×

ทร. แจง เรือดำน้ำจำเป็น ใช้เงินไม่ถึง 1% เมื่อเทียบผลประโยชน์ทางทะเล ชี้เลื่อนจ่ายอีกทำประเทศไม่น่าเชื่อถือ

24.08.2020
  • LOADING...
ทร. แจง เรือดำน้ำจำเป็น ใช้เงินไม่ถึง 1% เมื่อเทียบผลประโยชน์ทางทะเล ชี้เลื่อนจ่ายอีกทำประเทศไม่น่าเชื่อถือ

วันนี้ (24 สิงหาคม) ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน พล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบหมายให้ พล.ร.อ. สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ พร้อมคณะ ชี้แจงกรณีเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำ 

 

โดยก่อนเข้าสู่การแถลงข่าว กองทัพเรือได้ฉายวีดิทัศน์ชุดเดียวกับที่ฉายให้คณะอนุกรรมาธิการดู โดยแสดงความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

1. ในเวลานี้ภูมิภาคอาเซียนมีเรือดำนำ้อยู่ทั้งหมด 18 ลำ ได้แก่

  • เวียดนาม 6 ลำ
  • อินโดนีเซีย 5 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ
  • มาเลเซีย 2 ลำ
  • สิงคโปร์ 4 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ
  • เมียนมา 1 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ

 

2. พื้นที่อ้างสิทธิทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านยังมีอยู่ โดยกำลังทางเรือยังคงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญต่อการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ ได้แก่

  • JDA (พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) บนพื้นที่ 7,250 ตารางกิโลเมตร ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่กำลังจะหมดลงสู่การเจรจาใหม่
  • เกาะกูด ปัญหาการอ้างสิทธิของกัมพูชาที่ยังรอการแก้ไข
  • เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางด้านทะเลอันดามันกับเมียนมา

 

3. เกิดกรณีเรือรบประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารุกล้ำปฏิบัติการทางทหารในเขตทางทะเลของไทยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563

 

 

ขณะที่ พล.ร.ท. เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำวันนี้ อีก 6 ปีจึงจะได้รับ ขณะที่พื้นที่ JDA (พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปีจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2572 โดยกองทัพเรือได้รับเรือดำน้ำ ถ้าลงนามวันนี้จะได้รับปี 2570 ดังนั้นการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ของชาติ ถ้าไม่มีกำลังที่เข้มแข็ง คิดดูว่าอำนาจการต่อรองของเราจะมีมากหรือน้อยอย่างไร

 

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีเรือจากประเทศเพื่อนบ้านมาค้นหาชาวโรฮีนจาฝั่งอันดามัน คำถามคือเขาเกรงใจเราหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือได้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศประท้วงอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ในอีก 7 ปีข้างหน้า เมื่อเขามีศักยภาพมากกว่าเรา เขาจะเกรงใจเราได้อย่างไร

 

“ผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้านบาททางทะเลนั้น กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยชำระในปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาทนั้น เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นเพียง 0.093% เท่านั้น ผมขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบและมีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ ทางยุทธการณ์ และความมั่นคงอย่างเต็มที่” พล.ร.ท. เถลิงศักดิ์ กล่าว

 

 

แจงทยอยจ่าย 8 ปี เลื่อนจ่ายงวดแรกเพราะคืนงบสู้โควิด-19

ด้าน พล.ร.ท. ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ชี้แจงด้านงบประมาณการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท 

 

ทั้งนี้มีการจัดหาลำที่ 1 ไปแล้วในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1 ลำ มูลค่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยทยอยจ่าย 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2566 

 

ส่วนการจัดหาอีก 2 ลำในครั้งนี้เป็นการจัดหาต่อเนื่องให้ครบ 3 ลำตามที่ได้รับการอนุมัติไว้ มิใช่โครงการผูกพันงบประมาณเริ่มใหม่ในปี 2564 แต่เป็นการผูกพันงบประมาณในปี 2563-2569 ระยะเวลา 7 ปี โดยเป็นการทยอยตั้งงบประมาณรายปีภายในกรอบงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับตามปกติ ไม่ได้มีการขอรับงบประมาณเพิ่มเติม และรายการนี้ได้ตราไว้แล้วใน พ.ร.บ. รายจ่ายประจำปี 2563

 

อย่างไรก็ตาม การจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำครั้งนี้ควรจะมีการลงนามงบประมาณผูกพันภายในปีงบประมาณ 2563 แต่ระหว่างนั้นได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้ขอโอนคืนงบประมาณ โดยกองทัพเรือตระหนักถึงสถานการณ์ จึงได้เจรจากับประเทศจีนและขอคืนงบประมาณก้อนแรกที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3,375 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการชะลอโครงการเรือดำน้ำ 

 

ขณะที่ในปีนี้ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. รายจ่ายปีงบประมาณปี 2564 ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ จึงมีการปรับปรุงแก้ไข เริ่มทยอยจ่ายในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้

 

ระยะเวลา 8 ปี (2563-2570) วงเงินรวม 22,500 ล้านบาท

  • งบประมาณปี 2563 วงเงิน 0 บาท (ส่งคืนงบประมาณ 3,375 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19)
  • *งบประมาณปี 2564 วงเงิน 3,925 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2565 วงเงิน 2,640 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2566 วงเงิน 2,500 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3,060 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2568 วงเงิน 3,500 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2569 วงเงิน 3,500 ล้านบาท
  • งบประมาณปี 2570 วงเงิน 3,375 ล้านบาท

 

 

กองทัพเรือยัน จัดซื้อเรือดำน้ำแบบ GtoG ถูกต้อง

ด้าน น.อ. ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการจัดหาเรือดำน้ำ ชี้แจงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำเมื่อเดือนเมษายน 2558 จากนั้นได้ทำการศึกษาพบว่าข้อเสนอที่คุ้มค่าที่สุดคือของประเทศจีน จากการพิจารณาอู่ต่อเรือ 6 แห่งชั้นนำของโลก 

 

สำหรับการจัดหาเรือดำน้ำลำแรกมีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ยืนยันว่าเป็น GtoG จริง โดยรัฐบาลจีนสั่งการให้ SASTIND (องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีน) มอบอำนาจให้บริษัท CSOC (อู่เรือ) ลงนามในสัญญากับเสนาธิการทหารเรือในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ซึ่งยืนยันชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายได้รับมอบอำนาจชัดเจนจากแต่ละรัฐบาลตามกฎหมาย อีกทั้งกองทัพเรือได้เจรจาต่อรองจนได้รับประกันเรือดำน้ำ 2 ปีจากเดิมปีเดียว และได้รับการฝึกอบรมให้ทำการรบได้จริง เพราะไทยไม่มีเรือดำน้ำมาแล้วกว่า 69 ปี ยืนยันว่าได้ทำการเจรจาต่อรองอย่างคุ้มค่าต่อเงินภาษีอย่างสูงสุด

 

 

แจงหากไม่มีเรือดำน้ำ เสี่ยงประเทศขาดแคลน

ขณะที่ พล.ร.ท. ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวด้วยว่าประชาชนไทยเราหลงลืมไป ในอดีตเรามีเรือดำน้ำ 4 ลำแรก ในสมัยนั้นกองทัพฝรั่งเศสจะมาทำลายฐานทัพเรือสัตหีบ แต่ตรวจพบว่ามีเรือดำน้ำกลางอ่าวไทย จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนไปเข้าสู่ที่ตื้นบริเวณเกาะช้าง จนไปเกิดการรบที่เกาะช้าง นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าแค่มีเรือดำน้ำไว้ก็เปลี่ยนใจข้าศึกได้เลย

 

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยอาจลืมไปว่าเราขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค เพราะเราไม่มีอะไรป้องกันเขตแดนของเรา ไม่มีอะไรป้องกันทะเลของเรา ในภาวะปัจจุบันเช่นกัน ภายใน 15-20 วัน อย่างมากที่สุดไม่เกิน 1 เดือน ถ้าเส้นทางคมนาคมทางทะเลของเราถูกกระทบ ประเทศไทยทั้งประเทศอาจจะไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ อาจจะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคใช้

 

ทั้งนี้การจัดหาที่เป็นหน้าที่ต่อเนื่อง ไม่อยากให้นักการเมืองหยิบยกเอาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าหมดมุกแล้ว สู้รัฐบาลไม่ได้แล้ว ไปหามุกอื่นเถิด จะมาสร้างความเกลียดชังให้กองทัพเรือทำไม เพราะกองทัพเรือทำตามหน้าที่

 

 

ชี้หากเลื่อนจ่ายเรือดำน้ำอีก ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ

ในช่วงท้าย พล.ร.อ. สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ สรุปประเด็นสำคัญของการจัดหาเรือดำน้ำ ดังนี้

 

  • ยืนยันว่าการจัดหาเรือดำนำ้ลำแรกเป็นการดำเนินโครงการถูกต้องแบบ GtoG ทุกประการ 
  • การจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เป็นการจัดหาต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการตั้งงบประมาณใหม่ของปีงบประมาณ 2564 แต่เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 และได้รับการบรรจุใน พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 
  • การเจรจาบรรลุข้อตกลงแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้เจรจาตกลงเลื่อนจ่ายเงินงวดแรกไปเป็นปี 2564 แทน ทั้งนี้หากจะมีการชะลอการจัดหาไปอีกจะทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือในการทำการค้าระหว่างประเทศ และจะทำให้ความมั่นคงทางทะเลของประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 
  • ส่วนที่มาของงบประมาณในการจัดหาอยู่ในกรอบงบประมาณของกองทัพเรือ ไม่ได้เป็นการของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งกองทัพเรือได้ชะลองบประมาณส่วนอื่นๆ ก่อนเพื่อมาจัดหาเรือดำน้ำให้สำเร็จ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ 
  • นอกจากนี้ไม่ได้จ่ายค่าเรือดำน้ำคราวเดียว 2.2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการทยอยจ่ายปีละประมาณ 3 พันล้านบาท

 

 

ส.ส. ก้าวไกล บุกถามประชาชนคาใจลำดับการใช้เงินช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ขณะที่ในช่วงให้สื่อมวลชนซักถาม พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เขามาสังเกตการณ์และลุกขึ้นสอบถามว่าสิ่งที่ประชาชนสนใจคือการลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ ซึ่งหากงบประมาณในส่วน 3.9 พันล้านบาทในการจ่ายเงินค่าเรือดำนำ้งวดแรกถูกตัดไป เงินส่วนนี้จะไปรวมอยู่ในงบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ ที่ถูกตัด จากนั้นจะมีการพิจารณาคำขออุทธรณ์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอคำของบประมาณเข้ามา 

 

ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนเข้าใจอยู่ในเวลานี้คงไม่ผิดนักในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญการใช้เงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในสมัยปี 2540 รัฐบาลของ ชวน หลีกภัย ก็ได้ยกเลิกการจัดซื้อเครื่องบิน F-18 ซึ่งได้จ่ายเงินมัดจำไปก่อนแล้ว

 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามถึงการบริหารงบประมาณของกองทัพเรือ ซึ่งเมื่อเทียบกับบุคลากรทหารเรือของมาเลเซียมีประมาณ 1.5 หมื่นนาย ส่วนทหารเรือไทยมีประมาณ 7.5 หมื่นนาย และงบประมาณบุคลากรกองทัพเรือสูงถึง 43% จึงอยากทราบว่ากองทัพเรือมีวิธีการจัดการงบประมาณของบุคลากรอย่างไร

 

ด้านเสนาธิการทหารเรือได้กล่าวขอบคุณและแจ้งว่าบรรยากาศนี้เหมือนตอนอยู่ในห้องประชุมอนุกรรมาธิการ ซึ่งกองทัพเรือได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และขอบคุณที่ทำให้ประชาชนได้เห็นบรรยากาศส่วนหนึ่งในการพิจารณางบประมาณของอนุกรรมาธิการ

 

แผนจัดซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X