ด้วยความที่อุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตมาก เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีช่องทางออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิงจะช่วยให้ธุรกิจเพลงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านการฟังเพลงที่ทำได้จากทั่วทุกมุมโลก และคาดการณ์รายได้ระยะยาวได้แม่นยำมากขึ้น
กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ RS Music ตัดสินใจทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ ด้วยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงมีโอกาสสร้างรายได้ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางดิจิทัลที่เติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภค
จากข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) พบว่า ในปี 2565 รายได้จากมิวสิกสตรีมมิงทั่วโลกมีมากถึง 67% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 5% ในขณะที่ประเทศไทย ผู้ฟังใช้เวลาฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิงมีระยะเวลานานถึงวันละ 1.8 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชมคลิป: เปิดใจ ‘เฮียฮ้อ’ ชุบชีวิต RS Music กลับเข้าตลาดหุ้น | WEALTH IN DEPTH
- RS ดึง Universal Music ค่ายเพลงระดับโลกที่ควักเงิน 1,600 ล้านบาทร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลง พร้อมบุกหนักตลาดเพลงไทย-ต่างประเทศ
- จากคู่แข่งสู่คู่รัก! ส่องปรากฏการณ์ Grammy x RS ตั้งบริษัทร่วมทุนจัดคอนเสิร์ต 3 งานใหญ่ในปี 2566 บัตรเริ่มต้น 2,000-6,000 บาท
“เหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่เรากลับมาลุยธุรกิจเพลงอีกครั้งภายใต้จังหวะเวลาที่ใช่ และมีโมเดลธุรกิจใหม่รองรับ” เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าว
การปรับเปลี่ยนตัวเองรวมถึงความร่วมมือกับ Universal Music Group (UMG) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก ในการร่วมทุนครั้งนี้ UMG จะลงทุน 1,600 ล้านบาท เพื่อร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลงกว่า 13,000 เพลงภายใต้ RS Music ความร่วมมือครั้งนี้ช่วยเสริมการปรับโครงสร้างธุรกิจในวงกว้างที่มุ่งสร้างรายได้จากหลายช่องทาง
การร่วมทุนกับ UMG คาดว่าจะนำประโยชน์มากมายมาสู่ RS Music ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% และมี Impressions เพิ่มขึ้น 15-20% จากแพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ ผ่านการบริหารของ UMG
การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการจัดจำหน่ายระหว่างประเทศที่กว้างขวางของ UMG ซึ่งมอบโอกาสที่มากขึ้นสำหรับศิลปิน RS Music ในการเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก
สุดท้ายทรัพยากรของ UMG และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงจะช่วยให้ RS Music ได้รับข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาศิลปินและเนื้อหา
นอกจากความร่วมมือกับ UMG แล้ว RS Music กำลังวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างครอบคลุม เพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ทางดิจิทัลผ่านการผลิตเพลงจากศิลปินทั้งใหม่และในตำนาน การสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการรวบรวมลิขสิทธิ์ การดำเนินแคมเปญการตลาดเพลง การจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ต ตลอดจนการบริหารและดูแลศิลปิน
RS Music ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 ไว้ที่ 720 ล้านบาท และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการแต่งตั้ง พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS Music
รายได้ดังกล่าวนอกจากจะมาจากความร่วมมือกับ UMG ยังมีแผนเปิดตัวศิลปินใหม่ 7 ราย และเพลงใหม่ 150 เพลงเข้าสู่ตลาด
ตัวเงินไม่ใช่เป้าหมายเดียวของ RS Music เพราะปี 2567 วางแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อติดตามสกุลมหาชน หลังจากนั้นปี 2568 วางเป้าที่อยากจะมีรายได้ 1,200 ล้านบาท
เหล่านี้คือสิ่งที่เฮียฮ้อหวังไว้กับ RS Music ซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อราก ทำให้เครือ RS เติบใหญ่จนมีวันนี้
ภาพ: RS Group