×

ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรปูตินและ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย หวังกดดันกรณีรุกรานยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
26.02.2022
  • LOADING...
คว่ำบาตร

บรรดาชาติตะวันตกได้ออกคำสั่งคว่ำบาตรต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย รวมถึง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา โดยมีการสั่งอายัดทรัพย์สินของทั้งคู่ในสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา รวมถึงห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ

 

มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเคยสั่งคว่ำบาตรผู้นำของซีเรียและเบลารุส ส่วนสหรัฐฯ เองก็เคยสั่งคว่ำบาตร นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา รวมถึง บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าประธานาธิบดีปูตินและรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียมีทรัพย์สินในกลุ่มประเทศดังกล่าวมากน้อยเพียงไร จึงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้จะส่งผลกระทบได้หนักเบาแค่ไหน ส่วนทางฝั่งผู้นำยุโรปเองก็ยังไม่ได้ตัดสินใจออกคำสั่งห้ามเดินทางกับประธานาธิบดีปูตินและลาฟรอฟ

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้วิงวอนให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงเพื่อกดดันรัสเซียอีกทางหนึ่ง และขอให้ตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก (SWIFT) ขณะที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้ชาติตะวันตกกีดกันรัสเซียออกจากระบบการเงินด้วย

 

แต่ถึงเช่นนั้น ขณะนี้สหภาพยุโรปยังไม่ได้ตัดสินใจถอนรัสเซียออกจาก SWIFT เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากบางประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงเยอรมนีและอิตาลีที่หวั่นเกรงว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตามมา แต่ก็แบ่งรับแบ่งสู้ด้วยการระบุว่า ยังคงเปิดรับแนวทางดังกล่าวแม้จะไม่เห็นด้วยเต็มร้อยก็ตาม

 

ด้าน บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสเปิดเผยว่า การตัดรัสเซียออกจากระบบดังกล่าวยังเป็นทางเลือกที่ ‘มีความเป็นไปได้’ แต่คิดว่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะดำเนินการ

 

ขณะที่ โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ระบุว่า การคว่ำบาตรรอบล่าสุดของสหภาพยุโรปถือเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน และหากรัสเซียยังไม่ยอมเลิกราก็จะมีมาตรการคว่ำบาตรเป็นครั้งที่ 3 ตามมา

 

นอกจากนี้ วงการกีฬาก็ยังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยยูฟ่าได้เลือกกรุงปารีสเป็นสถานที่จัดแข่งขันศึก ‘ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก’ นัดชิงชนะเลิศ 2021/22 แทนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย

 

ด้านรัสเซียก็ได้ออกมาโต้ชาติตะวันตกด้วยการแบนเที่ยวบินจากอังกฤษที่จะเดินทางเข้ามาในรัสเซียทันทีหลังจากที่อังกฤษสั่งห้ามสายการบิน Aeroflot ลงจอดในประเทศ โดยสายการบินดังกล่าวเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ของทีมฟุตบอลแมนเซสเตอร์ ยูไนเต็ด 

 

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ตำหนิชาติตะวันตกว่า ‘ไร้สมรรถภาพอย่างสิ้นเชิง’ ในประเด็นนโยบายต่างประเทศ

 

ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (26 กุมภาพันธ์) รัสเซียได้ใช้สิทธิวีโต้ต่อมติของ UNSC ที่ประณามการรุกรานยูเครน ขณะที่ในการประชุมดังกล่าว ชาติสมาชิกอื่นๆ อีก 11 ประเทศโหวตเห็นชอบต่อมติของ UNSC โดยมีเพียงอินเดีย จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เลือก ‘งดออกเสียง’

 

ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า “ในวันนี้ รัสเซียได้ใช้อำนาจของตนเองด้วยการใช้สิทธิวีโต้มติของเรา แต่รัสเซียไม่สามารถยับยั้งการประณามของเราได้…ประธานาธิบดีปูตินเป็นฝ่ายรุกรานก่อน จึงไม่มีทางสายกลางสำหรับกรณีนี้”

 

เมื่อช่วงคืนวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้ออกมาเตือนว่า รัสเซียจะเข้าโจมตีกรุงเคียฟอย่างหนัก โดยในวิดีโอดังกล่าว ผู้นำยูเครนได้กล่าวว่า “ค่ำคืนนี้จะเป็นคืนที่ยากลำบาก…ยากลำบากมากๆ แต่ที่สุดมันจะผ่านพ้นไป

 

“ค่ำคืนนี้ศัตรูของเราจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อทำลายการต่อต้านของเรา คืนนี้พวกเขาจะเปิดฉากการโจมตี คืนนี้เราต้องตั้งมั่น โชคชะตาของยูเครนจะถูกตัดสินในวันนี้ และเป้าหมายสูงสุดของเราคือยุติการนองเลือด”

 

คำกล่าวของผู้นำยูเครนมีขึ้น หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) กองรถถังของรัสเซียได้บุกเข้ามาโจมตีกรุงเคียฟ พร้อมเสียงระเบิดที่ดังสนั่นหวั่นไหวในหลายพื้นที่ของดินแดนเมืองหลวง โดยสำนักข่าว TASS ของรัสเซียรายงานว่า กองกำลังได้รุกเข้าสู่ยูเครนผ่านทางเมืองเมลิโตปอลซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด

 

ต่อเวลาในช่วงเย็นวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) โฆษกประธานาธิบดียูเครนได้ออกมาเปิดเผยว่า ยูเครนพร้อมที่จะทำข้อตกลงหยุดยิงและเข้าเจรจาอย่างสันติกับรัสเซียในทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการหารือถึงสถานที่และเวลาในการจัดประชุมดังกล่าว 

 

ด้าน อันนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ประธานาธิบดีปูตินและนักการทูตระดับสูงต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในยูเครน และการเหยียบย่ำระบบระหว่างประเทศ ชี้เป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้

 

ภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X