สถานีโทรทัศน์ CNBC รวบรวมความเห็นของเหล่านักวิเคราะห์และบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก ซึ่งออกมาอธิบายถึงสาเหตุที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เทียบดอลลาร์และยูโรในวันอังคารที่ผ่านมา (21 มิถุนายน) สวนทางกับความตั้งใจของพันธมิตรชาติตะวันตกที่ต้องการให้เศรษฐกิจรัสเซียหยุดชะงัก
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียแข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันและก๊าซที่ปรับตัวแพงขึ้น บวกกับการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนของรัฐบาล รวมทั้งจากการที่ภาคเอกชนของรัสเซียหันมาใช้รูเบิลในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันตามคำสั่งของรัฐแทนที่การใช้เงินดอลลาร์หรือยูโร
แม้จะเป็นผลดี แต่โดยภาพรวมนักวิเคราะห์มองว่าทางการรัสเซียจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมไม่ให้ค่าเงินรูเบิลขยับขึ้นทำนิวไฮ เพื่อป้องกันความเสียหายในส่วนของการนำเข้า
ขณะเดียวกัน ทางการจีนได้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าสกุลเงินหยวนของจีนเริ่มมีบทบาทและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย หวังชุนยิง รองหัวหน้าสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ State Administration of Foreign Exchange (SAFE) กล่าวว่า ความต้องการสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินหยวนเริ่มมีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยนักลงทุนต่างประเทศได้ลงทุนในหลักทรัพย์จีนมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการเดินหน้าของรัฐบาลจีนในการเปิดตลาดทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นของเงินหยวนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีบทบาทโดดเด่นบนเวทีโลก นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จทางการเงินของเศรษฐกิจตั้งแต่ที่มีการตั้งเป้าไว้ในการประชุมระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ปี 2012
ในขณะที่ประเทศยังคงเดินหน้าผลักดันการเปิดบัญชีลงทุนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนโดยตรงและการลงทุนหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกันหลังจากที่จีนให้เข้ามาลงทุนในหลายช่องทาง ขณะที่ชาวจีนเองยังสามารถเข้าถึงการซื้อขายสินทรัพย์ในต่างประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตามรายงานของ SWIFT ประจำเดือน พบว่า หยวนยังคงเป็นสกุลเงินที่ซื้อขายกันมากที่สุดอันดับที่ 5 ของโลก ในแง่มูลค่า ในเดือนพฤษภาคม ด้วยส่วนแบ่ง 2.15% โดยการชำระเงินด้วยเงินหยวนเพิ่มขึ้น 4.04% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.88% ในสกุลเงินการชำระเงินทั้งหมด
อ้างอิง: