×

เบื้องต้นพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ สู่พิธีสรงพระมุรธาภิเษกและถวายน้ำอภิเษกตามโบราณราชประเพณี

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2019
  • LOADING...
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อถวายเป็นน้ำอภิเษกและสรงพระมุรธาภิเษก โดยคำว่า ‘พลีกรรม’ หมายถึงการบูชาหรือพิธีบูชา
  • น้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ โดยตำราโบราณของพราหมณ์ได้บอกเอาไว้ว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะถูกนำมาใช้ในการพระราชพิธีต้องมาจาก ‘ปัญจมหานที’ หรือแม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร
  • ‘มุรธาภิเษก’ แปลว่าการรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดจึงเรียกว่าน้ำมุรธาภิเษก การสรงพระมุรธาภิเษกหมายถึงการยกให้หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจ จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อถวายเป็นน้ำอภิเษกและสรงพระมุรธาภิเษก โดยคำว่า ‘พลีกรรม’ ในที่นี้ พจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่าเป็นการบูชาหรือพิธีบูชา

 

เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ได้เริ่มพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แห่งใน 76 จังหวัดทั่วประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในกรุงเทพฯ ได้จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งหมดเป็น 108 แห่ง

 

ใน 108 แห่งนี้ น้ำอภิเษกจะมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัด ส่วนน้ำสรงพระมุรธาภิเษกมาจากแม่น้ำสำคัญของประเทศ 5 สาย ‘เบญจสุทธคงคา’ และน้ำจากสระ 4 สระในสุพรรณบุรี (สระเกษ, สระแก้ว, สระคา, สระยมนา)

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

น้ำศักดิ์สิทธิ์คืออะไร

น้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ โดยตำราโบราณของพราหมณ์ได้บอกเอาไว้ว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะถูกนำมาใช้ในการพระราชพิธีต้องมาจาก ‘ปัญจมหานที’ หรือแม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) ประกอบด้วย แม่น้ำคงคา, แม่น้ำมหิ, แม่น้ำยมนา, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เนื่องจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร

 

เมื่อได้ดำเนินพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแล้วจะต้องนำไปประกอบพิธีอภิเษกรวมในลำดับถัดไป จึงจะกลายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก เพื่อนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ในแต่ละสมัยรัชกาลที่ผ่านมา น้ำศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาจากสถานที่ใดบ้าง

สำหรับประเทศไทย เมื่อย้อนตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏหลักฐานว่าน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยดังกล่าวมาจากสระเกษ, สระแก้ว, สระคา, สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ใช้แม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก 5 สาย หรือเบญจสุทธคงคา (เหมือนเช่นในปัจจุบัน) โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป ประกอบด้วย แม่น้ำบางปะกง บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรี ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

 

กระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อปี 2411 ได้ใช้น้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ 4 สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรีเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ

 

ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย แล้วทรงนำน้ำจากปัญจมหานทีตามตำราพราหมณ์กลับมาด้วย ส่งผลให้น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2416 มีน้ำปัญจมหานทีเจือลงในน้ำเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ 4 สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรี

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อปี 2453 ได้ใช้น้ำเช่นเดียวกับครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อปี 2453 โปรดให้พลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของมหานครโบราณ 7 แห่ง และมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 2468 ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ 18 แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่วัดบึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

 

ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร การพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักรแล้วนำมาตั้งประกอบพิธีเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 2493 ทำพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ ในราชอาณาจักรจำนวน 18 แห่ง เท่ากับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 1 แห่งคือจากวัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ส่วนน้ำจากสระสองห้อง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ใช้ในครั้งนี้ เนื่องจากแหล่งน้ำดังกล่าวตื้นเขินจนไม่มีน้ำ

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง เสด็จประทับมณฑปพระกระยาสนาน สรงพระมุรธาภิเษกสนาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 2 ธันวาคม  2454 – ภาพ: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 

พิธีสรงพระมุรธาภิเษกคืออะไร

‘มุรธาภิเษก’ แปลว่าการรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดจึงเรียกว่าน้ำมุรธาภิเษก การสรงพระมุรธาภิเษกหมายถึงการยกให้หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจ จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

 

น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้นเจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ (อินเดีย) และน้ำเบญจสุทธคงคา แม่น้ำสำคัญทั้ง 5 ของราชอาณาจักรไทย น้ำ 4 สระเจือด้วยน้ำอภิเษกซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และเจือด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่ได้ทำพิธีเตรียมไว้

 

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ในมณฑปพระกระยาสนาน เจ้าพนักงานไขสหัสธารา หลังจากสรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระสังฆราชขึ้นถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกริ่งที่พระปฤษฎางค์และพระครอบยันตรนพคุณที่พระหัตถ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ที่พระหัตถ์ พระโหราธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้านพเคราะห์ ทรงรับไปสรงที่พระอังสาทั้งซ้ายขวา

 

พระราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ในพระเต้าเบญจคัพย์ และพระครอบสัมฤทธิ์ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายใบมะตูมทรงทัดและใบกระถินเพื่อทรงถือ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ขณะทรงสรงพระมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงรับน้ำอภิเษกของราชบัณฑิต พราหมณ์ผู้ถือพรต พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระราชาธิบดี ประธานาธิบดีนานาประเทศ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 – ภาพ: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 

พิธีถวายน้ำอภิเษกคืออะไร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สรงพระมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนินออกจากหอพระสุลาลัยพิมานไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์เวียนไปครบ 8 ทิศ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาประทับยังทิศบูรพาอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลเป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก

 

แต่เดิมราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 8 ทิศ เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

จากนั้นพระราชครูวามเทพมุนีกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขณะนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานแกว่งบัณเฑาะว์ ประโคมฆ้องชัย แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับและพระราชทานเจ้าพนักงาน แล้วเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ โดยมีขบวนเชิญพระชัยนวโลหะและพระคเณศนำเสด็จ และเจ้าพนักงานเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรตามเสด็จด้วย

 

*** ภาพเปิดบทความ (จากซ้ายไปขวา): พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัปตฎลเศวตฉัตร ทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม ควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก (ซ้าย), พระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ เวียนไปจนครบ 8 ทิศ (ขวา) – ภาพ: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 

ภาพ: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

    • หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X