×

ย้อนที่มาน่าประทับใจ ‘สุขาภิยาจนคาถา’ จากวิวาทะระหว่าง ร.4 และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีฯ

30.04.2019
  • LOADING...
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สุขาภิยาจนคาถา (ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ) คือหนึ่งในบทเจริญพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันมีที่มาน่าประทับใจที่พสกนิกรชาวไทยควรทราบถึงพระเกียรติคุณที่น่ายกย่องของพระมหากษัตริย์ไทย

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีบทเจริญพระพุทธมนต์ที่เกี่ยวข้องมากมายหลายบท แต่มีอยู่บทหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นบทใหม่ที่แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อันมีที่มาน่าประทับใจที่พสกนิกรชาวไทยควรทราบถึงพระเกียรติคุณที่น่ายกย่องของพระมหากษัตริย์ไทย

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการบรรยายพิเศษชุด ‘ความรู้เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’

 

โดยช่วงหนึ่ง ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายหัวข้อ ‘มนต์และมนตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’

 

ทั้งนี้ ‘มนต์’ เป็นภาษาบาลีอันเกี่ยวข้องกับการเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีสงฆ์ของพระพุทธศาสนา

 

ส่วน ‘มนตร์’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ซึ่งแปลความหมายว่าศาสตร์ของพระศิวะในศาสนาฮินดู หาได้เกี่ยวข้องกับคุณไสยอย่างในละครไทยที่เรารับชมกัน

 

กลับเข้าเรื่อง สุขาภิยาจนคาถา (ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ) ซึ่งเป็นบทใหม่ที่แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

 

มีที่มาเริ่มจากการทะเลาะขัดแย้งกันระหว่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม ผู้ยิ่งใหญ่ในแม่กองภาษาบาลี

 

ขณะที่พระวชิรญาณ หรือเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ครั้งทรงพระผนวชอยู่ก็เป็นผู้ยิ่งยงในภาษาบาลีเช่นกัน

 

ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสวยราชย์ขึ้นมา แม้ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระอัครมเหสีก็จริง แต่พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากพระราชวงศ์ผู้ใหญ่และขุนนางจำนวนมาก

 

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ท่านไม่มีปัญหาใดๆ กันแล้ว

 

แต่บรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง และเจ้านายที่เคยเป็นขั้วของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ยอมสลายขั้ว จึงไปยั่วยุสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ว่าไม่ค่อยชอบพระวชิรญาณ  

 

วิวาทะครั้งแรกของ ร.4 และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม)

ครั้งหนึ่งในการสอบแปลภาษาบาลี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกเพื่อทรงฟังการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในครั้งนั้น และมีพระวชิรญาณเป็นผู้เข้าสอบ

 

ในระหว่างการสอบ พระวชิรญาณก็ผ่านโดยฉลุยตั้งแต่ชั้นประโยคที่ 1 ไปถึงประโยคที่ 5 แต่ในมุมมองของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เห็นว่าเป็นการให้ผ่านโดยง่ายเกินไป

 

ครั้นถึงที่สุด สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) กล่าวต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “นี่มันจะปล่อยกันไปถึงไหนเนี่ย”

 

หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็เป็นอันต้องยุติการสอบครั้งนั้นไป แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยคให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์

 

วิวาทะครั้งใหญ่ของ ร.4 และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม)

เหตุการณ์ต่อมาอันเป็นจุดที่ความขัดแย้งน่าจะถึงขีดสุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นิมนต์พระวชิรญาณมาเป็นกรรมการสอบแปลพระปริยัติธรรม โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นประธานการสอบ

 

ต้องเท้าความด้วยว่า กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) คู่อริทางการเมืองของพระวชิรญาณ ซึ่งต่อมาได้แพ้ภัยตัวเองและถูกสำเร็จโทษ มีความสนิทกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จึงยิ่งเติมเชื้อไฟให้ปะทุหนัก

 

ครั้งนั้น พระมหาผ่อง วัดประยุรวงศาวาส ก็มาสอบแปลบาลี ปรากฏว่ามีคำคำหนึ่งแปลตามรูปบาลีได้ว่า “นั่งในอาสนะ”

 

แต่พระวชิรญาณท่านพิจารณาแปลคำนี้ในเชิงเนื้อหา ในขณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ท่านพิจารณาแปลคำนี้ในเชิงหลักไวยากรณ์

 

พระมหาผ่องก็แปลคำนี้ว่า “นั่งในอาสนะ”

 

พระวชิรญาณก็รับสั่งสวนขึ้นมาทันทีว่า

 

“นั่งอย่างไร นั่งในอาสนะ มันต้องนั่งเหนืออาสนะสิ ไปนั่งในอาสนะ จะให้ฉีกอาสนะแล้วเอาตัวยัดเข้าไปแล้วเอาอาสนะคลุมหัวหรือไง”

 

ทันใดนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ก็โกรธและปรารภขึ้นในการสอบนั้นว่า

 

“ที่มาเป็นกรรมการสอบก็เพราะว่าเห็นแด่พระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าไม่เห็นอย่างนั้น ไม่เดินมาให้เจ็บหัวแม่ตีนหรอก”

 

หลังจากวงแตก เรื่องราวทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระวชิรญาณเป็นกรรมการสอบต่อไป และให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) กลับไปก่อน มิเช่นนั้นจะเป็นเรื่อง

 

ความขัดแย้งนี้เองเป็นที่มาของสุขาภิยาจนคาถา (ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ)

 

ที่มาของสุขาภิยาจนคาถา

ต่อมาเมื่อพระวชิรญาณเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เก็บข้าวของเตรียมหนีกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เพราะรู้ว่าราชภัยจะมาถึงตัว แต่ยังไม่ทันจะเก็บของออกจากวัดโมลีโลกยาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีฎีกาเรียกตัว

 

ปรากฏว่าพระองค์ทรงเรียกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เข้าไปรับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ และทรงพระราชปรารภว่า

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) นั้นรู้หนังสือดี ดังนั้นจึงให้มาเป็นกำลังของการสอบพระปริยัติธรรม

 

ท่านลองคิดดูว่าคนที่ตั้งตัวเป็นปรปักษ์มาตลอด แต่วันหนึ่งได้มาถึงจุดสูงสุดคือเป็นสมเด็จพระราชาคณะได้ เพราะว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชหฤทัยเมตตาและยุติธรรม แลเห็นประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่าที่จะเอาเรื่องอคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จึงแต่งสุขาภิยาจนคาถาเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยการขึ้นต้นแปลเป็นไทยตอนหนึ่งว่า

 

ขอให้พระปริตรที่เราสวดแล้วจงบันดาลความสุขให้มีในราชสกุล การบูชาเทวดาที่เกิดขึ้นแล้วเพราะพระปริตรอันเป็นกุศล ภาษิตทั้งหลายขอให้เทวดาทั้งหลายจงอนุโมทนา

 

สัตว์ที่เกิดในครรภ์มารดา ในฟอง ในเหงื่อไคล หรือกำเนิดลอยขึ้นก็ดี จงอย่ามีทุกข์ จงอย่ามีเวร กรรมทั้งหลายจงอย่ามาพ้องพานสัตว์เหล่านั้น ขอคำสอนของพระพุทธศาสนาจงยั่งยืนนานอยู่ในโลก ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล

 

และบทสุดท้ายความว่า มารดาและบิดาย่อมถนอมบุตรน้อยอันบังเกิดในตนเป็นนิจฉันใด พระราชาทั้งหลายจงรักษาประชาราษฎรโดยชอบในการทั้งปวงฉันนั้น

 

นี่คือที่มาของ ‘สุขาภิยาจนคาถา’ หนึ่งในบทคาถาที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันมาจากการเห็นประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งเหนือเรื่องอคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง คิดปองร้ายทำลายกันขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในราชจักรีวงศ์

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X