วันนี้ (16 กันยายน) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังจากยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบนายกรัฐมนตรีชูมือทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบปกติขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วนั้น
เรืองไกรกล่าวว่า กรณีดังกล่าว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปยืนยันในรายการคนดังนั่งเคลียร์ของช่อง 8 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ว่า การทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการ ทำไม่ได้
เรืองไกรกล่าวว่า เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. สามารถชี้มูลเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิพากษาได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกทางหนึ่งด้วย
เรืองไกรกล่าวว่า ในวันนี้จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่ากรณีชูนิ้วมือทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาวถ่ายรูปหมู่ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ โดยมีข้อความในหนังสือ ดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 เว็บไซต์ประชาชาติ หัวข้อ แพทองธาร นำ ครม. ถ่ายรูปหมู่ ชวนรัฐมนตรีทำท่า “มินิฮาร์ท” ซึ่งข่าวดังกล่าวมีรูปภาพ ครม. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทำมือชูท่ามินิฮาร์ท พร้อมทั้งยิ้มแบบขาดความสำรวม เป็นต้น
ข้อ 2. การที่นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันทำท่ามินิฮาร์ทถ่ายรูปในขณะใส่ชุดปกติขาวดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวของทั้งสามคนเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17. และข้อ 21. หรือไม่
ข้อ 3. มาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17. และข้อ 21. กำหนดไว้ ดังนี้
“ข้อ 17. ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”
“ข้อ 21. ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”
ข้อ 4. เฉพาะกรณีของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ได้ถูกข้าฯ ร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. แล้ว 2 ครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2567 และ 11 กันยายน 2567 ซึ่ง กกต. สามารถสอบถามความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. โดยตรงได้
ข้อ 5. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กรณีดังกล่าว ในรายการคนดังนั่งเคลียร์ของช่อง 8 พิธีกรในรายการได้สอบถามพีระพันธุ์ว่า การทำมินิฮาร์ทดังกล่าวน่าเกลียดตรงไหน พีระพันธุ์ตอบคำถามโดยสรุปได้ว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด ไม่น่าเกลียดครับ มันเป็นเครื่องแบบราชการ ผมแค่บอกว่าทำไม่ได้” ดังนั้นกรณีนี้จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อ 6. กรณีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2567 วันที่ 10 มกราคม 2567 หน้า 42 ได้ระบุไว้ส่วนหนึ่ง ดังนี้
“…นอกจากนี้ การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ฐานกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17. และข้อ 21. อีกด้วย…”
ข้อ 7. กรณีเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 สิงหาคม 2567 หน้า 27 ได้ระบุไว้ส่วนหนึ่ง ดังนี้
“เห็นว่า การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีผู้ใดมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เป็นคดีรัฐธรรมนูญโดยแท้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ส่วนหน้าที่และอำนาจของศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้มีอำนาจวินิจฉัยคดีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย ศาลฎีกาดำเนินการพิจารณาตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 วรรคเจ็ด หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เห็นได้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สภาพบังคับเป็นไปตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หากศาลฎีกาพิพากษาตามมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) สภาพบังคับเป็นไปตามมาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ แม้การพิจารณาจากข้อเท็จจริงในมูลเหตุเดียวกัน แต่เป็นคดีคนละประเภท เพราะเหตุจากวิธีพิจารณาคดี วัตถุประสงค์ของการดำเนินคดี และสภาพบังคับแตกต่างกัน”
ข้อ 8. กรณีดังกล่าวยังเทียบเคียงได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 วันที่ 17 กันยายน 2551 (คดีที่ดินรัชดา) ซึ่งในหน้า 27-28 ระบุไว้ว่า
“…ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ”
ข้อ 9. ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เริ่มชักชวนให้ ครม. ที่ถ่ายรูปร่วมกันทำท่ามินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาว และมีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าทำไม่ได้ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวยืนยันไว้ในทางสาธารณะ จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. เข้ามาตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่า การชูนิ้วมือทั้งสองข้างทำมินิฮาร์ทถ่ายรูปในขณะใส่ชุดปกติขาวที่ทำเนียบรัฐบาลดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือ ความศรัทธา ของประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17. ข้อ 21. ประกอบข้อ 27. วรรคสอง หรือไม่