไปยังบัญชีธนาคารของ Citibank ในกรุงลอนดอน และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ากระบวนการโอนเงินลุล่วงเรียบร้อย
รัฐมนตรีคลังรัสเซียเปิดเผยว่า หากมาตรการคว่ำบาตรทำให้การโอนเงินไปยังธนาคารไม่สำเร็จ รัฐบาลก็จะจัดการชำระหนี้ด้วยสกุลเงินรูเบิล ซึ่งเป็นวิธีการชำระเงินที่ Fitch Ratings มองว่า ไม่ช่วยให้รัสเซียรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ไปได้
ขณะเดียวกันจากข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ บ่งชี้ได้ว่า มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ล่าสุดนี้ยินยอมให้รัสเซียชำระดอกเบี้ยพันธบัตรที่ครบกำหนดชำระได้
ด้านนักวิเคราะห์หลายรายแสดงความเห็นตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียในครั้งนี้เป็นเสมือนบททดสอบบทแรกของรัสเซีย หลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และพันธมิตร เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ส่งทหารรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัสเซียมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยจำนวนราวครึ่งหนึ่งของมูลหนี้ดังกล่าวถือครองโดยชาวต่างชาติ
ขณะเดียวกันสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่า รัสเซียไม่ได้อยู่ในสถานะกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) อีกต่อไปแล้ว
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหากเอ่ยถึงกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลุ่มที่มีความโดดเด่นมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ แต่เพราะการตัดสินใจเข้าโจมตียูเครน ทำให้รัสเซียไม่ได้เป็นตลาดที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก เข้าถึงได้โดยง่ายเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกระเทือนต่อสถานะของ BRICS โดยรวม
อีริก วิโนแกรด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ AllienceBernstein กล่าวว่า เมื่อมีวันที่สดใสก็ต้องมีวันที่โรยรา โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะรัสเซีย ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งวิโนแกรดแนะนำว่า หากนักลงทุนคนไหนยังคงมั่นใจในแรงขับเคลื่อนของตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ก็ให้พิจารณาเป็นรายประเทศ
ส่วน ราหุล เซน ชาร์มา ผู้จัดการของ Indxx ผู้ให้บริการข้อมูลดัชนีตลาดทั่วโลก มองว่า นักลงทุนจะกลับเข้าไปลงทุนในรัสเซียหรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดรัสเซียมีสภาพคล่องมากน้อยเพียงใด เพียงแต่ในระยะเวลาอันสั้นนักลงทุนส่วนใหญ่คงยังไม่กลับเข้าไปลงทุน
สำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจให้ลองหาข้อมูลเพื่อการพิจารณาเข้าไปลงทุน เช่น เกาหลีใต้, โปแลนด์, ตุรกี, เม็กซิโก, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แคลลี ค็อกซ์ นักวิเคราะห์การลงทุนสหรัฐฯ ของ eToro แย้งว่า ด้วยเงื่อนไขและบริบทแวดล้อมในปัจจุบัน จะเป็นการดีกว่าหากนักลงทุนจะลงทุนโดยพิจารณาแบบเจาะจงคือ การเล็งไปที่ตัวบริษัทที่มีความโดดเด่นในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่
อ้างอิง: