×

1 เดือนสงคราม ทำเศรษฐกิจรัสเซียเสียหายหนักแค่ไหน

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจรัสเซีย

การเปิดฉากโจมตียูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นชนวนเหตุที่ให้รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากชาติตะวันตก จนแทบจะทำให้ประเทศถูกตัดออกจากระบบเศรษฐกิจโลก

 

ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียสูญเสียมูลค่าส่วนใหญ่ พันธบัตรและหุ้นของรัสเซียถูกถอดออกจากดัชนีโลก ขณะที่ประชาชนต้องตกระกำลำบากจากภาวะข้าวยากหมากแพงที่มีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปอีกนานหลายปี

 

สงครามทำให้รัสเซียต้องแลกมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง:

  • ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2020 รัสเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก แต่จิม โอนีล อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ผู้คิดอักษรย่อ BRIC เพื่อใช้เรียก 4 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ชั้นนำของโลก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน คาดการณ์ว่าภายในปีนี้รัสเซียอาจร่วงหลุดจาก 15 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิล ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสถานการณ์ที่รัสเซียไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารกลางรัสเซียสำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะหดตัว 8% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงถึง 20% 

 

ถ้าคิดว่านั่นแย่แล้ว การคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียอาจหดตัวถึง 15% ในปีนี้ และหดตัวอีก 3% ในปีหน้า

 

“การคาดการณ์ทั้งหมดของเราแปลได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพร้อมที่จะกวาดล้างดอกผลทางเศรษฐกิจยาวนานถึงราว 15 ปี” IIF ระบุ

  • เงินเฟ้อพุ่งทะยาน

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2013 ชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของ เอลวิรา นาบิอุลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อจาก 17% ในปี 2015 ลงมาอยู่ที่เพียงประมาณ 2% ในต้นปี 2018 และในขณะที่แรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโควิด เธอท้าทายนักอุตสาหกรรมด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 เดือนติดต่อกัน 

 

นอกจากนี้นาบิอุลลินายังต้านทานกระแสเรียกร้องในช่วงปี 2014-2015 ที่ต้องการให้แบงก์ชาติควบคุมเงินทุน (Capital Control) เพื่อสกัดกั้นการไหลออกหลังจากการผนวกไครเมีย

 

แต่ความสำเร็จเหล่านั้นถูกทำลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในเวลาไม่ถึงเดือน

 

ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งแตะ 14.5% และส่อเค้าว่าจะทะลุ 20% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติถึง 5 เท่า ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ของครัวเรือนในช่วง 1 ปีนั้นสูงกว่า 18% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี

 

แม้เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนแห่ซื้อสินค้าเพราะตื่นตระหนก (Panic Buying) แต่การอ่อนค่าของเงินรูเบิลก็อาจเพิ่มแรงกดดันด้านราคา และส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อไป

 

เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียถูกอายัด นาบิอุลลินาจึงถูกบีบให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 เท่าในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และเริ่มนำมาตรการควบคุมเงินทุนมาใช้ โดยขณะนี้ธนาคารกลางรัสเซียคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่กลับสู่ระดับเป้าหมายจนกว่าจะถึงปี 2024

  • ถูกถอดออกจากดัชนี

มาตรการคว่ำบาตรส่งผลให้ผู้ให้บริการดัชนีต้องนำรัสเซียออกจากดัชนีอ้างอิงการลงทุนระดับโลก หนึ่งในนั้นได้แก่ J.P. Morgan และ MSCI ที่ประกาศถอดรัสเซียออกจากดัชนีพันธบัตรและดัชนีหุ้นตามลำดับ

 

สถานะของรัสเซียในดัชนีเหล่านี้เคยได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากการคว่ำบาตรชุดแรกโดยชาติตะวันตกเมื่อปี 2014 และจากนั้นในปี 2018 สืบเนื่องจากเหตุการณ์วางยาพิษอดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษ และการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2016

 

และในวันที่ 31 มีนาคมนี้ รัสเซียจะถูกผู้ให้บริการดัชนีชั้นนำเกือบทุกรายลดน้ำหนักการลงทุนเหลือ 0%

  • ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ก่อนหน้ารุกรานยูเครน รัสเซียได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน ‘ระดับน่าลงทุน’ (Investment Grade) โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกทั้ง 3 ราย ได้แก่ S&P Global, Moody’s และ Fitch

 

เครดิตเรตติ้งที่ระดับน่าลงทุนเปิดทางให้รัสเซียสามารถกู้ยืมได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างถูก และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ

 

แต่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียถูกหั่นอันดับเครดิตลงฮวบฮาบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยตอนนี้อันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียอยู่ที่ ‘ระดับขยะ’ (Junk) ซึ่งหมายความว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้

  • รูเบิลอ่อนค่า

เมื่อ 1 เดือนก่อน อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 ปีของสกุลเงินรูเบิลอยู่ที่ 74 รูเบิลต่อดอลลาร์ การซื้อขายบนแพลตฟอร์มต่างๆ แสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ และมีส่วนต่างระหว่างราคาเสนอขายและราคาเสนอซื้อที่แคบ (Tight Bid/Ask Spreads) ซึ่งหมายความว่าสกุลเงินเป็นที่ต้องการ

 

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนแปลงไปเมื่อธนาคารกลางรัสเซียสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้เงินรูเบิลร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่มากกว่า 120 รูเบิลต่อดอลลาร์สำหรับการซื้อขายในประเทศ ขณะที่ในตลาดต่างประเทศอัตราแลกเปลี่ยนร่วงลงต่ำสุดที่ 160 รูเบิลต่อดอลลาร์

 

ด้วยภาวะขาดแคลนสภาพคล่องอย่างรุนแรง และส่วนต่างระหว่างราคาเสนอขายและราคาเสนอซื้อที่กว้างขึ้น การกำหนดราคาค่าเงินรูเบิลจึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในประเทศและต่างประเทศยังไร้เสถียรภาพ 

 

ภาพ: Sophie Brössler / picture alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X