×

12 สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 กับประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โดย THE STANDARD TEAM
25.04.2019
  • LOADING...

ตามกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หลายแห่ง

 

THE STANDARD จะพาไปรู้จักกับ 12 สถานที่สำคัญ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

1. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 

 

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ วัดสุทัศนฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของประเทศที่ประกอบไปด้วย วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร และวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

 

ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ปี พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

 

แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากพระวิหาร การก่อสร้างมาเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า ‘วัดสุทัศนเทพธาราม’ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแปลงนามใหม่เป็น ‘วัดสุทัศนเทพวราราม’

 

ซึ่งความสำคัญและความหมายของวัดสุทัศนตามสำนักข่าวไทยรัฐ ได้รายงานจากข้อมูลของ ศ.ดร.หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะ และสร้างสรรค์ผลิตสื่อ บรรยายระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562’ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่อยู่กลางกรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล”

 

โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในการเสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

 

2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

 

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ด้านในของพระบรมมหาราชวัง ตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังแต่ครั้งโบราณ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระแก้ว

 

วัดพระแก้วเป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมือง รวมถึงพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา วัดพระแก้วเป็นสถานที่ประกอบพิธีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

 

3. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 ทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ภายหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพจนเป็นธรรมเนียม

 

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

 

4. หมู่พระมหามณเฑียร

 

หมู่พระมหามณเฑียร คือกลุ่มพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

 

หมู่พระมหามณเฑียรมีลักษณะหลังคาทรงจั่ว สร้างเชื่อมพระที่นั่งประธานสามหลัง ประกอบไปด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งอยู่เบื้องตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง

 

5. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

 

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก

 

ผนังด้านทิศเหนือประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ด้านหลังพระวิมานเป็นพระทวารเทวราชมเหศวร ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นสถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 และการเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562

 

6. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

 

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่องค์ประธานของหมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังเรียงต่อกันในแนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิมานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จึงใช้พระที่นั่งองค์นี้สำหรับประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อันเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ลักษณะพระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมไทย 3 หลังแฝดชั้นเดียว ก่ออิฐปูน ยกฐานสูง เรียงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ตกแต่งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจกสีทอง หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปสมเด็จพระอมรินทราราชในบุษบก

 

ปัจจุบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสง และเครื่องราชูปโภค

 

7. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

 

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นพระแท่นหรือพระที่นั่ง หรือพระราชอาสน์ ซึ่งทำจากไม้อุทุมพรหรือมะเดื่อ ทรงแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่าพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สลักปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตร หรือพระสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 7 ชั้น

 

ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านมุขตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

8. พระที่นั่งภัทรบิฐ

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีลักษณะเป็นพระเก้าอี้ถมทอง พนักและเท้าแขนต่อเนื่องกันเป็นกงแบบเก้าอี้จีน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร

 

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภค และราชสมบัติ

 

 

9. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมานเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุขสองข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

 

 

10. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อวัดโพธิ์ ท่าเตียน เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม วัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง

 

ความน่าสนใจของวัดโพธิ์คือ เป็นวัดที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เนื่องจากเป็นศูนย์รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขวงต่างๆ จารึกลงบนศิลาจารึก หรือแผ่นศิลา โดยแบ่งความรู้ต่างๆ ได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ, หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ, หมวดอนามัย, หมวดประเพณี, หมวดวรรณคดีไทย, หมวดสุภาษิต, หมวดทำเนียบ (จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา

 

เมื่อปี พ.ศ. 2551 ทางองค์การยูเนสโกได้มีมติรับรองศิลาจารึกวัดโพธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสาร ‘มรดกความทรงจำของโลก’ ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และการเผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวนทั้งหมด 99 องค์ โดยมีพระเจดีย์สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

 

โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดโพธิ์จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

 

 

11. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

 

 

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร แต่เดิมเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวมวัดบวรนิเวศวิหารเข้ากับวัดรังษีสุทธาวาสที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเข้าด้วยกัน

 

วัดบวรนิเวศราชวรวิหารมีความสำคัญเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ รวมถึงยังเป็นวัดที่มีพระประธานถึง 2 องค์ ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ โดยในพระอุโบสถเป็นพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดา และพระเหลือ เดิมทีประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2372

 

ส่วนพระสุวรรณเขต หรือพระโต หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี

 

สำหรับความสำคัญในพระราชพิธี อ้างอิงจากนิตยสาร Sense & Scene Volume 1 Issue 4 ฉบับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2016 หน้าปก ‘พุทธศิลป์แผ่นดินแห่งความสุข’

 

หน้าที่ 38 ระบุถึงความสำคัญของวัดบวรนิเวศราชวรวิหารไว้ว่า ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงผนวช เคยครองวัดบวรนิเวศราชวรวิหารอยู่ 14 ปี 82 วัน ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธชินสีห์เป็นอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อทรงครองราชสมบัติ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรา เสด็จฯ มาบูชาพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในการนี้ทรงถวายต้นไม้ทองเงินเป็นราชสักการะ จึงเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาจะเสด็จฯ มาบูชาพระพุทธชินสีห์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระบวนพยุหยาตรา ครั้งที่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เสด็จโดยชลมารค รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 เสด็จโดยทางสถลมารค ทั้งนี้ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบแทน คือเมื่อ พ.ศ. 2506 ที่พสกนิกรชาวไทยได้เห็นกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคครั้งหลังสุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ สักการะบูชาพระพุทธชินสีห์’

 

วัดบวรนิเวศราชวรวิหารจะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

 

 

12. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

 

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร โดยเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 โดยจุดเด่นของวัดอยู่ที่การออกแบบ โดยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

 

เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2412 โดยการออกแบบวัดเป็นการผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก ภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในโดยเฉพาะด้านในพระอุโบสถเป็นการตกแต่งแบบตะวันตก

 

จากหนังสือ 9 วัดรัชกาล The Temple of The Kings จัดทำโดย บริษัทสยามปูนซิเมนต์ขาว จำกัด ในเครือ เอสซีจี เผยถึงข้อมูลการก่อสร้างพระอุโบสถของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารไว้ว่า

 

‘ตัวพระอุโบสถเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ภายนอกเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในจะมีการตกแต่งอย่างยุโรป อันเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิก กล่าวกันว่าเพดาน เสา และ ลวดลายประดับตกแต่งผนังลักษณะคล้ายพระที่นั่งในพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส’

 

ส่วนพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธอังคีรส ซึ่งเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าพระนามหนึ่ง องค์พระรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี

 

รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีความหมายว่า วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ‘ราชบพิธ’ หมายถึงพระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ‘บพิธ’ มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ซึ่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร นับเป็นวัดพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาลอีกด้วย

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร​จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X