×

มองฝูงบินขับไล่ใหม่ของกองทัพอากาศผ่านสมุดปกขาว กับแนวคิดซื้ออาวุธแล้วต้องได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจผ่าน Offset

04.03.2024
  • LOADING...
ฝูงบินขับไล่ ใหม่ ของ กองทัพอากาศ กับ สมุดปกขาว

กองทัพอากาศเปิดเผยแผนการพัฒนากองทัพออกมาผ่านสมุดปกขาวของกองทัพอากาศประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการปรับปรุงสมุดปกขาวเล่มก่อนในปี 2563 ให้ทันกับสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าด้านในบรรจุแนวคิดและโครงการต่างๆ ที่กองทัพอากาศต้องการดำเนินการตั้งแต่ปี 2567-2580 ซึ่งในขณะเดียวกัน สมุดปกขาวเล่มนี้ยังบอกอนาคตที่ไม่ค่อยสดใสนักของกองทัพอากาศ โดยเฉพาะฝูงบินขับไล่ซึ่งเป็นกำลังหลักของกองทัพ ตามสภาพงบประมาณและเศรษฐกิจของประเทศ

 

สำหรับสมุดปกขาว หรือ White Paper นั้นมักจะเป็นเอกสารที่กองทัพทั่วโลกจัดทำเพื่อเผยแพร่ให้กับคนทั้งโลกได้ศึกษาเพื่อลดความหวาดระแวงซึ่งกันละกัน เพราะสมุดนี้จะเล่าวิเคราะห์ภัยคุกคามของกองทัพ แนวคิดการใช้กำลัง การพัฒนากำลังรบ รวมถึงแนวทางในการพัฒนากองทัพ

 

นอกจากนั้นยังเป็นเหมือนแผนที่นำทางให้ผู้ผลิตอาวุธเตรียมตัวในการพัฒนาเพื่อแข่งขันกันในโครงการต่างๆ ทำให้สมุดปกขาวเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและส่งเสริมความโปร่งใส เนื่องจากทุกคนจะทราบแผนการพัฒนากำลังรบพร้อมกัน ต่างจากในอดีตที่จะมีแต่บริษัทตัวแทนที่ให้ผลประโยชน์กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อให้ได้แผนพัฒนากำลังรบมาดูก่อน

 

เชื่อว่าเรื่องที่ทุกคนอยากทราบในสมุดปกขาวเล่มล่าสุดของกองทัพอากาศก็คือโครงการจัดหาและพัฒนาฝูงบินขับไล่ของกองทัพอากาศ หลังจากที่กองทัพอากาศอกหักจาก F-35 ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิเสธขายให้ เนื่องจากความไม่พร้อมของกองทัพอากาศเอง ทำให้กองทัพอากาศกลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น

 

ซึ่งน่าเสียดายว่าสมุดปกขาวเล่มนี้มีรายละเอียดและแนวคิดในการดำเนินโครงการต่างๆ ค่อนข้างน้อยกว่าเล่มแรก แต่ก็สื่อให้เห็นว่าโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-16ADF โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่ง เพราะนอกจากจะต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 60,000 ล้านบาทแล้ว เครื่องบินขับไล่ฝูงนี้จะต้องเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของกองทัพอากาศไปอีกหลายปีก่อนที่จะเริ่มโครงการใหม่ในปี 2580

 

เครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่นี้จะเข้าประจำการในฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราช ซึ่งปัจจุบันไม่มีเครื่องบินประจำการแล้วเนื่องจาก F-16ADF หมดอายุการใช้งานและปลดประจำการไป การดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี 2568-2577 แยกเป็นการจัดหาเครื่องบินขับไล่ระยะละ 4 ลำ รวมทั้งหมด 12 ลำ

 

แน่นอนว่าตัวเต็งก็คงหนีไม่พ้นเครื่องบินขับไล่ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง F-16 Block 70 ของสหรัฐอเมริกา และ Gripen E/F ของสวีเดน ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ใหม่กว่า F-16AM/BM และ Gripen C/D ที่ประจำการในกองทัพอากาศไทยในฝูงบิน 403 ตาคลี และฝูงบิน 701 สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ ดังนั้นกองทัพอากาศจึงค่อนข้างมีความคุ้นเคยกับระบบและขีดความสามารถของเครื่องบินทั้งสองแบบอยู่แล้ว

 

ถ้าประเมินจากหน้ากระดาษตามคุณสมบัติและขีดความสามารถ ก็พบว่าเครื่องบินทั้งสองแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อเฉลี่ยมาแล้วก็จะพอๆ กัน เช่น การจัดหา F-16 จะเป็นการจัดหาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ไทยร่วมปฏิบัติงานกับสหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น ได้รับเครื่องบินที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองในสงครามมาแล้ว มีระบบอาวุธที่หลากหลาย และมีจำนวนการผลิตและเข้าประจำการมากกว่า 2,000 ลำในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก

 

แต่ในทางกลับกัน การใช้งานก็ต้องมีข้อกำหนดในการใช้ที่เคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและปรับแต่งเครื่องบินด้วยตัวเองหรือระบบเครือข่ายข้อมูลทางยุทธวิธี (Data Link) ที่จะต้องขออนุญาตและใช้งานตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา เพื่อความมั่นคงของเครือข่ายโดยรวมของสหรัฐอเมริกาที่ใช้งานทั่วโลก

 

ในทางกลับกัน Gripen E/F ยังไม่เคยเข้าสู่สงครามจริง เนื่องจากสวีเดนไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาททางการทหารไปทั่วโลก จำนวนการผลิตก็น้อยกว่า F-16 เกือบ 10 เท่า ประเทศผู้ใช้มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็กำลังจะเปลี่ยนไปใช้ F-35 ด้วย แต่ข้อเสียเปรียบนี้ก็ทดแทนด้วยการที่เครื่องบินลำนี้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับเครื่องบินข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่าตามสภาวะแวดล้อมความมั่นคงของสวีเดนที่ต้องรับมือกับรัสเซีย ทำให้เทคนิค เทคโนโลยี และยุทธวิธีออกแบบมาให้เครื่องบินที่มีจำนวนน้อยทำงานได้เหมือนเครื่องบินที่มีจำนวนมาก หรือภาษาทหารจะเรียกว่ามีส่วนทวีกำลังรบ (Force Multiplier) รวมถึงประเทศผู้ผลิตเปิดโอกาสให้ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องบินอย่างเต็มที่โดยมีข้อจำกัดน้อยกว่า ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเครื่องบินให้ตรงกับความต้องการได้ง่ายกว่า

 

ทั้งนี้ จุดตัดสินใจที่สำคัญประการหนึ่งน่าจะเป็นการขอรับการชดเชยทางเศรษฐกิจจากการจัดหายุทโธปกรณ์หรือ Defense Offset ซึ่งเป็นข้อกำหนดหลักของสมุดปกขาวชิ้นนี้ที่กำหนดให้ผู้ที่จะขายอาวุธให้กับกองทัพอากาศจะต้องส่งมอบ Offset ให้กับกองทัพอากาศและประเทศไทย

 

แนวคิด Offset นั้นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา เพราะ Offset เกิดมาจากแนวคิดที่ว่าการจัดหาอาวุธนั้นเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่กองทัพก็จำเป็นจะต้องมีอาวุธชนิดใหม่เพื่อรับมือกับภัยคุกคาม ดังนั้นถ้าจัดหาอาวุธแล้วได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็จะช่วยลดความเสียหายตรงนี้ได้ หรือถ้ารัฐบาลสามารถบริหารได้ดีและเรียกร้อง Offset ได้ถูกต้อง ก็จะยิ่งกลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ เช่น มาเลเซียที่จัดหาเครื่องบินฝึก T-50 จากเกาหลีใต้ ซึ่งมาเลเซียขอจ่ายค่าเครื่องบินบางส่วนเป็นน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของมาเลเซีย และกำหนดให้เกาหลีใต้ต้องมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทของมาเลเซียในการผลิตชิ้นส่วน และซื้อกลับไปเป็นอะไหล่ของเครื่องบินแบบนั้น ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ทำให้สุดท้ายรัฐบาลมาเลเซียจะได้เงินกลับคืนในรูปของภาษี เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน รวมถึงขายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วอาจทำให้มาเลเซียประหยัดเงินไปได้มากกว่า 50% เลยทีเดียว

 

ซึ่งถ้ากองทัพอากาศไทยจะเริ่มเรียกร้อง Offset บ้างก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การซื้ออาวุธคือการสิ้นเปลืองอย่างรุนแรง แต่ถ้าซื้ออาวุธแล้วสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน ถึงแม้ดูเหมือนกองทัพอากาศจะยังไม่มีไอเดียมากนักว่าจะขอ Offset ในรูปแบบใด เพราะกองทัพอากาศอาจไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด) แต่ถ้ามีการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีขีดความสามารถเข้ามาร่วมตัดสินใจและให้คำแนะนำ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็น่าจะทำให้การเรียกร้อง Offset ในครั้งนี้ตรงจุดมากขึ้น

 

แนวทางในการเรียกร้อง Offset อาจทำได้ทั้งการเรียกร้อง Offset โดยตรง (Direct Offset) ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยตรง ในกรณีนี้ก็เช่นการให้ผู้ผลิตต่างประเทศจับมือกับภาคเอกชนของไทยในการผลิตชิ้นส่วนหรือซ่อมบำรุงเครื่องบินขับไล่ หรือ Offset โดยอ้อม (Indirect Offset) ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ โดยอาจจะเป็นการให้ประเทศผู้ผลิตลงทุนด้านไซเบอร์ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ลงทุนในธุรกิจการเกษตร หรืออะไรก็ได้ที่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ข้อสำคัญของทั้ง Direct และ Indirect Offset ก็คือการต้องมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะถ้าผลประโยชน์ตกอยู่แต่กับภาครัฐ ก็จะไม่เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะไม่ถือว่าเป็น Offset นั่นเอง

 

ดังนั้นเมื่อมองจุดนี้ ประเทศสวีเดนอาจจะมีความได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งมอบ Offset ให้กับผู้ซื้อ Gripen อย่างเต็มที่ ในบางประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็กหรือฮังการี สวีเดนสามารถส่งมอบ Offset จนเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100% ของมูลค่าที่ทั้งสองประเทศนั้นจ่ายออกไป ซึ่งถือว่าเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงมาก

 

แต่ในทางกลับกัน แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่มีนโยบายสนับสนุน Offset โดยตรง แต่ขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาต้องแข่งขันกับจีนในเอเชีย ก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนโดยการส่งเสริมให้บริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นหากไทยจัดหา F-16 มาใช้งาน ซึ่งก็จะช่วยสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้เช่นกัน

 

ไม่ใช่แต่การจัดหาเครื่องบินขับไล่อย่างเดียวเท่านั้น ในสมุดปกขาวของกองทัพอากาศยังมีโครงการจัดหาระบบอาวุธแบบใหม่ที่จะมาใช้งานกับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศ เช่น โครงการจัดหาอาวุธอากาศสู่อากาศระยะไกลกว่าสายตา ระยะยิงไม่น้อยกว่า 50 ไมล์ทะเล ในปี 2569-2572 ซึ่งอาจจะเป็นการจัดหา AIM-120 AMRAAM จากสหรัฐอเมริกา หรือ Meteor จากกลุ่มประเทศยุโรป โครงการจัดหาอาวุธนำวิถีอากาศสู่พื้นพิสัยไกล (Stand-off Weapon) พิสัยยิงไกลไม่น้อยกว่า 30 ไมล์ทะเล ในปี 2573-2575 ซึ่งอาจจะเป็นการจัดหาระเบิดที่มีขีดความสามารถสูง เช่น AGM-154 JSOW ของสหรัฐอเมริกา Storm Shadow (SCALP-EG) ของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส หรือ KEPD 350 ของเยอรมนีและสวีเดน ซึ่งจะเป็นขีดความสามารถขั้นสูงแบบใหม่ของกองทัพอากาศไทย นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงยืดอายุจรวดอากาศสู่อากาศในระยะสายตาหรือ AIM-9M การผลิตและรับรองมาตรฐานระเบิดอเนกประสงค์ขนาด 500 ปอนด์ เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่เมื่อถอยมาในภาพรวมแล้ว เราจะพบว่ากองทัพอากาศไทยจะมีขนาดเล็กลงทั้งจำนวนฝูงบินและเครื่องบินต่อฝูง โดยจากอัตราความต้องการเดิมคือการต้องมีฝูงบินขับไล่ 5 ฝูง ฝูงบินโจมตี 3 ฝูง แต่ละฝูงมีเครื่องบิน 18 ลำ ลดเหลือเพียงฝูงบินขับไล่ 3 ฝูง คือฝูง 403 ที่ใช้ F-16AM/BM ฝูง 701 ที่ใช้ Gripen C/D และฝูง 102 ที่จะจัดหาเครื่องบินฝูงใหม่เข้าประจำการ รวมถึงฝูงบินโจมตี 3 ฝูง คือฝูง 411 ที่ใช้เครื่องบิน AT-6 และฝูง 231 หรือ 211 เพียงฝูงเดียวที่จะมีการจัดหาเครื่องบินทดแทนแต่ละฝูงเหลือเครื่องบินเพียง 12 ลำ โดยนับฝูงบินขับไล่ฝึกที่ใช้งานเครื่องบินแบบ T-50TH ในฝูง 401 รวมเข้าไปด้วย ทำให้โดยรวมกองทัพอากาศไทยจะเหลือเครื่องบินรบเพียงราว 50-60 ลำ จากเดิมที่ต้องมีราว 100 ลำ ซึ่งแม้ว่าดูด้วยตาเปล่าจะค่อนข้างชัดว่าไม่น่าจะเพียงพอในการป้องกันประเทศ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของชาติที่ยังไม่ดีพอก็ยากที่จะมีเครื่องบินได้มากกว่านี้

 

แต่ถ้ากองทัพอากาศสามารถดำเนินโครงการได้ดี มี Offset ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้เพียงพอ ก็น่าจะเป็นเครื่องมือและเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลสามารถอนุมัติงบประมาณให้กองทัพอากาศได้เพิ่มขึ้น เพราะการจัดหาอาวุธที่มี Offset นั้นจะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจน้อย กลับกันถ้าจัดการให้ดี จะเป็นช่องทางในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ภาพ: Saab, Lockheed Martin

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X