วันนี้ (4 พฤษภาคม) ที่บริเวณท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กองทัพบก โดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ทำการยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด ถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล
พร้อมกันนี้ กองทัพเรือ โดยกองรักษาความปลอดภัย ฐานทัพเรือกรุงเทพ ทำการยิงสลุตหลวง ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
และกองทัพอากาศ โดยกรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ทำการยิงสลุตหลวง ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร
สำหรับการยิงสลุตถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลกได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำหรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติหรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ โดยคำว่าสลุตนั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า Salutio ในภาษาละติน
สำหรับในประเทศไทย การยิงสลุตครั้งแรกเกิดขึ้นที่ป้อมวิไชยเยนทร์หรือป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ร.ศ. 131
หลักเกณฑ์จำนวนการยิงสลุตมีดังนี้
- งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์หรือประมุขแห่งรัฐ จำนวน 21 นัด
- นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต จำนวน 19 นัด
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ จำนวน 17 นัด
- พลเรือโท และอัครราชทูต จำนวน 15 นัด
- พลเรือตรี และราชทูต จำนวน 13 นัด (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน)
- อุปทูต จำนวน 11 นัด
- กงสุลใหญ่ จำนวน 9 นัด
อ้างอิง:
- กองทัพเรือ