วานนี้ (12 มีนาคม) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงภายหลังประชุมพรรคว่า พรรคได้พิจารณาญัตติด่วนที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยพรรคได้ประชุมเรื่องนี้กันอย่างละเอียดถึงความเหมาะสมในการที่พรรคก้าวไกลอาจเสนอญัตติด่วนดังกล่าวแทรกวาระการประชุมปกติให้สภาพิจารณาในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ มติของพรรคเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติด่วนของพรรคก้าวไกล มองว่าญัตติด่วนดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการเสนอญัตตินี้เข้ามาในสภาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อัครเดชกล่าวว่า เหตุผลข้อที่ 2 พรรคมองว่า การยื่นญัตติของพรรคก้าวไกลเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล เนื่องจากมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดอำนาจขั้นตอนและวิธีการพิจารณาคดีใดๆ ไว้อย่างชัดเจนในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการยื่นญัตติลักษณะนี้พรรคมองว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดีไว้อย่างชัดเจนแล้ว
อัครเดชกล่าวต่อว่า เหตุผลข้อ 3 พรรคมองเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ได้ยื่นเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล และผลของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามองว่าความพยายามในการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเป็นการกัดเซาะบ่อนทำลายกระบวนการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ดังนั้นการที่พรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนให้สภาพิจารณา พรรคจึงมองว่าเป็นการใช้กลไกของสภาในการรักษาผลประโยชน์ให้กับพรรคก้าวไกลโดยตรง ทั้งที่กลไกของสภาควรเป็นเวทีรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน ไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
“ทั้ง 3 เหตุผล พรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับญัตติด่วนของพรรคก้าวไกลที่ให้สภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษาเรื่องดังกล่าว อีกทั้งพรรคยังมองว่าเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ที่มีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล และอาจมองได้ว่าเป็นความต้องการลดความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดี ที่พรรคก้าวไกลถูก กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงไม่ควรนำญัตตินี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ควรปล่อยให้เป็นกลไกของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมกับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว