×

ไขข้อข้องใจ ทำไมสหรัฐฯ ไม่ส่งทหารไปช่วยยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
26.02.2022
  • LOADING...
Joe Biden

ท่ามกลางไฟสงครามที่กำลังลุกโชนในยูเครน คำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปช่วยยูเครนสู้กับรัสเซีย แต่เลือกที่จะใช้สารพัดวิธีทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรในการตอบโต้การรุกรานครั้งนี้

 

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารของไบเดนได้ออกมาเตือนแทบทุกวันเกี่ยวกับสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่สื่อของสหรัฐฯ ก็เล่นข่าวนี้ไม่หยุด และในที่สุด คำทำนายที่สหรัฐฯ และโลกหวาดกลัวก็กลายเป็นเรื่องจริง 

 

ทั้งๆ ที่เชื่อว่ารัสเซียบุกแน่ แต่ไบเดนก็ยังคงปฏิเสธที่จะส่งทหารไปช่วยอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ออกจากยูเครน นอกจากนี้ยังสั่งถอนทหารออกจากยูเครนอีกด้วย พร้อมกับพูดชัดเจนว่า ชาวอเมริกันไม่ยินดีที่จะสู้รบ 

 

ทำไมไบเดนจึงตัดสินใจเช่นนี้ ในขณะที่นโยบายต่างประเทศของเขากำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญที่สุด และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

สหรัฐฯ ไม่มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในยูเครน

ประการแรก ยูเครนไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้านของอเมริกา ไม่มีชายแดนติดกับสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ไม่มีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ และไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่

 

แต่ที่ผ่านมา เหตุผลข้อนี้ไม่สามารถหยุดยั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการทำสงคราม โดยในปี 1995 บิล คลินตัน เข้าแทรกแซงทางทหารภายหลังการล่มสลายของยูโกสลาเวีย และในปี 2011 บารัก โอบามา ทำแบบเดียวกันในสงครามกลางเมืองลิเบีย ซึ่งการทำสงครามของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อ้างเหตุผลด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน

 

ในปี 1990 จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ได้ชี้แจงชาติพันธมิตรถึงเหตุผลที่สหรัฐฯ ทำสงครามขับไล่อิรักออกจากคูเวตว่า เพื่อปกป้องหลักนิติธรรม ซึ่งถึงแม้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของไบเดนให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อหลักการสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ พวกเขาเลือกตอบโต้ผ่านสงครามทางเศรษฐกิจ แทนการใช้ปฏิบัติการทางทหาร

 

ไบเดนไม่สนับสนุนการแทรกแซงทางทหาร

คำตอบในข้อนี้เกี่ยวกับตัวของไบเดน ซึ่งไม่นิยมชมชอบการแทรกแซง (Non-interventionist)

 

แม้ในอดีต ไบเดนเคยสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในคาบสมุทรบอลข่านในช่วงทศวรรษ 1990 และเขาโหวตสนับสนุนให้อเมริกาบุกอิรักในปี 2003 อย่างไรก็ดี นับแต่นั้นมา เขาระมัดระวังการใช้อำนาจทางทหารมากขึ้น

 

ไบเดนคัดค้านการแทรกแซงลิเบียในสมัยของโอบามา รวมทั้งไม่เห็นชอบกับการเพิ่มกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เขายืนกรานคำสั่งถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว แม้จะเกิดความวุ่นวายและกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม

 

นอกจากนี้ ไบเดนยังมีผู้สนับสนุนคนสำคัญอย่าง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีมากว่า 20 ปี โดยบลิงเคนได้นิยามความมั่นคงของชาติว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อสู้กับโรคภัยทั่วโลก และการแข่งขันกับจีน มากกว่าการแทรกแซงทางทหาร 

 

ชาวอเมริกันเองก็ไม่ต้องการทำสงครามเช่นกัน

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่จัดทำโดย AP-NORC เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ชาวอเมริกัน 72% ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม ระบุว่าสหรัฐฯ ควรรับบทรอง หรือตัวประกอบในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน หรือไม่ต้องเกี่ยวข้องเลยจะดีที่สุด

 

ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสนใจเรื่องปากท้องมากกว่า โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ไบเดนต้องคำนึงถึงในขณะที่การเลือกตั้งกลางเทอมกำลังใกล้เข้ามา

 

ขณะเดียวกัน วิกฤตความขัดแย้งกำลังเป็นประเด็นหารือหลักในสภาคองเกรส โดยสมาชิกสภาจากทั้งสองพรรคเรียกร้องให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดที่สุด แม้แต่ผู้ที่นิยมแนวทางแข็งกร้าวทางทหารมากกว่าการเจรจาทางการทูตอย่าง เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ก็ไม่ต้องการให้ไบเดนส่งทหารอเมริกันไปยังยูเครนและทำสงครามกับปูติน

 

มาร์โก รูบิโอ ส.ว. สายเหยี่ยวจากพรรครีพับลิกันอีกราย กล่าวว่า สงครามระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะไม่เป็นผลดีกับใคร

 

หวั่นเกิด ‘สงครามโลก’

การเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอย่างรัสเซียที่มีคลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์นั้นเป็นเรื่องอันตราย

 

ไบเดนไม่ต้องการจุดชนวนให้เกิด ‘สงครามโลก’ จากการปะทะกันโดยตรงระหว่างทหารอเมริกันกับทหารรัสเซียในยูเครน ซึ่งเขาได้เปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

 

“มันไม่เหมือนเรากำลังรับมือกับองค์กรก่อการร้าย” ไบเดนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ NBC News เมื่อต้นเดือนนี้ “เรากำลังรับมือกับหนึ่งในกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก นี่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันมาก และสิ่งต่างๆ อาจตกอยู่ในความบ้าคลั่งอย่างรวดเร็ว”

 

ไม่มีพันธกรณีตามสนธิสัญญาที่บังคับให้สหรัฐฯ ต้องยอมเสี่ยง

มาตรา 5 ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ระบุว่า “การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ” ซึ่งเป็นพันธกรณีที่มีผลผูกพันให้สมาชิกทุกประเทศจะต้องปกป้องซึ่งกันและกัน ทว่ายูเครนไม่ใช่สมาชิกของ NATO และบลิงเคนใช้เหตุผลนี้ในการอธิบายว่า ทำไมอเมริกาจึงไม่ร่วมต่อสู้ 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองกันให้ดี ประเด็นนี้มีจุดที่ย้อนแย้ง เพราะก่อนหน้านี้ปูตินเรียกร้องให้สหรัฐฯ และ NATO รับประกันว่า ยูเครนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO แต่ปูตินถูกปฏิเสธคำขอ

 

สตีเฟน วอลต์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและนักนโยบายต่างประเทศ แย้งว่าการปฏิเสธการประนีประนอมโดยสหรัฐฯ และ NATO นั้นไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ เพราะทั้งสหรัฐฯ และ NATO ก็ไม่ได้เต็มใจที่จะส่งกำลังทหารไปช่วยยูเครนอยู่แล้ว

 

ไบเดนจะเปลี่ยนท่าทีหรือไม่?

อันที่จริง ไบเดนไม่ถึงกับนิ่งดูดาย เพราะได้สั่งการให้ส่งทหารไปยังยุโรป พร้อมทั้งจัดกำลังทหารที่ประจำการในยุโรปอยู่แล้ว เพื่อให้การสนับสนุนชาติพันธมิตร NATO ที่มีพรมแดนติดกับยูเครนและรัสเซีย

 

ฝ่ายบริหารของไบเดนตัดสินใจดำเนินการเช่นนี้ เพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ที่กังวลว่าปูตินอาจขยายเป้าหมายการรุกรานเพื่อกดดัน NATO ให้ถอยกองกำลังออกจากฝั่งตะวันออก

 

การบุกยูเครนในสัปดาห์นี้ทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งจะขยายวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบโดยไม่ตั้งใจ หรือเป็นการโจมตีโดยเจตนาของรัสเซีย ซึ่งหากเป็นอย่างหลัง สถานการณ์การสู้รบก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และจะทำให้เข้าข่ายมาตรา 5 ที่ชาติสมาชิก NATO จะต้องร่วมกันปกป้องชาติสมาชิก 

 

“ถ้าปูตินเคลื่อนกองกำลังเข้าสู่ประเทศสมาชิก NATO เราจะเข้าไปมีส่วนร่วม” ไบเดนกล่าวในระหว่างการแถลงที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ภาพ: Drew Angerer / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X