×

ลือกระฉ่อนวงการธนาคาร KTB อาจจะควบรวม TMB หลัง ครม. ไฟเขียวกฎหมายใหม่

20.04.2018
  • LOADING...

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเนื้อหาสำคัญคือ การยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ถือหุ้นกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกันและเกิดเงินได้เกินกว่าเงินทุน (Capital Gain) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แก่ธนาคารพาณิชย์กรณีที่ควบรวมกิจการกัน ซึ่งต้องเป็นเงื่อนไข ‘การควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน’ เท่านั้น โดยธนาคารที่ควบรวมกันแล้วสามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมตามขนาดสินทรัพย์ดังนี้

  1. ควบรวมแล้วมีสินทรัพย์ 1-2 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายได้ 1.25 เท่า (25% ของรายจ่ายจริง)
  2. ควบรวมแล้วมีสินทรัพย์ 2-3 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า (50% ของรายจ่ายจริง)
  3. ควบรวมแล้วมีสินทรัพย์ 3-4 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายได้ 1.75 เท่า (75% ของรายจ่ายจริง)
  4. ควบรวมแล้วมีสินทรัพย์เกินกว่า 4 ล้านล้านบาท หักรายจ่ายได้ 2 เท่า ( 100% ของรายจ่ายจริง)

 

หลังจากที่หลักการดังกล่าวอนุมัติก็เกิดคำถามตามมาว่า จะมีธนาคารพาณิชย์ใดบ้างที่จะควบรวมกัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารที่มีสินทรัพย์เกินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงและแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกควบรวม

 

แต่ก็มีข่าวลือในวงการการเงินว่า มีแนวโน้มที่แบงก์เล็กอย่างธนาคารทหารไทยหรือ TMB จะควบรวมกับยักษ์ใหญ่แบงก์รัฐอย่างธนาคารกรุงไทยหรือ KTB เนื่องจากก่อนหน้านี้บางส่วนกังวลเรื่องปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ TMB ซึ่งจากข้อมูลงบการเงินปี 2560 พบว่า TMB มีสินทรัพย์กว่า 8.4 แสนล้านบาท มีรายได้กว่า 4.9 หมื่นล้านบาท กำไรกว่า 8.6 พันล้านบาท ขณะที่ KTB มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ถึงกว่า 2.8 ล้านล้านบาท มีรายได้ 1.56 แสนล้านบาท และกำไรกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางฝ่ายมองว่าเป็นไปได้ที่ TMB ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกือบ 26% จะถูกควบรวม ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ KTB และกฎหมายฉบับนี้กระทรวงการคลังก็เป็นคนชงเรื่องเอง

 

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์มองว่า TMB ก็ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอยู่ การจัดการคุณภาพหนี้ก็ดีขึ้น ที่สำคัญคือทั้ง KTB และ TMB อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการ เพราะต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นให้ได้ว่าจะควบรวมกันเพราะเหตุใด จำเป็นต้องทำหรือไม่

 

ขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้บริหารธนาคารทั้งสองแห่งเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าวแต่อย่างใด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising