×

50 ปีของไฟต์ในตำนาน ‘Rumble in the Jungle’

31.10.2024
  • LOADING...
Rumble in the Jungle

วันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 50 ปีของศึกมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่โลกนี้เคยมีมา 

 

มูฮัมหมัด อาลี ดวลพลังกำปั้นกับ จอร์จ โฟร์แมน ในศึกที่ได้รับการขนานนามว่า ‘Rumble in the Jungle’ 

 

เรื่องราวและความทรงจำมากมายจากวันนั้นยังคงทรงพลังในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อยจนถึงวันนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยระยะเวลาที่ยาวนานผ่านมา มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต่อให้อาจจะเคยได้ยินไฟต์ในตำนานนี้ แต่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น

 

บนสังเวียนที่การชกมวยไม่ได้มีความหมายถึงเพียงแค่การชกมวยเท่านั้น แต่มีเรื่องของการเมือง การต่อสู้กับการเหยียดสีผิว และชัยชนะของทวีปแอฟริกา รวมอยู่ด้วย

 

ในความเป็นจริงแล้วการขึ้นสังเวียนระหว่าง มูฮัมหมัด อาลี เจ้าของวลีอมตะ “โบยบินดุจผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง” (Float like a butterfly, sting like a bee) กับ จอร์จ โฟร์แมน ควรจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 30 ตุลาคม ตั้งนานแล้ว

 

คำว่านานแล้วหมายถึงระยะเวลาร่วม 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาตามกำหนดการเดิมที่นักชกทั้งสองคนจะขึ้นประลองเชิงบนสังเวียนกัน

 

แต่หากจะถามถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด บางทีเราต้องย้อนเวลากลับไปไกลกว่านั้น

 

คำว่าไกลกว่านั้นหมายถึงระยะเวลาร่วม 10 ปีเต็มเลยทีเดียว

 

3 เดือนให้หลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี และ 3 สัปดาห์หลังจากที่วง The Beatles เดินทางมาถึงนิวยอร์กเป็นครั้งแรก คือช่วงเวลาที่ แคสเชียส เคลย์ สร้างชื่อให้กับตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการโค่น ซอนนี ลิสตัน คว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ

 

 

แต่ไม่กี่เดือนต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มูฮัมหมัด อาลี เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนเข้าร่วมกับกลุ่มชาติอิสลาม ซึ่งเป็นชื่อที่เขาใช้ไปตลอดลมหายใจที่เหลือ

 

โชคชะตาของอาลีพลิกผัน เมื่อจุดยืนที่แข็งกร้าวของเขาในการต่อต้านสงครามเวียดนาม ด้วยการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรบในนามกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม

 

“ทำไมพวกเขาถึงขอให้ผมสวมชุดเครื่องแบบและเดินทางไปไกลนับหมื่นไมล์ เพื่อที่จะทิ้งระเบิดและยิงกระสุนใส่ผู้คนในเวียดนาม ในขณะที่คนที่ถูกเรียกว่านิโกรในหลุยส์วิลล์ยังถูกปฏิบัติเยี่ยงสุนัข และไม่มีแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” อาลีฝากคำถามใหญ่ให้แก่โลก

 

เรื่องนี้ทำให้เขาถูกจับกุมตามกฎหมายและถูกริบเข็มขัดแชมป์โลก ไปจนถึงการจำกัดอิสรภาพด้วยการริบหนังสือเดินทางและสิทธิ์ในการขึ้นชก

 

นักชกผู้มีสไตล์การชกที่น่าตื่นเต้นที่สุดกลับไม่สามารถขึ้นชกได้ในเวลานั้น 

 

กว่าที่อาลีจะได้รับอิสรภาพและสิทธิ์ในการขึ้นสังเวียนของเขากลับมาเวลาก็ผ่านไปแล้วถึง 3 ปี และกว่าที่เขาจะได้สิทธิ์ในการขึ้นชกเพื่อทวงเข็มขัดแชมป์โลกกลับคืนมาก็ต้องใช้เวลาอีกร่วม 7 ปีเลยทีเดียว

 

โดยที่การชกในครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินอเมริกาด้วย

 

แต่เกิดขึ้นที่ซาอีร์ หรือสาธารณรัฐคองโกในปัจจุบัน

 

ซาอีร์ในวันนั้นยังมีกลิ่นเลือดและควันไฟของสงครามจากการปฏิวัติของประธานาธิบดีโมบูตู ผู้นำทางทหารที่ยึดอำนาจมาครองได้ในเวลานั้น

 

ในมุมมองของโมบูตู เขาต้องการจัดการแข่งขันมวยที่ยิ่งใหญ่ที่จะเป็นดังงานเฉลิมฉลองของประเทศและเป็นการโปรโมตตัวเอง ไม่เพียงแต่ชาวซาอีร์หรือชาวแอฟริกา แต่รวมถึงผู้คนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกให้รู้จักผู้นำของซาอีร์ด้วย

 

นั่นทำให้เขาต้องการนักชกที่มีชาติกำเนิดเป็นชาวแอฟริกันมาขึ้นชกโดยมีตำแหน่งแชมป์โลกเป็นเดิมพันบนแผ่นดินกาฬทวีป

 

จอร์จ โฟร์แมน คือผู้ครองเข็มขัดแชมป์โลกในเวลานั้น โดยที่ผู้ท้าชิงคือ อาลี นักชกที่มีจุดยืนชัดเจนในความภาคภูมิใจของสายเลือดชาวแอฟริกัน

 

ในใจของอาลี ต่อให้ไม่ใช่เขาที่จะได้โอกาสในการชกชิงแชมป์โลกกับโฟร์แมน หรือได้รับคำเชิญจากโมบูตูให้มาที่ประเทศซาอีร์ การขึ้นชกบนแผ่นดินของบรรพบุรุษคือสิ่งที่อยู่ในความฝันของเขามาโดยตลอดเช่นกัน

 

สองนักชกคนดำบนสังเวียนคนดำ ก็ต้องมีโปรโมเตอร์เป็นคนดำอย่าง ดอน คิง ผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

 

อย่างไรก็ดี ชื่อของรายการที่เดิมถูกตั้งไว้ว่า ‘จากเรือทาสสู่แชมเปียน’ (From the Slave Ship to the Champion) ถูกโมบูตูสั่งให้เปลี่ยนทันที รวมถึงเผาทำลายโปสเตอร์การแข่งขันทุกอย่างทั้งหมด เพราะไม่อยากให้พูดถึงเรื่องของคำว่า ‘ทาส’ อีกต่อไป

 

ชื่อรายการจึงถูกเปลี่ยนใหม่เป็น ‘Rumble in the Jungle’ ในเวลาต่อมา

 

 

สำหรับอาลีแล้ว นี่คือไฟต์แห่งชีวิตที่เขารอคอย “ผมอยากที่จะสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างคนดำอเมริกันกับคนแอฟริกัน ไฟต์นี้คือไฟต์ที่มีความหมายถึงเรื่องของปัญหาการเหยียดสีผิวและปัญหาสงครามในเวียดนามทุกสิ่งทุกอย่าง

 

“Rumble in the Jungle คือไฟต์ที่จะทำให้คนทั้งประเทศได้ตระหนักถึงเรื่องนี้” 

 

ความตั้งใจของอาลีสำเร็จด้วยดี

 

ไฟต์นี้มีผู้คนที่รอรับชมไม่เพียงเฉพาะในซาอีร์ แอฟริกา หรือสหรัฐอเมริกา แต่รวมทั่วโลกแล้วมีคนเฝ้าติดตามกันถึง 1 พันล้านคน

 

โดยที่ผู้คนในซาอีร์นั้นแทบทุกคนพูดในคำเดียวกัน

 

“Ali, bomaye”

 

ฆ่ามันเลยอาลี!

 

ถึงเสียงเชียร์จากชาวซาอีร์จะกระหึ่ม แต่ในมุมมองของผู้รู้แล้ว คนที่มีโอกาสจะกลายเป็นฆาตกรบนสังเวียนไม่ใช่อาลี แต่เป็นโฟร์แมน

 

ในขณะนั้นแชมป์โลกคนหนุ่มวัยเพียง 25 ปี พกสถิติชนะรวด 40 ไฟต์ โดยในจำนวนนั้นเป็นการชนะน็อกเอาต์ถึง 37 ไฟต์ เรียกว่ากำลังสด และได้รับการยกย่องจากคนในวงการว่านี่คือนักชกผู้มีพลังหมัดที่ร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ตรงข้ามกับอาลีที่เวลาทำให้วัยล่วงเลยมาถึง 32 ปีแล้ว ร่างกายของเขาเลยจุดสูงสุดของการเป็นนักชกไปเป็นที่เรียบร้อย และก่อนหน้าจะได้โอกาสในการท้าชิงแชมป์กับโฟร์แมน เขาแพ้ให้กับ โจ เฟรเซียร์ และ เคน นอร์ตัน ไปก่อนหน้านี้

 

โดยที่ทั้งเฟรเซียร์และนอร์ตันเป็นเหยื่อกำปั้นเหล็กของโฟร์แมนที่เอาชนะน็อกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

 

กูรูมองว่าโอกาสที่โฟร์แมนจะชนะนั้นสูงถึง 3 ต่อ 1 ในการเดิมพัน และมีความกังวลว่าการขึ้นชกในไฟต์นี้ของอาลีอาจหมายถึงการบาดเจ็บรุนแรง หรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

Rumble in the Jungle

 

“สำหรับผมไฟต์นี้ก็เหมือนไฟต์การกุศลแค่นั้น” โฟร์แมนบอกกับ BBC ในเวลานั้น “ผมได้ยินว่าอาลีกำลังลำบากมาก ผมเลยคิดว่าผมอยากจะช่วยเขาสักหน่อย ผมจะได้เงิน 5 ล้านดอลลาร์จากการชกครั้งนี้ และผมก็จะแบ่งให้เขา 5 ล้านดอลลาร์ด้วย”

 

การชกครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของมวยอย่างเดียว แต่เป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ของชาวซาอีร์ โดยที่ประธานาธิบดีโมบูตูเล่นใหญ่เชิญนักดนตรีระดับโลกมาร่วมแสดงด้วยมากมายในงานเทศกาลดนตรีที่มีต่อเนื่องถึง 3 วัน ไม่ว่าจะเป็น James Bron, B.B. King และ Bill Withers 

 

ขณะที่พระเอกของงานอย่างโฟร์แมนเดินทางถึงสนามบินในซาอีร์ด้วยชุดทางการในแบบของชาวตะวันตก

 

ตรงข้ามกับอาลีที่มาในชุดของชาวพื้นเมืองแอฟริกัน

 

แต่หัวใจสำคัญของงานที่เกิดการชกผิดคิวไปเล็กน้อย เนื่องจากโฟร์แมนได้รับบาดเจ็บมีแผลแตกที่ศีรษะ การชกจึงต้องเลื่อนออกไปจากเดิมอีก 6 สัปดาห์ด้วยกัน

 

สุดท้ายเมื่อทุกอย่างพร้อม เสียงระฆังดังขึ้นเป็นการเริ่มไฟต์แห่งตำนาน โฟร์แมนเริ่มเปิดฉากด้วยกำปั้นหนักๆ ของเขาทันที โดยที่อาลีดูเหมือนจะต้องพยายามเอาตัวรอดให้ได้ในยกแรก แต่ในยกที่ 2 เมื่อเวลาผ่านไปได้ 30 วินาที อาลีเริ่มงัดแผนใหม่มาใช้

 

จริงๆ แล้วภาพจำของอาลีในสายตาผู้คนคือนักมวยผู้พลิ้วไหวดุจผีเสื้อ สามารถโยกหลบหมัดของคู่ชกได้อย่างสบายๆ และได้รับการขนานนามลีลานั้นว่า ‘Ali Shuffle’ ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่การชกในปี 1966 แต่ในปี 1974 ซึ่งเขาอายุถึง 32 ปีแล้ว ความคล่องตัวที่ลดลงทำให้ต้องใช้แผนใหม่

 

แผนที่ว่าก็คือ การใช้หลังพิงเชือกแล้วคอยกันหมัดหนักๆ ของโฟร์แมน หมัดไหนบล็อกได้ก็บล็อก หมัดไหนบล็อกไม่ได้ก็ทนเอา แล้วถ้ามีจังหวะก็ค่อยต่อยสวน ซึ่งในเวลาต่อมาแผนนี้ถูกเรียกว่า Rope-a-Dope

 

แท็กติกการชกแบบนี้ทำให้อาลีรอดตัวจากกำปั้นเหล็กของคู่ชกได้อยู่หลายยก

 

หมัดที่ว่าหนักของโฟร์แมนค่อยๆ อ่อนแรงลงเรื่อยๆ ความมั่นใจของอาลีเริ่มกลับมา ตอนนี้เขารู้แล้วว่าเขามีโอกาสชนะ

 

 

จนกระทั่งการชกเข้าสู่ยกที่ 8 อาลีสบโอกาสปล่อยหมัดหนึ่งสองใส่โฟร์แมนจนร่วงลงไปกองกับพื้น

 

นั่นคือวินาทีที่ มูฮัมหมัด อาลี ไม่เพียงได้รับชัยชนะ แต่ยังได้รับการยกย่องให้เป็นนักชกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์​ของโลกด้วย

 

แต่ชัยชนะใน Rumble in the Jungle ของอาลีไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ไฟต์ในความทรงจำของผู้คนเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ในมิติทางสังคม การจุดพลุไฟให้สัญญาณในการต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิว และเรื่องของสงครามเวียดนาม (ซึ่งยุติในปีต่อมา) 

 

นี่คือไฟต์ที่มีความหมายมากกว่าแค่เรื่องของเกมกีฬาและมีราคามากกว่าเงิน

 

เพราะมันคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่เพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising