×

เงื่อนไข 4 ข้อจากรัสเซียแลกยุติสงคราม ยูเครนจะรับหรือไม่? วิเคราะห์กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

11.03.2022
  • LOADING...
เงื่อนไข 4 ข้อจากรัสเซียแลกยุติสงคราม ยูเครนจะรับหรือไม่? วิเคราะห์กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2022 ซึ่งเป็นวันที่ 12 หลังรัสเซียเดินหน้าบุกยูเครน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียระบุเงื่อนไข 4 ข้อให้ยูเครนปฏิบัติตามเพื่อยุติสงคราม

 

เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้ ได้แก่ 

 

  1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญของยูเครนเพื่อให้ยูเครนปฏิเสธเป้าหมายในการเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือต่างๆ
  2. การยอมรับว่าพื้นที่ไครเมียเป็นอาณาเขตของรัสเซีย
  3. การยอมรับว่าพื้นที่ที่ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์นั้นเป็นรัฐเอกราช
  4. การยุติปฏิบัติการทางทหารของยูเครน

 

ท่ามกลางการสู้รบที่ยังดำเนินอยู่, วิกฤตผู้อพยพครั้งรุนแรง, การประณามและการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากนานาชาติ, การยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของยูเครน, ท่าทีที่อ่อนลงต่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ของยูเครน, ตลอดจนการพร้อมประนีประนอมเกี่ยวกับโดเนตสก์และลูฮันสก์ ยูเครนจะรับเงื่อนไข 4 ข้อนี้ได้หรือไม่ และสงครามนี้จะไปในทิศทางใด ชวนวิเคราะห์ไปกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพ: ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

 

อาจารย์ประเมินว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนตอนนี้ใกล้จบหรือยัง เราอยู่ระยะไหน?

 

คิดว่าคำถามว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไร ผมว่าเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้นะครับ แต่สิ่งที่พอตอบได้ในระยะใน 2 สัปดาห์ที่สงครามเกิดขึ้นและเราเห็น คำถามในช่วงต้นจะเป็นคำถามเรื่องสงครามสั้นสงครามยาว ผมคิดว่าในช่วงต้นหลายฝ่ายประเมินว่ารัสเซียน่าจะใช้กำลังแล้วก็สามารถที่จะปิดเกมได้เร็วกว่าที่คิด หรือพูดง่ายๆ ก็คือกำลังรบของรัสเซียน่าจะบุกเข้ายึดเคียฟได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน หรือเต็มที่ที่สุดน่าจะไม่เกินสัปดาห์แรกนะครับ

 

ภาพ: สมาชิกของกองกำลังป้องกันดินแดนยูเครน ซึ่งเป็นทหารกองหนุนของกองกำลังยูเครน ยืนเฝ้าข้างโครงสร้างต่อต้านรถถังซึ่งปิดกั้นถนนใจกลางกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2022 (ภาพ: Sergei Supinsky / AFP)

 

แต่นี่เราคุยในสัปดาห์ที่ 2 นะครับ แล้วก็ครบ 14 วัน สิ่งที่น่าสนใจคือเคียฟไม่แตก คาร์คีฟที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครนก็ไม่แตก แปลว่าสงครามที่เราคิดว่าสั้นมันอาจจะไม่สั้นแล้วละ แล้วมีแนวโน้มว่าจะเป็นสงครามยาว เป็นแต่เพียงจะยาวสักแค่ไหนก็คงยังเป็นประเด็นที่ตอบได้ยาก

 

ถ้าเรามาวิเคราะห์เงื่อนไขที่ทางรัสเซียระบุว่ายื่นให้กับยูเครนไปแล้วด้วย ข้อแรกคือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เพื่อให้ยูเครนปฏิเสธเป้าหมายในการเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือต่างๆ) ซึ่ง ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน พูดไว้ว่า “They should make amendments to the constitution according to which Ukraine would reject any aims to enter any bloc.” มองในแง่นี้มันจะไปได้ไกลขนาดไหนว่า จะต้องไม่เข้าร่วมทั้ง NATO, EU และกลุ่มความร่วมมือต่างๆ ในอนาคตด้วยไหม

 

ผมคิดว่าข้อเสนอจากฝั่งรัสเซียมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ ผมคิดว่าความเป็นไปได้ เช่น ถ้ารัสเซียจะขอว่ายูเครนอย่าเข้า NATO ก็คงเป็นประเด็นที่ถกกันได้ แต่วันนี้เราเห็นตัวแบบคู่ขนานแล้วอาจจะต้องคิดต่อคือ การเข้าเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ของมอลโดวากับของจอร์เจีย ซึ่งผมคิดว่าสถานการณ์สงครามยูเครน เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ 2 รัฐที่อยู่ติดกับรัสเซีย และเป็นรัฐเก่าของรัสเซียเข้าสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สหภาพยุโรปเปิดรับได้เร็วนะครับ

 

เพราะฉะนั้นในกรณีของยูเครนถ้ารัสเซียยื่นมาตรการอย่างนั้น คำตอบมันตอบง่ายนะครับ รัสเซียก็คงต้องตั้งรัฐบาลที่เป็นสายนิยมรัสเซียขึ้นในยูเครน ผมเชื่อว่าปีก…คงต้องใช้ภาษาตรงๆ ว่า ถ้าปีกประชาธิปไตยที่ไม่ตอบรับกับสายรัสเซียยังเป็นรัฐบาลอยู่ในเคียฟ ผมคิดว่าโอกาสที่จะตอบรับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของรัสเซียในประเด็นที่จะไม่เข้าร่วมอะไรทั้งสิ้น แล้วก็แก้รัฐธรรมนูญ พูดจริงๆ นะครับก็คงจะเหมือนบอกว่า ห้ามยูเครนไปทำอะไรทั้งหมดในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งผมว่าถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสที่ยูเครนจะตอบรับข้อเสนอของรัสเซียคงไม่ง่ายเท่าไร

 

 

ภาพ: โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เซ็นเอกสารสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 (ภาพ: Telegram รัฐสภายูเครน)

 

แต่ว่าล่าสุดดูเหมือนเซเลนสกี (ประธานาธิบดียูเครน) ก็ไม่ได้ดึงดันที่จะเข้า NATO แล้ว อาจารย์มองว่ามันจะปูทางไปสู่ข้อนั้นได้ไหม

 

ผมคิดว่าปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ผมพูดเสมอว่าปัญหายูเครนของจริงอาจจะไม่ใช่ปัญหา NATO นะครับ เพราะว่าเราพูดกันเรื่องของ NATO มาตลอด แล้วกลัวว่า NATO จะเอาฐานทัพเอาอะไรไปตั้ง ผมเชื่อว่า NATO เองก็รู้อยู่ว่าการกระทำอย่างนั้นมันล่อแหลมกับปัญหาของรัสเซีย ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นไปได้แล้วยูเครนอยากขอเข้าในเบื้องต้น คงเป็นสหภาพยุโรป เพราะเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

 

และผมคิดว่ายูเครนเองอาจจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง พูดกันตรงๆ ก็คือไม่อยากเอาตัวไปผูกพันกับรัสเซียในแบบเก่า แล้วก็สอง มีความหวังว่าเศรษฐกิจอาจจะพึ่งทางซีกตะวันตกแล้วเป็นความหวังมากกว่าว่า ความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่ดีกว่า และยูเครนต้องการสำหรับอนาคต

 

สมมติว่าอยู่มาวันหนึ่ง ยูเครนจำเป็นต้องรับเงื่อนไขข้อนี้ อาจจะด้วยการที่เขายอมรับเอง หรือกลายเป็นว่ามีคนของรัสเซียสนับสนุนเข้าไปเป็นรัฐบาลของยูเครนแทน การที่เขาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ว่าจะไม่เข้าร่วมกลุ่มความร่วมมืออะไรเลย มันจะส่งผลกระทบต่อยูเครนอย่างไรบ้าง

 

ผมคิดว่าประเด็นนั้นคงเป็นประเด็นในอนาคต ถ้าการต่อสู้มาขนาดนี้ ผมคิดว่าคำตอบตอบง่ายอย่างหนึ่ง โอกาสที่จะพลิกฟื้นอำนาจของสายนิยมรัสเซียในการเมืองยูเครนคงไม่ง่าย เพราะว่าถ้าเราเห็นปัจจัยความรู้สึกของคนในสังคมที่ไม่ตอบรับกับรัสเซีย แล้วก็ไม่ตอบรับกับเงื่อนไขสงครามที่ปูตินบุก ผมว่ามันตอบชัดว่าถ้าสมมติ คิดเล่นๆ สงครามจบ เราลองโยนภาพไปเลย สงครามจบแล้วมีการเลือกตั้ง สมมติมีพรรคนิยมรัสเซียเกิดขึ้น ถามว่าพรรคนิยมรัสเซียในการเมืองยูเครนจะได้เสียงไหม

 

ผมว่าอย่างน้อยเฉพาะหน้าในระยะสั้นๆ คงหาเสียงลำบากด้วยนะ เพราะว่าวันนี้ประชาชนในยูเครนเป็นเอกภาพมาก แล้วเราเห็นชัดก็คือการทำโพลครั้งหลังสุด โดยไม่ทำในพื้นที่ที่รัสเซียเฉือนออกไปเป็นพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย จะเห็นชัดว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้เสียงสนับสนุนถึง 91% เสียงไม่สนับสนุนอยู่ที่ 6% แล้วก็อีก 3% ไม่ออกเสียง ผมว่า 91% สำหรับผู้นำในเวทีโลก ต้องถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

 

อาจจะตอบว่ามันเป็น 91% ภายใต้เงื่อนไขสงครามก็จริง แต่อย่างน้อยมันเท่ากับตอบเราว่า ฐานเสียงของประชาชนยูเครนมันส่งสัญญาณชัด คือไม่ตอบรับกับรัสเซียเท่าไร เพราะฉะนั้นสมมติสงครามจบแล้วการเมืองกลับสู่ภาวะปกติ โอกาสที่พูดง่ายๆ พรรคนิยมรัสเซียจะเกิดในยูเครนในระยะสั้นคงไม่ง่าย แล้วผมเชื่อวันนี้ประชาชนยูเครนอีกหลายส่วนจำภาพสงครามครั้งนี้ไว้เยอะนะครับ

 

นั่นหมายความว่า จริงๆ อาจารย์มองว่ารัสเซียถ้าจะบรรลุเป้าหมายข้อนี้ เขาต้องพยายามทำให้คนที่เขาสนับสนุนไปนั่งในรัฐบาลของยูเครน แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่ได้จะเกิดขึ้นง่ายๆ ใช่ไหม

 

ผมคิดว่าเปรียบเทียบง่าย ถ้าลองจินตนาการว่า ถ้าสมมติวันนี้ ยูเครนเป็นเหมือนเบลารุส ผมว่าปัญหามันจะจบไปอีกแบบนะ เผอิญถ้าเราเห็นผู้นำเบลารุสอยู่ในสายที่เป็นสายนิยมรัสเซียค่อนข้างชัด ในขณะที่เราเห็นผู้นำยูเครนเป็นสายนิยมตะวันตก คำถามเล่นๆ ว่า เอ๊ะ ในอนาคตรัสเซียจะสามารถสร้างผู้นำยูเครนให้เหมือนผู้นำแบบเบลารุสได้ไหม ผมว่าคำตอบระยะสั้นอย่างน้อยนะ เราไม่สามารถตอบระยะยาวได้มาก ระยะสั้นคงไม่ง่ายนะครับ

 

ภาพ: อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส (ภาพ: Sergei Sheleg / BELTA / AFP)

 

แล้วสำคัญ ผมคิดว่าต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งคือทั้งผู้นำยูเครน ทั้งประชาชนยูเครน มีความรู้สึกว่าการที่เขาไปอยู่กับสหภาพยุโรปมันมีนัย คือเขาอยู่กับฝั่งที่เป็นประชาธิปไตย วันนี้โจทย์ที่ซ่อนในยูเครนอีกโจทย์หนึ่งคือโจทย์ประชาธิปไตยกับโจทย์อำนาจนิยม และเขาเชื่อว่าการที่เอาตัวไปผูกพันกับรัสเซียในภาวะปัจจุบัน มันจะทำให้การเมืองกลับสู่ความเป็นอำนาจนิยม ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งคนในยูเครนอาจจะตอบด้วยตัวแบบกับเบลารุส ไม่ต้องคิดไกล แล้วผมว่าในทางกลับกัน เราก็เห็นชัดว่าในจอร์เจียหรือในมอลโดวาเอง วันนี้ก็กังวลกับปัญหานี้ แล้วพวกเขาก็ชัดนะครับว่าไม่ได้อยากอยู่กับรัสเซีย เพราะฉะนั้นโจทย์พวกนี้มันมี…อาจจะต้องใช้คำว่าอะไรครับ มันมีปัจจัยจิตวิทยาการเมืองของสังคมซ้อนอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นโอกาสที่สมมติยุคหลังเซเลนสกีจะมีผู้นำแบบผู้นำเบลารุสเกิดขึ้นได้ไหม ผมว่าก็คงต้องดูกันอีกระยะหนึ่งจริงๆ

 

แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แล้วมีแค่การส่งท่าทีว่าไม่เข้า NATO ก็ได้ แต่ยังมีท่าทีว่ายังอยากจะเข้า EU อาจารย์คิดว่ารัสเซียจะยอมไหม

 

ผมคิดว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับโต๊ะเจรจานะครับ แต่วันนี้สิ่งที่รัสเซียยั้งไม่อยู่คือจอร์เจียกับมอลโดวานะครับ สองสามวันที่แล้วต้องถือว่าจอร์เจียกับมอลโดวาเข้าสหภาพยุโรปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นในอนาคต มันก็อาจจะเป็นเงื่อนไขของการเจรจา ทางยูเครนอาจจะต้องบอกว่าการเข้าสหภาพยุโรปเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เงื่อนไขความมั่นคง เว้นแต่รัสเซียยังคงมีความกังวลกับปัญหาด้านความมั่นคงว่าการปล่อยให้ยูเครนเข้าไปใกล้กับตะวันตก มันเท่ากับมีนัยว่าตะวันตกเข้ามาใกล้รัสเซีย แล้วรัสเซียกังวล

 

เงื่อนไขข้อต่อมาก็คือเรื่องของการยอมรับว่าไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย อยากให้อาจารย์อธิบายสั้นๆ ถึงสถานะของไครเมียตอนนี้ แล้วก็อยากจะให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ว่ายูเครนจะรับเงื่อนไขข้อนี้ได้ไหม มีแนวโน้มแค่ไหน

 

คือผมคิดว่าเหตุการณ์การประท้วง หรืออาจจะต้องพูดว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยในยูเครนในปี 2014 ที่จัตุรัสไมดาน มันนำไปสู่วิกฤตอีกชุดหนึ่งที่ซ้อนกันนะครับว่า พูดง่ายๆ คือฝ่ายประชาธิปไตย ประสบความสำเร็จในการผลักดันผู้นำสายรัสเซียออกไปจากการเมืองยูเครนจริง แต่ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ตัดสินใจเรื่องใหญ่ คือตัดสินใจรุกเข้าไปยึดไครเมีย แม้ว่าที่จริงมันมีเงื่อนไขซ้อน ผมพูดทีเดียวเลยนะ แล้วก็รุกเข้าไปยึดในพื้นที่ที่อยู่ภาคตะวันออกของยูเครนคือดอนบาส หรือถ้าพูดปัจจุบันก็คือลูฮันสก์กับโดเนตสก์นะครับ สองส่วนนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ารัสเซียจะคืนไครเมียมั้ย ผมว่าโอกาสคงยากนะครับ เพราะว่าตรงไครเมียมันเป็นเงื่อนไขของฐานทัพเรือทางทหารนะครับ เพราะฉะนั้นถามว่าประเด็นนี้ โอกาสที่ยูเครนจะได้กลับคืนมาคงไม่ง่าย

 

ภาพ: การเฉลิมฉลองของชาวไครเมียหลังการทำประชามติเพื่อเข้าร่วมกับรัสเซียเมื่อปี 2014 (ภาพ: Dimitar Dilkoff / AFP)

 

เหมือนกับที่บอกว่าสุดท้ายแล้ว ยูเครนก็คงต้องรับกรณีของลูฮันสก์กับโดเนตสก์ให้เป็นรัฐอิสระที่เกิดขึ้น แต่ทุกคนก็รู้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสก์กับในโดเนตสก์ ส่วนหนึ่งก็คือสายรัสเซีย หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย

 

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าโจทย์ไครเมีย โจทย์ลูฮันสก์ โจทย์โดเนตสก์ หรือโจทย์ไครเมียกับดอนบาส อย่างไรมันคงจบอย่างที่เราเห็นนะครับ เพราะว่าในกรณีของดอนบาส สภาดูมาของรัสเซียออกกฎหมายผนวกแล้วนะครับ ตรงนั้นผมคิดว่าในเงื่อนไขหนึ่ง คงเปรียบเทียบได้กับกรณีพื้นที่ของจอร์เจียที่ถูกผนวกในปี 2008 เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในด้านหนึ่งอาจจะต้องยอม ไม่ได้บอกว่าคนยูเครนต้องยอม แต่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่เราเห็นมันคงเอากลับคืนยากเหมือนกันนะครับ

 

แล้วถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างสองพื้นที่ (ดอนบาสกับไครเมีย) ตอนนี้การวางอำนาจของรัสเซียในสองพื้นที่นั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

ผมว่าในดอนบาส เราเห็นชัดก็คือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ทั้งในลูฮันสก์และในโดเนตสก์ แล้วก็เห็นปฏิบัติการทางทหารว่าที่จริง เราเห็นปฏิบัติการทางทหารชัดตั้งแต่ปี 2014 นะครับ แต่ในไครเมีย รัสเซียใช้กำลังทหารของตัวเข้าไปยึดจริงๆ เพราะมีเงื่อนไข ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งชัด เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ นั่นเป็นเหตุผลที่วันนี้ทำไมเราเห็นสงครามเกิดที่มาริอูโปล แล้วก็เป็นพื้นที่ที่สมมติเราเปิดแผนที่จะเห็นเหมือนกับทางลูฮันสก์ โดเนตสก์ หรือตัดจากดอนบาสลงมา จะเจอมาริอูโปลก็คือท่าเรือที่อยู่ในทะเลอาซอฟ แล้วตัดออกมาอีกทีมันก็จะไปเชื่อมกับไครเมีย

 

ภาพ: แผนที่ยูเครน โดยจากพื้นที่แถบดอนบาสลงมาจะเป็นเมืองมาริอูโปล และถัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้คือไครเมีย

 

เพราะฉะนั้นส่วนนี้ผมคิดว่าในทางยุทธศาสตร์ มันคือการสร้างพื้นที่ที่เปิดการเชื่อมต่อ เพื่อเอาไครเมียไปเชื่อมต่อกับทั้งดอนบาส แล้วก็เชื่อมต่อกับทั้งตัวพื้นที่ใหญ่ของรัสเซียเอง

 

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (ประธานาธิบดียูเครน) บอกว่าประตูการเจรจาเรื่องของดอนบาสยังเปิดอยู่ มันก็ส่งสัญญาณอย่างที่อาจารย์บอกใช่ไหมว่า อาจารย์มองว่าสุดท้ายก็คงต้องยอม

 

ครับ ผมคิดว่าคำตอบมันอยู่ที่จอร์เจีย ปี 2008 จอร์เจียก็เสียสอง…ถ้าใช้สำนวนแบบไทยๆ ก็คือเสียสองจังหวัด ถ้าเราคิดแบบไทยนะครับ จะเรียกจังหวัดหรืออะไร มันยุ่งยากเหมือนกัน ผมคิดว่าจอร์เจียเสียไปสอง ผมเชื่อว่ารอบนี้ของยูเครนอาจจะเสียสอง บวกตัวใหญ่ที่สุดก็คือบวกไครเมีย 

 

ภาพ: ธงและตราสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ที่อาคารสภาประชาชนของพื้นที่ที่ประกาศตนเองเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนสตก์ (ภาพ: Alexander Nemenov / AFP)

 

แต่สิ่งที่ยูเครนจะเสียไม่ได้เลยคือโอเดสซา เพราะฉะนั้นการรบใหญ่อีกจุดหนึ่ง วันนี้ถ้าเราเปิดดูข่าว ในขณะที่เราเห็นข่าวที่เคียฟ เห็นข่าวที่คาร์คีฟนะครับ ท่าเรือที่โอเดสซายังเป็นจุดใหญ่ที่สำคัญ แต่ถ้าเสียตรงนี้ ยูเครนจะถูกปิดทางออกทะเล ผมคิดว่ายูเครนอาจจะต้องยอม ในอนาคต สมมติ…ต้องขออนุญาตนะครับ เราคุยกันวันที่ 14 ของสงคราม แปลว่าโอกาสในอนาคต มันอาจจะเสียมากกว่าลูฮันสก์ โดเนตสก์ และไครเมีย เพราะมันอาจจะรวมถึงมาริอูโปล ซึ่งเป็นท่าเรือที่อยู่ในทะเลอาซอฟนะครับ เพราะรัสเซียอาจจะสร้างเป็นเหมือนพื้นที่เชื่อม แต่ในกรณีของโอเดสซา ถ้ายูเครนเสียมันจะมีปัญหาเหมือนกัน เพราะเท่ากับปิดทางออกทะเลสำหรับยูเครนโดยตรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจจะต้องตามดูหลังจาก 14 วันแรกของสงคราม การรบต่อเนื่องจะเข้าสู่ตัวพื้นที่ท่าเรือของโอเดสซา อย่างไรแล้วกำลังรบของยูเครนจะสามารถรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ได้หรือไม่ 

 

นอกจากเงื่อนไขที่รัสเซียระบุ พื้นที่อื่นๆ รัสเซียก็บอกว่าก็ยังเป็นของยูเครนต่อไป ที่อาจารย์พูดโอเดสซานั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนของคาร์คีฟกับเคียฟเอง อาจารย์มองว่ารัสเซียมีจุดประสงค์อย่างไรกับสองพื้นที่นี้ แค่ต้องการเข้าไปปราบปราม หรือเข้าไปยึดเลย หรืออย่างไร

 

ผมคิดว่าบนเงื่อนไขสงคราม เคียฟตอบง่าย มันก็เหมือนสงคราม…จะบอกเป็นชุดความคิดแบบโบราณก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายสงครามมันจบด้วยการยึดเมืองหลวง ใช่ไหมครับ เพราะว่าการยึดเมืองหลวงมันจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลสายนิยมรัสเซีย เพราะฉะนั้นการที่กองทัพรัสเซียวันนี้เราจะเห็นข่าวว่าขบวนรบรัสเซียตั้งขบวนนาน แต่จน 14 วันผ่านไปเคียฟก็ไม่แตก แปลว่าในมิติส่วนหนึ่ง มันมีปัญหาทางทหารของฝ่ายรัสเซียแล้วละ

 

แต่ในอีกมุมหนึ่งการยึดเคียฟไม่ได้ มันก็จะตอบเราชัดเจนว่า จุดสุดท้ายของสงครามที่ปูตินคาดหวัง เราคงต้องอธิบายว่าปูตินก็คงต้องคาดหวังว่าคงจะต้องยึดเคียฟได้ในเร็ววัน แต่เอาเข้าจริงๆ 14 วันสถานการณ์สงครามไม่จบ แล้วก็การปิดล้อมเคียฟยังไม่สามารถดำเนินได้ทั้งหมด เท่ากับตอบเราว่าการยึดพื้นที่หลักทั้งเคียฟและคาร์คีฟยังเป็นปัญหาสำหรับรัสเซีย เพราะว่ามันมีนัยว่า การยึดได้มันคือการแสดงถึงชัยชนะทางทหารด้วยนะครับ แต่พอยึดไม่ได้มันจะเหมือนกับตอบเราว่าเอ๊ะ 14 วันในขณะที่วันนี้คงต้องพูดนะครับว่าเทียบกำลังรบของรัสเซียกับยูเครน ผมว่ามันไม่ต้องเทียบ ไม่ต้องเอามาคุยกันเลย ถ้าสำนวนคนเล่นกีฬาก็บอกว่ากำลังรบของรัสเซียกับยูเครนมันอยู่ในคนละลีกกัน ถ้าเป็นลีกฟุตบอลคนละลีกใช่ไหม อยู่คนละเลเวล คนละระดับกันเลย แต่วันนี้ไม่น่าเชื่อว่า 14 วันผ่านไป หัวขบวนรบรัสเซียก็ยังไม่สามารถเคลื่อนเข้าตีตัวเคียฟหรือตัวคาร์คีฟได้อย่างแท้จริงนะครับ

 

เพราะฉะนั้นเราพอจะสรุปได้ตรงนี้เลยไหมว่า จริงๆ แล้ว รัสเซียจะไม่ยอมให้เซเลนสกีนั่งเป็นประธานาธิบดีอีกต่อไป แล้วต้องการให้คนของเขามาเป็นรัฐบาล

 

ผมคิดว่านั่นคือจุดหมายปลายทาง แต่คำถามก็คือสิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทางของรัสเซีย มันก็คงไม่ใช่จุดหมายปลายทางของคนในยูเครนนะครับ แล้วอีกส่วนหนึ่งผมว่าวันนี้มันไม่ใช่โจทย์ยูเครนแล้ว มันเป็นโจทย์ของยุโรป ผมเชื่อว่าทางยุโรปตะวันตกเองโดยตัวสหภาพยุโรป วันนี้คงทิ้งยูเครนไม่ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่รัสเซียจะตั้งรัฐบาลนิยมรัสเซียในเคียฟก็คงไม่ง่ายนะครับ

 

เพราะฉะนั้นโดยภาวะอย่างนี้ แน่นอนว่าปูตินอาจจะอยากเห็นตัวแบบเหมือนกับอย่างที่ผมเปิดประเด็นว่าเพอร์เฟกต์ที่สุด มีผู้นำที่เป็นผู้นำท้องถิ่นขึ้นมา แล้วก็เป็นคนนิยมรัสเซียเหมือนกับที่เราเห็นในเบลารุส คือพอเป็นอย่างนั้นจบเลย รัสเซียไม่ต้องกังวล แต่คำถามคือตัวแบบเบลารุส มันจะเกิดขึ้นกับยูเครนได้ไหม ผมว่าวันนี้ถ้าเราตามข่าวแล้วถามใจคนยูเครน ผมว่าคงไม่ง่ายนะ

 

ภาพ: วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (ภาพ: Mikhail Klimentyev / SPUTNIK / AFP)

 

ผมว่ารอบนี้สิ่งที่มันจะสร้างปัญหาใหญ่ คงต้องยอมรับว่ามันจะสร้างความบาดหมางทางใจระหว่างคนยูเครนกับคนรัสเซีย แม้ว่าปูตินหรือคนรัสเซียส่วนหนึ่งอาจจะเชื่อในวาทกรรมที่ปูตินเสนอว่า ยูเครนเป็นพื้นที่ของจักรวรรดิรัสเซียโบราณ แต่ผมเชื่อว่าคำอ้างอย่างนี้ มาถึงวันนี้มันคงไม่ง่ายที่คนจะตอบรับ

 

แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันเกิด ใครที่ดูข่าวการอพยพนะครับ ผู้ลี้ภัยสงคราม ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน เราเห็นภาพชัด คือคงไม่ต้องมาเถียงนะว่ามีแต่ภาพตะวันตก แต่ผมคิดว่าภาพตะวันตกมันก็พอสะท้อนให้เห็น แต่ผมคิดว่ามันสะท้อนใหญ่ มันจะตอบเราอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกของประชาชนในยูเครนที่มีต่อรัสเซีย ผมใช้สำนวนง่ายๆ นะ ผมว่ารอบนี้มันเป็นอาการของความบาดหมางใจครั้งใหญ่นะครับ และโอกาสที่จะสมานแผลทางใจรอบนี้ไม่ง่ายนะครับ

 

แล้วถ้าสมมติมีใครไปทำโพลแล้วถามว่าอยากกลับไปอยู่กับรัสเซียไหม ผมว่าคำตอบมันตอบชัดที่ 91% ที่สนับสนุนเซเลนสกี เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะบอกว่าชวนกลับไปอยู่กับรัสเซียใหม่ ผมคิดว่าคงมีคนส่วนน้อย ยกเว้นคนที่เป็นเชื้อสายรัสเซียดั้งเดิม อย่างกรณีคนที่อยู่ในดอนบาสแต่เดิมนะครับ

 

เงื่อนไขข้อสุดท้ายคือให้ยูเครนยุติปฏิบัติการทางทหาร เปสคอฟบอกว่า “They should stop their military action and then no one will shoot,” พูดง่ายๆ ก็คือยูเครนหยุดก่อนแล้วจะไม่มีใครยิงกันอีก อาจารย์มองว่าข้อนี้ยูเครนจะยอมหรือจะทำได้ไหม หรือถ้าสมมติว่ายูเครนหยุดแล้วไม่โต้ตอบอะไรรัสเซียเลย รัสเซียจะหยุดจริงๆ ไหม

 

ผมคิดว่าจะถ้ายูเครนหยุด รัสเซียก็คงยึดเคียฟ ตอบง่ายนะครับ แล้วผมว่าข้อเสนออย่างนี้ในภาวะสงคราม มันตอบได้อย่างหนึ่ง มันไม่มีใครรับ เพราะมันไม่ใช่ในภาวะสันติ แต่เป็นในภาวะสงครามที่การรบเกิดแล้วก็บอกให้ฝ่ายที่อ่อนแอกว่าว่า หยุดยิงก่อนสิแล้วฉันจะหยุด

 

ผมว่าในสถานการณ์จริง วันนี้สิ่งที่เราเห็น การต่อต้านรัสเซียในยูเครนในทางทหารประสบความสำเร็จมากกว่าที่เราคิด ผมพูดเสมอว่าคนเรียนวิชาทหารแล้วนั่งดูสงครามยูเครนแทบจะต้องเรียนใหม่เลยนะครับ แล้วในอีกด้านหนึ่ง วันนี้คงต้องยอมรับว่าเราเห็นสิ่งที่เรียกกันว่า Foreign Fighter หรือนักรบอาสาสมัครจากต่างชาติ วันนี้ก็เข้าสู่พื้นที่การรบในยูเครนแล้ว เข้าสู่พื้นที่การรบในเคียฟแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นคำว่าให้ยูเครนหยุดยิงก่อนแล้วรัสเซียจะหยุด ผมว่าวันนี้ไม่ใช่คำตอบแล้วนะครับ

 

วันนี้คำตอบมันอยู่ที่โต๊ะเจรจาว่า ผลพวงจากการเจรจารอบที่ต้องใช้คำว่ารอบที่ 4 แล้วนะ ผมว่ารอบที่ 3 มันคงผ่านไปแล้วก็ไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมชัด แต่คำถามก็คือรอบที่ 4 มันจะสามารถออกดอกออกผลในทางการเจรจาบนโต๊ะทางการทูตได้มากกว่าที่เราเห็นไหม

 

 

ภาพ: การเจรจาระหว่างผู้แทนของฝ่ายรัสเซียและฝ่ายยูเครนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2022 (ภาพ: Maxim Guchek / BELTA / AFP)

 

คือผมอาจจะพูดในฐานะคนที่สอนการเมืองระหว่างประเทศว่า ไม่ว่าสงครามจะเกิดอย่างไร ก็ต้องไม่ละเลยว่าโต๊ะเจรจาจะไม่ถูกล้มนะครับ แต่ถ้าโต๊ะเจรจาถูกล้ม มันเท่ากับปิดประตูทุกอย่างแล้ว มันจะเหลือทิศทางอย่างเดียวคือสถานการณ์สงครามใหญ่ ผมไม่ได้บอกว่าสงครามไม่ใหญ่นะ แต่ผมกำลังบอกว่ามันยังทำให้สถานการณ์สงคราม มันมีช่องออกอยู่สักนิดหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเราจะโลกสวยที่เชื่อว่าโต๊ะเจรจาแก้ไขปัญหาทุกอย่าง แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าสงครามจะเดินไปถึงจุดอย่างไร อย่างไรก็ต้องเข้าสู่โต๊ะเจรจานะครับ

 

ผมคิดว่าถ้าย้อนกลับไปไกลๆ มันก็คงไม่ต่างจากตัวแบบเกาหลีนะครับ 1953 คือการเจรจาที่ปันมุนจอม นั่นก็เป็นสเกลของสงครามขนาดใหญ่หรือตัวแบบ 2014 ในยูเครนนะครับ วิกฤต 2014 ก็จบในการเจรจาหรือความตกลงที่มินสก์ 2015 คำตอบเราในมิติหนึ่งที่ชัดคือ สงครามต่อให้รบหนักอย่างไร ก็จบลงด้วยโต๊ะเจรจาอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ชวนอาจารย์วิเคราะห์ต่อจากจุดนี้ อย่างที่อาจารย์บอกว่ามันมีเงื่อนไขบางข้อที่อย่างไรยูเครนก็ไม่น่าจะรับได้ หรือสมมติว่าอาจจะไม่ยอมรับทั้งหมดเลย อาจารย์คิดว่าสถานการณ์จะเดินไปสู่จุดไหนบ้าง แล้วนอกจากการพึ่งโต๊ะเจรจาแล้ว เรายังจะมีวิธีการอื่นในการหาทางออกให้กับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

 

ผมคิดว่าสถานการณ์มันตอบได้ง่ายนะครับ ข้อเสนอ 4 ข้อให้ยูเครนหยุดยิงก่อน ให้ยูเครนเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ให้ยูเครนยอมรับไครเมียว่าเป็นของรัสเซีย ให้ยูเครนยอมรับว่าดอนบาส คือลูฮันสก์กับโดเนตสก์เป็นรัฐอิสระ สังเกตอะไรอย่างไหมครับ เอ๊ะ แล้วตกลงข้อเรียกร้องฝั่งยูเครนไม่มีเลย หรือไม่มีเลยใช่ไหมว่ารัสเซียจะอย่างไร ยกเว้นข้อแรกบอกว่าจะยูเครนหยุดแล้วฉันจะหยุด

 

ภาพ: ผู้คนอพยพข้ามชายแดนยูเครนไปยังโปแลนด์ (ภาพ: Louisa Gouliamaki / AFP)

 

แต่คำถามในทางทหารคือ วันนี้เราเห็นตัวพื้นที่การอพยพ หรือ Humanitarian Corridor ซึ่งหลายฝ่ายโดยข้อมูลที่ออกมาว่า รัสเซียละเมิดเพราะมีการยิงเข้าใส่พื้นที่การอพยพนะครับ เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนี้ ผมว่า 4 ข้อมันตอบชัด ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ยูเครนคงไม่รับ

 

ถ้ายูเครนไม่รับถามว่าจะเกิดอะไร ผมว่ามันก็คงต้องใช้สํานวนไทยง่ายๆ คือสถานการณ์สงครามอาจจะมีอาการที่ลากยาวไปนะครับ ส่วนจะจบอย่างไร จะออกผลอย่างไร ผมพูดเสมอว่า 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์แรก เราคุยกัน มันเหมือนแค่อะไรครับ บทเริ่มต้นของสงครามเท่านั้นนะครับ สมมติเปรียบเทียบเกาหลี เกาหลีรบ 1950 ไปจบที่ 1953 สงครามเกาหลียาวถึง 3 ปีนะครับ แล้วรบใหญ่ เอาละ เราคงไม่คาดหวังว่าสงครามในโลกปัจจุบัน ในสถานการณ์ปัจจุบัน มันจะรบยาวแบบที่เกาหลีนะครับ แต่ถ้าเราดูสงครามในหลายสงคราม มันก็อาจจะไม่สั้นอย่างที่ใจเราอยากเห็น

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจจะต้องนั่งดูก็คือ คงต้องดู แต่ก็อยากจะฝากนะครับ ท่านทั้งหลายที่ดู คือขออย่าดูสงครามเหมือนเชียร์มวย เพราะว่าชีวิตของประชาชน ของคนที่เราเห็น มันสูญเสียจริงๆ นะครับ

 

ภาพของคนเมื่อวาน ผมขออนุญาตเล่านิดหนึ่ง นั่งดูข่าวยุโรปนะครับ เห็นครอบครัวหนึ่งหลายท่านที่ดูข่าวต่างประเทศคงทราบ เสียชีวิตเกือบหมดนะครับ ระหว่างที่กำลังอพยพออก กระสุนปืนใหญ่รัสเซียตกใส่ แล้วภาพที่ดูแล้วสะเทือนใจมากก็คือ ตัวกระเป๋าเดินทางยังวางอยู่ แล้วก็เขาเอาผ้าไปคลุมไว้ คือเราดูแล้วมันไม่เป็นอะไรที่…ต้องใช้คำว่าไม่เป็นอะไรที่ดีเลยกับสถานการณ์

 

หรืออีกมุมหนึ่งนะครับ กลายเป็นภาพที่สื่อตะวันตกเอามาใช้ เป็นภาพที่พ่อส่งลูกสาวขึ้นรถไฟ แล้วก็เห็นหน้าลูกผ่านกระจก แล้วพ่อเอามือแตะกระจกรถไฟ ผมว่าเราดูเราสะเทือนใจนะภาพพวกนี้ หรือภาพหลายภาพที่เห็นนะครับ พ่อส่งแม่กับลูกที่ชายแดนนะครับ กอดนะ เมื่อเช้าผมเห็นภาพหนึ่งนะครับ สื่อฝรั่งเศสสื่อเยอรมนีเอามาออก ลูกเล็กๆ ลูกก็พยายามจะกอดพ่อ คือไม่ยอมไปกับแม่

 

ภาพ: ผู้เป็นพ่ออำลาครอบครัวที่กำลังขึ้นรถไฟเพื่ออพยพในเมืองโอเดสซา (ภาพ: Bulent Kilic / AFP)

 

ผมว่าภาพพวกนี้ดูแล้วอยากฝากพวกเราว่า สงครามมันร้ายแรง แล้วก็อย่ารู้สึกว่าดูแล้วเราต้องเหมือนกับเชียร์ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้นะครับ ผมว่าดีที่สุด สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ วันนี้พี่น้องประชาชนในยูเครนเขาสู้ด้วย 2 เรื่องใหญ่ คือหนึ่ง ยูเครนเป็นเอกราชจากรัสเซียในสมัยใหม่ประมาณ 30 ปีแล้วนะครับ แต่ใน 30 ปี ผมว่าพี่น้องประชาชนในยูเครน อยากเห็นประเทศตัว เราเวลาเราได้ยินคำสัมภาษณ์ เขาเรียกประเทศเขา My Country เขาใช้คำนี้ทุกคำก็แปลว่าความรู้สึกมันไม่ใช่ My Russian แต่เป็น My Country ซึ่งบอกอัตลักษณ์ในทางภูมิรัฐศาสตร์ชัดว่า นี่คือประเทศของฉัน

 

กับอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่ามันสะท้อนชัดคือกระแสประชาธิปไตย อย่าไปโทษว่าตะวันตกเอากระแสประชาธิปไตย ผมว่ามันไม่ใช่ แต่มันเป็นกระแสที่ทำให้คนยูเครนรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้ปกครอง ไม่ใช่ผู้ปกครองมาจากการแต่งตั้งที่มอสโก หรือผู้ปกครองเป็นผู้ปกครองในแบบอำนาจนิยม ที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนออกเสียงหรือแสดงความเห็นอย่างไรได้

 

ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในมุมหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าสงครามยูเครนรอบนี้มันซ่อนโจทย์ทั้งเงื่อนไขการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ การขยายอิทธิพลของรัสเซียที่ต้องการกลับเข้ามาควบคุมพื้นที่ที่ตัวเองเคยเสีย แต่อีกด้านหนึ่ง เราคงต้องยอมรับว่ามันเป็นการต่อสู้ของกระแสประชาธิปไตยกับกระแสอำนาจนิยมในบริบทของยูเครนเองนะครับ แล้วที่สำคัญเราเห็นการต่อสู้ของความต้องการที่จะดำรงความเป็นรัฐเอกราช

 

 

ภาพ: ทหารยูเครนนั่งรถถังไปยังพื้นที่แนวหน้าในภูมิภาคลูฮันสก์ของยูเครนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 (ภาพ: Anatolii Stepanov / AFP)

 

ผมว่านี่แหละคือสิ่งที่สังคมไทยอาจจะต้องเรียนรู้ว่า คำว่าระเบียบระหว่างประเทศที่เราพูดถึงเสมอ มันคือระเบียบที่ยอมรับความเป็นรัฐเอกราชแล้วหวังว่ารัฐมหาอำนาจใหญ่จะไม่ใช้กำลังในการเปลี่ยนเส้นพรมแดนของรัฐเล็ก ยูเครนเป็นเหมือนบททดลองของโลกในศตวรรษที่ 21 ให้เราเห็นนะครับ เพราะฉะนั้นการที่ไทยลงเสียง อาจจะไม่ถูกใจหลายคนว่า ทำไมไทยไม่ออกเสียงในแนวทางเดียวกับจีนคือไม่ส่งเสียงเลย ขอไทยอยู่เงียบๆ ได้ไหมเพราะไทยไม่เกี่ยว ไทยอยู่ไกลยุโรป แต่ผมคิดว่าวันนี้ต้องให้เครดิตท่านทูตไทยที่นิวยอร์ก ทูตไทยประจำ UN ที่ตัดสินใจพาไทยเดินกับกระแสโลก

 

แต่ผมคิดว่าในการพาไทยเดินกับกระแสโลกต้องอธิบายว่า เป็นเพราะไทยเราเชื่อว่าการรักษาเอกราชเป็นประเด็นสำคัญ และเราเชื่อว่าการไม่ละเมิดเอกราชของรัฐมหาอำนาจเป็นประเด็นสำคัญ และอย่างน้อยการรักษาจุดยืนอย่างนี้ก็จะเป็นการปกป้องตัวไทยเอง และสำคัญจะมีนัยกับการเมืองเอเชียในอนาคตอีกด้วย

 

ภาพ: Maxim Guchek / BELTA / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising