ทางการรัสเซียมีแนวโน้มกลับมาควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนบางส่วน เพื่อสกัดกั้นการตกต่ำของเงินรูเบิล หลังค่าเงินดิ่งแตะระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่การทำสงครามกับยูเครน
ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 สิงหาคม) ระหว่างรัฐบาลและผู้ส่งออกของรัสเซียได้มีการหารือของคำสั่งการกำหนดรายได้จากการส่งออก ก่อนที่ธนาคารแห่งรัสเซียจะประกาศการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยฉุกเฉิน แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องระบุว่า ในตอนนี้ยังไม่บรรลุความคืบหน้าใดๆ และอาจมีการประชุมอีกครั้งปลายสัปดาห์นี้
ธนาคารแห่งรัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 8.5% เป็น 12% ในวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากที่ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าทะลุ 100 ต่อดอลลาร์ในช่วงสั้นๆ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว การกำหนดรายได้จากการส่งออกพร้อมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การจำกัดการโอนเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคาร โดยหวังช่วยยับยั้งการร่วงลงของรูเบิลหลังสงครามเริ่มขึ้น
เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นเพียงชั่วคราวหลังจากการประกาศอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะกลับสู่การหดตัว และยังคงเป็นหนึ่งในสามสกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาของปีนี้ โดยภายในปีนี้ลดลงไปแล้วถึง 25%
ซอฟยา โดเน็ตส์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Renaissance Capital กล่าวว่า หากไม่มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การแทรกแซงของธนาคารกลาง หรือบังคับขายรายได้จากการส่งออก อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่ารูเบิลจะแข็งค่าขึ้น
แต่เนื่องจากเงินทุนสำรองของรัสเซียส่วนใหญ่ถูกระงับไปแล้วจากการคว่ำบาตรของนานาประเทศ ธนาคารกลางรัสเซียจึงไม่ค่อยเต็มใจที่จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดสกุลเงินโดยตรง
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผู้ส่งออกของรัสเซียขายรายได้ในตลาดไปแล้วกว่า 80% ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย เอลวิรา นาบิลลินา เคยกล่าวในเดือนกรกฎาคมว่า ธนาคารกลางรัสเซียกำลังติดตามการขายเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดจากผู้ส่งออก และมีเพียง 1% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้นที่ยังคงอยู่นอกประเทศ
อเล็กซ์ ไอซาโคฟ นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย กล่าวว่า สาเหตุการอ่อนค่าของเงินรูเบิลนั้นเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และแทบไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับภาวะเงินทุนที่สั่นคลอน ข้อจำกัดด้านเงินทุนจะสร้างความเสียหายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่รัสเซียพยายามสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร
อ้างอิง: