วันนี้ (25 กรกฎาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88, 159 และ 272 นั้น
เรืองไกรกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมาจากความเห็นของนักกฎหมายจำนวนมาก และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นด้วย แต่หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 และแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
กรณีนี้จึงมีประเด็นที่ควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ดังนี้
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88, 159 และ 272 โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร
การกล่าวอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 159 และ 272 นั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาใช่หรือไม่ รัฐสภาต้องเป็นผู้ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ (ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564)
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีปัญหาเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาหรือไม่ อย่างไร
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิจะขอให้ศาลดำเนินการตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่
การมีมติให้ดำเนินการดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดินชอบหรือไม่
เรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา กฎหมายหลายฉบับหลายมาตรา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญย่อมรู้เอง เพราะเคยวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยหลายครั้งแล้ว (เช่น ตามคำวินิจฉัยล่าสุด 7 ครั้ง ตามคำสั่งล่าสุด 7 ครั้ง)
วันนี้ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88, 159 และ 272 โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร
ภาพ: แฟ้มภาพ