×

เลือกตั้ง 2566 : เรืองไกรเปิดหลักฐานเตือนความจำพิธาโอนหุ้น 25 พ.ค. ชี้ ITV เข้าข่ายสื่อ บอกคนเก่งในพรรคเป็นร้อย แต่หาคนแม่นกฎหมายไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2023
  • LOADING...
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

วันนี้ (12 มิถุนายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดหลักฐานการโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โดยเป็นหลักฐานจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุพิธาโอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นให้กับภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อของบริษัท ไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 กุมภาพันธ์ 2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

 

โดยเรืองไกรกล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้เพื่อเตือนความจำพิธาและพรรคก้าวไกลที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไร ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อที่ตนนำมาเปิดเผยเป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ

 

“เอกสารสำคัญที่ควรจะดูก็คือหมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุมที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า 24 กุมภาพันธ์ 2566 เขาทำธุรกิจสื่อแล้วตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานี ITV แล้ว เขาทำสื่ออื่นแล้ว” เรืองไกรกล่าว

 

เรืองไกรยังกล่าวอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กำหนดเพียงห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ และการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตก 3 คำร้องถือหุ้นสื่อของพิธา ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อ กกต. ประกาศรับรองผล ส.ส. พิธามีสถานะเป็น ส.ส. แล้ว ตนก็จะยื่นร้องใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งยิ่งจะเป็นผลดี เพราะเรื่องจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีความแน่นอนกว่าการไปศาลฎีกา 

 

“ที่มีการเปิดคลิปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นออกมากันในขณะนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง เพราะกฎหมายเขียนว่าห้ามเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ พยานหลักฐานที่ควรไปดูคือ 1. พิธาถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตามรายงานการประชุม 2. ทำธุรกิจสื่อมวลชนใดๆ ก็ไปดูวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท และดูจากหมายเหตุงบการเงิน 

 

ส่วนไปประชุมผู้ถือหุ้น ถาม-ตอบแล้วจดถูก-ผิดบ้างก็เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นกับบริษัท ซึ่งเมื่อมีการจดผิด ผู้ถือหุ้นรายนี้ก็ต้องไปแจ้งให้แก้ไขรายงานการประชุม ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่าเขาจดผิดเพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง มันจะเกี่ยวอะไร ก็เหมือนกับการประชุมคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่หลังการประชุมก็จะให้สมาชิกมาตรวจดูว่ามีการจดรายงานการประชุมถูกต้องหรือไม่ ถ้าจดผิดก็ให้ไปแก้ไขก็เท่านั้นเอง” เรืองไกรระบุ

 

เมื่อถามว่า ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยในขณะนี้เหมือนต้องการชี้ว่าบริษัท ITV ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว เรืองไกรกล่าวว่า ไม่เกี่ยว การจะทำสื่อหรือไม่จะต้องดูที่รายได้ ดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งศาลก็ไม่ได้ดูที่รายงานผู้ถือหุ้นที่มีการถาม-ตอบกัน

 

ส่วนที่ระบุว่าศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่าบริษัท ไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินกิจการวิทยุ โทรทัศน์ เรืองไกรกล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการที่พิธาถือหุ้นแล้วไม่ผิด เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งพิธาก็มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี 42,000 หุ้น โดยไม่ได้มีการระบุท้ายการถือหุ้นว่าเป็นผู้จัดการมรดก และหมายเหตุงบการเงินปี 2566 ของบริษัทก็ระบุว่าบริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่นนอกจากสถานี ITV แล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้

 

“คำว่าสื่อมวลชนหมายความว่าอะไร ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุถึงวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเดี๋ยวนี้คำว่าแมสมีเดียมันมีทั้งอนาล็อกและดิจิทัล ซึ่งก็เข้าตามวิชาการอยู่แล้ว และถามว่าสมัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการถือหุ้นของธนาธร บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ไม่ได้ทำสถานีโทรทัศน์เหมือนกับ ITV หรือพิมพ์หนังสือเหมือนมติชน หรือไทยรัฐ แต่เขาพิมพ์หนังสืออื่น จึงไม่ต้องไปดูว่า ITV มีการออกอากาศ หรือยุติการออกอากาศแล้ว จะแก้ประเด็นเอาเก่งๆ แม่นๆ หน่อย มีคนตั้งเป็นร้อย คนเชียร์ตั้ง 14 ล้าน หาคนเก่งไม่ได้เลยหรือ” เรืองไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising