×

ทอ. ย้ำจำเป็นต้องได้งบปี 66 ซื้อ F-35A ชี้กําลังทางอากาศไทยอยู่อันดับ 5 ในอาเซียน หากไม่ซื้อรอบนี้ต้องรอคิวการผลิตถึงปี 77

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2022
  • LOADING...
ประภาส สอนใจดี

วันนี้ (31 กรกฎาคม ) พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงถึงผลกระทบ หากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ตัดงบประมาณจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ว่า ในปัจจุบันกองทัพอากาศมีเครื่องบินขับไล่โจมตี จํานวน 5 ฝูงบิน ซึ่งกองทัพอากาศได้ดําเนินการปรับปรุงขีดความสามารถของอากาศยานที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถดํารงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเอาไว้ 

 

แต่เนื่องจากข้อจํากัดด้านอายุของอากาศยานมีผลต่อขีดความสามารถของอากาศยานที่ลดลง ข้อจํากัดการส่งกําลัง และซ่อมบํารุงที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งมีระยะเวลาในการจัดหาพัสดุอะไหล่ที่ยาวนาน ส่งผลให้กองทัพอากาศมีความจําเป็นที่จะต้องทยอยปลดประจําการอากาศยานประเภทเครื่องบินขับไล่โจมตีจาก 5 ฝูงบิน จนเหลือ 2 ฝูงบิน ในปี 2575 โดยกองทัพอากาศได้วางแผนดําเนินการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี จํานวน 1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบินที่ได้วางแผนทยอยปลดประจําการ เพื่อให้สามารถดํารงขีดความสามารถในการปฏิบัติการบินรบในอากาศ และการโจมตีทางอากาศต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 40 ปี

 

โดยสถานการณ์ปัจจุบันมีการขยายอิทธิพลจากชาติมหาอํานาจสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง และความมั่นคงภายในแต่ละประเทศ ทําให้หลายประเทศในภูมิภาคมีการสะสมกําลังทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกําลังทางอากาศที่มีขีดความสามารถสูงในการปฏิบัติการทางทหาร อย่าง เมียนมา, มาเลเซีย และเวียดนาม โดยมีการจัดหาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง (เช่น เครื่องบินแบบ Su-27 และ Su-30) ซึ่งอันดับของกําลังทางอากาศของไทยในปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน กองทัพอากาศจึงจําเป็นต้องจัดเตรียมกําลังให้มีขีดความสามารถและศักย์กําลังรบทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน เพื่อเป็นการป้องปราม และเตรียมพร้อมรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนสมรรถนะสูงยุคที่ 5 คือ เครื่องบิน F-35 ซึ่งราคาปัจจุบันลดลงต่ำกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2562 

 

โดยคาดการณ์ราคา Lot 14 อยู่ที่เครื่องละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 12.8 % จาก Lot 11 และมีส่งมอบ เครื่องบิน F-35 แล้ว มากกว่า 820 เครื่อง ทําการบินไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 540,000 ชั่วโมงบิน จํานวนนักบินที่ได้รับการฝึกตามโครงการแล้วมากกว่า 1,695 คน และเจ้าหน้าที่กว่า 12,520 คน ปฏิบัติภารกิจแล้วใน 8 หน่วยงาน (Service) ประกาศความพร้อมปฏิบัติการแล้ว 12 หน่วยงาน จากประเทศที่มีประจําการใช้งาน ณ ปัจจุบันทั้งหมดจํานวน 9 ประเทศ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงในการปฏิบัติการในปัจจุบันยังลดลงถึง 50% นับจากปี 2558 

 

พัสดุอะไหล่ของอากาศยานเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญที่ดํารงขีดความสามารถการป้องกันของกองทัพอากาศ เนื่องด้วยในสภาวการณ์ปัจจุบัน อากาศยานบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศอายุการใช้งานมาในห้วงระยะเวลา 20-40 ปี ซึ่งอยู่ในระยะ Aging Phase ยังผลให้สายการผลิตพัสดุอะไหล่ในการซ่อมบํารุงมีการปิดสายการผลิต และในบางรายการไม่สามารถจัดหาได้ เป็นปัจจัยให้ห้วงเวลาจัดหาพัสดุอะไหล่ทดแทน (Long Lead Time) ในส่วนของพัสดุอะไหล่ในส่วนต่างๆ ของอากาศยาน 

 

แม้ว่าการดํารงสภาพอากาศยานที่มีการใช้งานอยู่แล้วจะทําให้กองทัพอากาศสามารถประหยัดงบประมาณได้บางส่วน แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริง การดํารงสภาพอากาศยานที่มีอายุการใช้งานยาวนานนั้นส่งผลกระทบทั้งในด้านความปลอดภัย งบประมาณซ่อมบํารุงที่สูงขึ้น ความพร้อมรบของอากาศยานที่ลดต่ำลง เครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 5 สามารถปฏิบัติภารกิจทดแทนทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 ได้ในอัตรา 1:3 และแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 3-4 ได้ในอัตราส่วน 1:6 

 

ทั้งนี้กองทัพอากาศได้วางแผนในการจัดหาในปริมาณที่ลดลงแต่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจที่สูงขึ้น ตามความมุ่งหมายให้กองทัพอากาศสามารถยกระดับสู่กองทัพอากาศคุณภาพ Quality Air Force เพื่อให้มีขีดความสามารถรับมือกับภัยคุกคามได้ทุกรูปแบบ และสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ตลอดจนกองทัพอากาศได้วางแผนผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด 

 

โดยกองทัพอากาศมีแผนที่จะเสนอให้บริษัทผู้ผลิตประเมินขีดความสามารถของบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่มีศักยภาพเพื่อจ้างผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศ (S-Curve 11) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่ในการซ่อมบํารุงเพื่อให้มีขีดความสามารถและองค์ความรู้ (S-Curve 12) เพื่อต่อยอดในอนาคต กองทัพอากาศรับรู้และเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนในครั้งนี้จึงมุ่งสู่การยกระดับกองทัพอากาศและประเทศไทย สู่การมีเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง โดยนําไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศซึ่งเป็นส่วนสําคัญเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีโอกาสสร้างงานในลักษณะแรงงานฝีมือซึ่งมีค่าตอบแทนสูง

 

พล.อ.ต. ประภาสกล่าวต่อไปว่า เครื่องบินแบบ F-35A มีขีดความสามารถและคุณสมบัติตรงตามความต้องการตามรายละเอียด ความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีและระบบที่เกี่ยวข้องตามที่กองทัพอากาศได้กําหนดไว้ ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดความต้องการด้านระบบอาวุธที่สําคัญซึ่งได้กําหนดไว้คือ มีขีดความสามารถในการใช้ระบบอาวุธที่มีประจําการอยู่ในกองทัพอากาศ โดยอาวุธดังกล่าวได้แก่ GP Bomb Mk 80 Series, GBU-10 Series, GBU-12 Series และ AIM-120 Series นอกจากนี้เครื่องบินแบบ F-35A ยังติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 25 มิลลิเมตร และสามารถติดตั้งใช้งานระบบอาวุธที่ทันสมัย มีความแม่นยําสูง ทั้งระบบอาวุธนําวิถีอากาศ-อากาศ, อากาศ-พื้น, อากาศ-ผิวน้ํา เช่น AIM-9X, JDAM, AGM-158 JASSM ซึ่งกองทัพอากาศจะได้พิจารณาจัดหาเข้าประจําการตามกรอบงบประมาณที่เอื้ออํานวยต่อไป

 

จากข้อมูล Defense Security Cooperation Agency (DSCA) ซึ่งเสนอข้อมูลประเทศที่ร่วมผลิตและสั่งซื้อเครื่องบิน F-35 มีประเทศที่ร่วมในการสั่งซื้อเครื่องบิน F-35 รวม 20 ประเทศ ยอดรวมการสั่งซื้อกว่า 3,400 เครื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเครื่องบินลดลง และค่าอะไหล่และการซ่อมบํารุงลดลง

 

สําหรับการดําเนินการที่ผ่านมาของโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน กองทัพอากาศได้ส่งหนังสือ Letter of Request (Price and Availability: P&A) ให้กับ JUSMAGTHAI เมื่อ 28 ธันวาคม 2564 เพื่อให้เข้ากระบวนการซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยมีระยะเวลาการขอ P&A ทั้งสิ้นโดยประมาณ 12 เดือน คาดการณ์ว่าจะได้รับคําตอบภายในการขอ P&A ภายในเดือนมกราคม 2566 โดยถ้าหากได้รับการอนุมัติการขาย พร้อมทั้งทราบระยะเวลาการจัดหา รวมถึงราคายุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศจะสามารถดําเนินการในเรื่อง Letter of Offer and Acceptance (LOA) กับทางการสหรัฐฯ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพอากาศจะสามารถลงนามในหนังสือ LOA และสามารถผูกพันงบประมาณได้เรียบร้อยในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งการดําเนินการในการจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ 

 

กองทัพอากาศต้องทราบงบประมาณที่กองทัพอากาศจะได้รับในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนก่อน ถึงจะทําการตกลงกับทางการสหรัฐฯ ได้ ถึงจํานวนอากาศยานและส่วนสนับสนุนอื่นๆ ภายใต้การจัดทําสัญญาตามกรอบงบประมาณที่ได้รับ แต่หากกองทัพอากาศมิได้รับงบประมาณในปี 2566 ก็ไม่สามารถจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ ได้ และหากกองทัพอากาศเสนอความต้องการเครื่องบิน F-35 ในปี 2567 จะทําให้ต้องรอคิวการพิจารณาสายการผลิต และไม่สามารถเริ่มกระบวนการจัดหาได้ทัน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรีก และสาธารณรัฐเชก (กลุ่ม NATO) ซึ่งมีแผนจะสั่งจองการผลิตในปี 2565-2566 หากกองทัพอากาศสั่งจองการผลิตล่าช้าจะต้องต่อคิวจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว และความพร้อมปฏิบัติการของเครื่องบิน F-35 ครบฝูง จะเลื่อนออกไปเป็นปี 2577 ซึ่งในห้วงเวลาระหว่างปี 2575-2577 ส่งผลให้ประเทศไทยจะขาดขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ เนื่องจากการปลดประจําการเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีอายุการใช้งานจํานวนมาก

 

พล.อ.ต. ประภาสกล่าวอีกว่า จากความจําเป็นที่กองทัพอากาศต้องดํารงขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การดํารงความพร้อมรบ และหากมิได้จัดสรรงบประมาณในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนในปี 2566 จะเป็นผลให้กองทัพอากาศไม่สามารถจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ ได้ทันในปี 2566 ส่งผลให้การดําเนินการในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนล่าช้าไปอีก 2 ปี ซึ่งทําให้เสียโอกาสและขาดความพร้อมรบของฝูงบินขับไล่โจมตีทดแทนที่ล่าช้าจากปี 2575 เป็นปี 2577

 

กองทัพอากาศกําหนดความต้องการระยะ 10 ปี (2563-2573) ตามที่ระบุในสมุดปกขาว พ.ศ. 2563 ปรับปรุงแผนการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน โดยคณะกรรมการศึกษาและจัดทําความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีให้มีความเหมาะสมกับงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ และคํานึงถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจให้ได้ในปี 2575 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

  • ระยะที่ 1 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2566-2569) จํานวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 7,382 ล้านบาท 
  • ระยะที่ 2 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2569-2571) จํานวน 4 เครื่อง วงเงินงบประมาณ14,628 ล้านบาทเศษ 
  • ระยะที่ 3 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2572-2575) จํานวน 6 เครื่อง วงเงินงบประมาณ21,924 ล้านบาทเศษ 

 

รวมเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 43,935 ล้านบาทเศษ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising