รัสเซียเปิดฉากทำสงครามบุกยูเครนเต็มรูปแบบตั้งแต่เช้าวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ตามคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยระดมโจมตีทั้งทางบก อากาศ และทางทะเล พร้อมเคลื่อนกำลังทหาร รถถังรถหุ้มเกราะ ข้ามชายแดนเข้าโจมตีจากทุกทิศทาง ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดในระดับสูงสุด ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตและความเสียหายแล้วจำนวนมาก
และนี่คือสรุปสถานการณ์ล่าสุดนับตั้งแต่เกิดการโจมตีในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ปูตินสั่งโจมตี
- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แถลงผ่านทางโทรทัศน์ในเวลา 05.55 น. วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งที่รัสเซียให้การรับรองเอกราชแก่ 2 แคว้นหลัก คือ โดเนตสก์และลูฮันสก์ ไปก่อนหน้านี้
- ปูตินชี้ว่า การแทรกแซงทางทหารของรัสเซียในยูเครนถือเป็นการป้องกันตนเองและไม่ต้องการยึดยูเครน แต่จะทำให้เป็นพื้นที่ปลอดทหาร และกล่าวหายูเครนว่าถูกปกครองโดยกลุ่มนีโอนาซีและลัทธิชาตินิยมฟาสซิสต์
- เขาเรียกร้องให้ทหารยูเครนในพื้นที่สู้รบทั้งหมดวางอาวุธและกลับบ้าน แต่ยืนยันว่า การปะทะนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พร้อมเตือนการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกที่พยายามขัดขวางการโจมตีของรัสเซีย จะต้องเผชิญกับการตอบโต้รุนแรงในทันที
การสู้รบปะทุทั่วยูเครน รัสเซียยึดเชอร์โนบิล
- หลังประกาศเปิดฉากโจมตีของปูติน เกิดระเบิดและเสียงปืนดังสนั่นในหลายจุดทั่วประเทศ รวมถึงเมืองใหญ่ ทั้งกรุงเคียฟ เมืองคาร์คีฟ โอเดสซา และเมืองครามาทอสก์ในแคว้นโดเนตสก์
- โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ระบุว่า รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธโจมตีโครงสร้างพื้นฐานและกองกำลังป้องกันชายแดนของยูเครน แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซียปฏิเสธการโจมตีเป้าหมายในเมืองต่างๆ ของยูเครน โดยยืนยันว่าพุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพและกองทัพอากาศ รวมถึงระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธที่มีความแม่นยำสูง
- การสู้รบเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายจุดสำคัญ รวมถึงสนามบินใกล้กรุงเคียฟ ซึ่งกองทหารรัสเซียบุกเข้ายึดได้สำเร็จ แต่ฝ่ายกองทัพยูเครนอ้างว่าบุกยึดคืนกลับมาได้
- ขณะที่กองทัพรัสเซียยังได้บุกเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งเป็นจุดเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปี 1986 และยังคงมีสารกัมมันตรังสีจำนวนมากอยู่ ซึ่งยูเครนเตือนผลกระทบจากการจู่โจมโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอย่างไร้เหตุผลของรัสเซียว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อยุโรปในปัจจุบัน และเป็นการประกาศสงครามต่อทั้งยุโรป รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งองค์กรเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ระหว่างประเทศแสดงความกังวลและกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทหาร-รถถังรัสเซีย ข้ามชายแดนสู่ยูเครน โจมตีจากทุกทิศทาง
- ทางการยูเครนเผยว่า มีกองกำลังทหาร ขบวนรถถัง รถหุ้มเกราะ และยานพาหนะของกองทัพ หลั่งไหลเข้าสู่ยูเครนผ่านทางแนวชายแดน ทั้งทางตะวันออก ทางตอนใต้ และทางตอนเหนือ
- ซึ่งบริเวณชายแดนทางตอนเหนือนั้นมีขบวนยานพาหนะของกองทัพรัสเซียข้ามชายแดน ทั้งจากทางเบลารุส เข้าสู่แคว้นเชอร์นิฮิฟของยูเครน และข้ามจากรัสเซียมาทางแคว้นซูมี ทางตะวันออกเฉียงเหนือ
- นอกจากนี้ยังมีขบวนทหารและรถถังข้ามชายแดนเข้าไปยังแคว้นลูฮันสก์และคาร์คีฟ ทางตะวันออก และข้ามจากไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนทางใต้ของยูเครนที่รัสเซียผนวกรวมไปตั้งแต่ปี 2014 เข้าสู่แคว้นเคอร์ซอน
- กองกำลังป้องกันชายแดนของยูเครน (DPSU) เผยว่า กองทัพรัสเซียได้เริ่มโจมตีระลอกแรกด้วยการยิงปืนใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีรายงานการส่งกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนทางทะเลที่เมืองมารีอูปอลและโอเดสซา ทางใต้ซึ่งอยู่ติดกับทะเลดำ
ผู้เสียชีวิตพุ่งกว่า 100
- ล่าสุดเช้าวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ประธานาธิบดีเซเลนสกีรายงานว่า มีพลเรือนและทหารเสียชีวิตจากการโจมตีของรัสเซียในวันแรกอย่างน้อย 137 คน โดยเซเลนสกีกล่าวในการแถลง ยกย่องผู้เสียชีวิตทั้งหมดว่าเป็นวีรบุรุษ พร้อมเผยว่ามีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 316 คน
“พวกเขาสังหารประชาชน และเปลี่ยนเมืองที่สงบสุขให้กลายเป็นเป้าหมายทางทหาร มันเลวร้ายมาก และจะไม่มีวันได้รับการให้อภัย” เซเลนสกีกล่าว
- ฝ่ายรัสเซียยังไม่มีรายงานจำนวนทหารที่เสียชีวิตอย่างแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนอ้างว่าสามารถสังหารทหารรัสเซียได้ประมาณ 50 นาย
ยูเครนสู้กลับ
- กองทัพยูเครนพยายามต่อสู้การโจมตีของรัสเซีย โดยเปิดเผยว่า มีเครื่องบินของรัสเซีย 5 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ ถูกยิงตก ซึ่งรัสเซียปฏิเสธ ก่อนที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีจะเผยว่า มีอากาศยานกองทัพและรถหุ้มเกราะจำนวนมากถูกทำลายจากการโจมตีของรัสเซีย
- ฝ่ายรัสเซียระบุว่าได้ทำลายเป้าหมายทางทหารในยูเครนไปมากกว่า 70 จุด โดยการสู้รบส่วนใหญ่พบว่ามีศูนย์กลางในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ลุกลามไปถึงพื้นที่รอบกรุงเคียฟและหลายเมืองท่าติดทะเลดำ เช่น มารีอูปอล และโอเดสซา
- ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อให้กองทัพควบคุมสถานการณ์ และแจกอาวุธแก่พลเรือนเพื่อขอให้ช่วยกันปกป้องประเทศ
- ขณะเดียวกันรัฐบาลยูเครนได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อรัสเซีย พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเคียฟ ห้ามประชาชนออกนอกบ้านในช่วงกลางคืน
- ซึ่งทางดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน วิงวอนให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบโอนและชำระเงินระหว่างประเทศที่ธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลกใช้งาน
ประชาชนหนีตาย-หลบระเบิดใต้ดิน
- ผลจากการโจมตีของรัสเซีย ทำให้ประชาชนในกรุงเคียฟและหลายเมืองพยายามหนีตายออกจากเมือง หรือหลบลงไปซ่อนในชั้นใต้ดินของบ้านหรือแม้แต่ในสถานีรถไฟใต้ดิน
- ในกรุงเคียฟปรากฏภาพประชาชนจำนวนมากพยายามขับรถหนีออกจากเมืองไปทางตะวันตก ทำให้เกิดรถติดยาวบนทางด่วนและถนนหลายสาย นอกจากนี้ปั๊มน้ำมันและตู้ ATM มีประชาชนไปต่อแถวจำนวนมาก
- ขณะที่โซเชียลมีเดียและสื่อต่างประเทศหลายสำนักเผยแพร่ภาพประชาชนจำนวนมากเข้าไปหลบการโจมตีอยู่ภายในสถานีรถไฟใต้ดินกันอย่างแออัด
ราคาน้ำมันพุ่ง หุ้น-ค่าเงินรัสเซียร่วงหนัก
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการสู้รบในวันแรกส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี
- ในขณะที่สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียก็ร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์และยูโร เช่นเดียวกับดัชนีหุ้น MOEX ของรัสเซียที่ร่วงลงหนักกว่า 50% ในขณะที่ดัชนีหุ้น FTSE 100 ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนก็ร่วงหนักกว่า 200 จุด
ท่าทีสหรัฐฯ EU และทั่วโลก
- โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงประณามการกระทำของปูตินว่าเป็นการเปิดฉากโจมตีโดยปราศจากการยั่วยุและไร้ความชอบธรรม และเป็นการเลือกทำสงครามโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่ต่อมนุษย์ พร้อมเตรียมประกาศแนวทางการตอบโต้และมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมที่รัสเซียจะต้องเผชิญ ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ยังได้สั่งการให้ส่งกำลังทหารไปเพิ่มในยุโรปอีก 7,000 นาย โดยเน้นย้ำจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดนพันธมิตร NATO
- ผู้นำ EU ทั้ง 27 ชาติ เห็นพ้องให้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อรัสเซีย ภายหลังการประชุมฉุกเฉินในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม โดยจะรวมถึงการอายัดทรัพย์สินของรัสเซียภายในประเทศ EU และระงับธนาคารของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงตลาดการเงินของยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการธนาคารของรัสเซียและบริษัทที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของกว่า 70% และถือเป็นมาตรการรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมา และนอกจากนี้จะพุ่งเป้าคว่ำบาตรไปที่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานและการคมนาคมของรัสเซีย ตลอดจนหาทางระงับการค้าและการผลิตของรัสเซียด้วยมาตรการควบคุมการส่งออก
ส่วนการแบนรัสเซียจากระบบโอนเงินหลักอย่าง SWIFT ที่จะทำให้การโอนเงินเข้า-ออกรัสเซียไม่สามารถทำได้ และส่งผลกระทบทางการเงินต่อรัสเซียขั้นรุนแรงนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
- บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ที่ออกมาประณามและประกาศแพ็กเกจมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดต่อรัสเซีย โดยพุ่งเป้าไปที่ธนาคารและบุคคลใกล้ชิดของปูติน ตลอดจนมหาเศรษฐีที่มีธุรกิจและทรัพย์สินจำนวนมากในสหราชอาณาจักร ขณะที่เขายังเรียกร้องให้แบนรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ด้วย
- เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ประณามการกระทำของรัสเซียว่าเป็นการโจมตีโดยขาดความยั้งคิด ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตประชาชนนับไม่ถ้วน ซึ่ง NATO กำลังดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อปกป้องชาติสมาชิก และเรียกร้องให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครนทันที แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารไปร่วมรบในยูเครน
ขณะที่ชาติสมาชิกกำลังพิจารณาเรื่องการใช้มาตรา 4 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งจะถูกใช้เมื่อฝ่ายใดของ NATO เชื่อว่าบูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นอิสระทางการเมือง หรือความมั่นคงของฝ่ายใดๆ ถูกคุกคาม
- นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่ทยอยประกาศคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยพุ่งเป้าทางด้านการเงินและการส่งออกยุทโธปกรณ์ทางทหาร ตลอดจนกลุ่มนักการเมืองและบุคคลระดับชนชั้นนำของรัสเซีย
- จีน ในฐานะมหาอำนาจและพันธมิตรรายใหญ่ของรัสเซีย แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเรียกร้องอีกครั้งให้ทุกฝ่ายพูดคุยเพื่อหาทางออกจากวิกฤตยูเครน แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อการโจมตีของรัสเซียในหลายพื้นที่ของยูเครน และชี้ว่าปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นมีความซับซ้อนด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
“จีนกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เรายังหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไม่ปิดประตูสู่สันติภาพ และใช้การพูดคุยและหารือแทน เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว
- เกิดการประท้วงต่อต้านสงครามและสนับสนุนยูเครนขึ้นในหลายเมืองของยุโรป โดยในรัสเซียมีประชาชนพยายามเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการประท้วง แต่ทางการเข้าขัดขวางและมีผู้ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 700 คน
- องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่ามีประชากรยูเครนอพยพหนีการสู้รบมากกว่า 100,000 คน โดยเจ้าหน้าที่ป้องกันชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งโปแลนด์ ฮังการี และมอลโดวา รายงานว่ามีชาวยูเครนแห่อพยพข้ามแดนจำนวนมาก
ภาพ: Photo by ARIS MESSINIS / AFP
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-europe-60504334
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-60514228
- https://www.aljazeera.com/news/2022/2/24/russian-troops-advancing-closer-to-kyiv-us-says-liveblog
- https://www.reuters.com/world/europe/putin-orders-military-operations-ukraine-demands-kyiv-forces-surrender-2022-02-24/
- https://www.reuters.com/world/europe/eu-launch-new-sanctions-against-russia-over-barbaric-attack-ukraine-2022-02-24/
- https://www.reuters.com/world/west-will-slap-unprecedented-sanctions-russia-britain-says-2022-02-24/