วันนี้ (12 กรกฎาคม) พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงถึงกรณีการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาของกำลังพลของกองทัพบก หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเดินทางไปเพื่อฉีดวัคซีน mRNA และเรื่องการใช้งบประมาณว่า กองทัพบกโดยกองร้อยส่งทางอากาศ ที่เดินทางไปร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation) กับกองทัพบกสหรัฐฯ ณ ฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 10-26 กรกฎาคม 2564
โดยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ภายใต้การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ในปี 2565 และมีการกักตัวก่อนไปฝึกในค่ายทหาร และเมื่อไปถึงสหรัฐฯ ก็ปฏิบัติลักษณะเดียวกันตามระบบ Military Training Quarantine กำลังพลทุกนายผ่านการ Swab Test ได้ผลเป็นลบ รวมถึงได้รับการฉีดวัคซีนที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
โดยสรุปกำลังพลทุกนายได้ผ่านกระบวนการตามมาตรฐานสาธารณสุขในการป้องกันโควิดทั้งในประเทศไทยและสหรัฐฯ อีกทั้งงบประมาณที่ใช้นั้นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ ยันยันว่า กำลังพลที่ไปฝึกได้รับการฉีดวัคซีนจากเมืองไทย 2 ชนิดคือ AstraZeneca และ Sinovac ส่วนวัคซีน Pfizer นั้นไม่เกี่ยวกัน และ พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ ยังกล่าวถึงภาพการ์ดแสดงผลฉีดวัคซีนเพิ่มเติมว่าเป็นของปลอม หากดูจากวันเกิดในการ์ด ถ้าเกิดปี ค.ศ.1963 อายุน่าจะ 58 ปี ซึ่งทหารที่ไปไม่อายุมากขนาดนั้น
“กองทัพบกได้เผยแพร่ข่าวการเดินทางไปร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ตามที่กองทัพบกมีกำหนดส่งกำลังดังกล่าวไปเข้าร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operations) ณ ฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10-26 กรกฎาคม โดยทำการฝึกร่วมกับกองพลส่งทางอากาศที่ 82 กองทัพบกสหรัฐอเมริกา และกองทัพบกอินโดนีเซีย” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว
พ.อ. หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการส่งกำลังพลกองร้อยส่งทางอากาศ เข้าร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารในระดับกองทัพมิตรประเทศแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกยังสามารถนำความรู้ ประสบการณ์มาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน่วยส่งทางอากาศกองทัพบก และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ภายใต้การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ในปี 2565 อีกด้วย
ทั้งนี้ กำลังพลกองทัพบกที่เข้าร่วมการฝึกกระโดดร่มที่สหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีจำนวน 114 นาย ประกอบด้วย นายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวนนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นปีที่ 5 และพลทหาร ซึ่งทุกนายได้ผ่านกระบวนการตามมาตรฐานสาธารณสุขในการป้องกันโควิดทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา