×

ครั้งแรกในรัชสมัย ร.10 ธรรมศาสตร์ทอดกฐินพระราชทานทางน้ำในรอบ 83 ปี

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • สำหรับผ้าพระกฐินพระราชทาน ในปี 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพระราชทานนั้น นับเป็นปีแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
  • การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานทางน้ำ (ชลมารค) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมา 83 ปี

     แสงแรกของพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ท่าเรือของมหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นท่าน้ำที่ไม่ค่อยได้เห็นการเปิดใช้งานบ่อยครั้งนัก ท่าน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าตึกโดม ขณะที่ในเช้าวันนี้ได้ถูกเปิดใช้งานในวาระพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นบรรยากาศยามเช้าที่คึกคักและเต็มไปด้วยความปิติยินดีของผู้มาร่วมงาน รวมทั้งเป็นเช้าวันใหม่ ถือเป็นจุดแรกเริ่มของสิ่งใหม่สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกด้วย

     สำหรับงานสำคัญที่กำลังกล่าวถึงก็คือ ‘การถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน’ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2560 และขณะที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าถึงรายละเอียดของการจัดงานครั้งพิเศษนี้ เรือที่จะล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำผ้าพระกฐินไปทอดถวายยังวัดปลายทางก็ได้จอดเทียบท่าพอดี

 

 

กฐินพระราชทาน กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการขอรับผ้าพระกฐินพระราชทานและนำไปทอดถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาตามพระอารามหลวงต่างๆ มาแล้ว 82 ปี ซึ่งถือเป็นภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำนับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

     สำหรับ พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่พระราชทานให้ส่วนราชการ องค์กร สมาคม บุคคล หรือภาคเอกชนผู้มีจิตศรัทธานำไปถวายพระสงฆ์ ณ พระอารามหลวงทั่วพระราชอาณาจักร

 

 

     ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับ THE STANDARD ว่า การทอดกฐินถือเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมทำกันตั้งแต่วันแรมเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12

     โดยฤดูกาลของการทอดผ้ากฐินเริ่มต้นวันแรกตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งจะมีเวลาทำบุญทอดกฐินไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 รวมวัน-เวลาทำบุญประเพณีทอดกฐินเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งเรียกกันว่า กาลทาน คือ การทำบุญทำทานในกาลเวลาที่จำกัด เชื่อถือกันว่าได้บุญกุศลอานิสงส์มาก

     สำหรับผ้าพระกฐินพระราชทาน ในปี 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพระราชทานนั้น นับเป็นปีแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยได้เลือกนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดจันทน์กะพ้อ ซึ่งเป็นวัดรามัญโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี มีอายุราว 100 ปี ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบ้านตากแดด เลขที่ 41 หมู่ที่ 3 ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

     โดยในวันที่ 11 ตุลาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก วัดจันทน์กะพ้อ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ

 

 

     การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกปี ด้วยการล่องเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังวัดจันทน์กะพ้อ จังหวัดปทุมธานี เพื่อสืบสานประเพณีไทยอันดีงาม พร้อมกับเป็นการรื้อฟื้นประเพณีแห่กฐินทางน้ำ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

     การถวายผ้าพระกฐินพระราชทานทางน้ำ (ชลมารค) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ถือเป็นครั้งในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมา 83 ปี

     สำหรับปี 2560 เริ่มฤดูกาลทอดกฐินตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 และวันสุดท้ายของการทอดกฐินของปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันประเพณีลอยกระทงประจำปี

 

 

เรือจอดเทียบท่า ล่องไปตามนาวา ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน

     7.00 น. เรือที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตกแต่งเตรียมพร้อมเพื่อนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายเข้าจอดเทียบท่า อาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ทยอยเดินทางขึ้นเรือ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลำ ลำใหญ่นั้นให้โดยสารแยกตามไป โดยมีเรือที่ประดิษฐานผ้าพระกฐินพระราชทานแล่นนำ

 

 

     แม้ว่าในวันนี้มวลน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเส้นทางของการล่องเรือจะค่อนข้างแรง แต่ก็ไม่ได้ทำให้มวลน้ำใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปิติครั้งนี้ของผู้มาร่วมงานถดถอยแต่อย่างใด หลายคนแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยหลากสี ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องแต่งกายด้วยชุดขาวข้าราชการ เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมเนียมขั้นตอนปฏิบัติ

 

 

     ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มาคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ร่วมงานในชุดขาวของข้าราชการ ซึ่งดูแปลกตากว่าทุกครั้ง เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยครั้งนัก แต่ก็ยังมีความทะมัดทะแมงและว่องไวเช่นเดิม

     อาจารย์บอกกับ THE STANDARD ว่า “นี่ถือเป็นครั้งแรกของการจัดกฐินทางน้ำ เพราะที่ผ่านมากว่า 8 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทอดถวายผ้าพระกฐินพระราชทานทางบก (สถลมารค) มาโดยตลอด แต่ครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมทางน้ำ และเป็นการอนุรักษ์ประเพณีทางน้ำที่งดงามไปพร้อมๆ กัน ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกคนที่มาในวันนี้นอกจากจะได้ร่วมในวาระสำคัญ ก็ยังจะได้ชมวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำ ผ่านประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงที่มีชีวิตอยู่กับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ขณะที่ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ติดกับแม่น้ำตลอดแนวยาวกว่า 300 เมตร มีท่าเรือเป็นของตัวเอง ในอนาคตนอกจากมีรถมหาวิทยาลัยแล้ว ก็อาจจะมีเรือมหาวิทยาลัยที่ให้บริการรับ-ส่งบุคลากรและนักศึกษาก็เป็นได้”

 

 

     ตลอดเส้นทางการล่องเรือจากมหาวิทยาลัยผ่านสถานที่สำคัญมากมาย ผ่านสะพานที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำ ซึ่งมีเรื่องเล่าและที่มา ผ่านวัด ผ่านบ้านเรือน ผ่านวิถีชีวิตที่แล่นลอยไปตามน้ำพร้อมๆ กับขบวนเรือ เป็นหลายชีวิตที่ทอดถ่ายให้ผู้คนที่มาร่วมงานครั้งนี้ได้กลับมาสัมผัสบรรยากาศอีกครั้ง หลายคนมาจากต่างจังหวัด และหลายคนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเคยนั่งเรือล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งสุดท้ายเมื่อไร

     ขณะที่วันนี้มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนหลายคนได้ลงเรือเพื่อสัมผัสกิจกรรมนี้ไปพร้อมกันด้วย ตัวแทนนักศึกษาจากเยอรมนีบอกว่า รู้สึกได้ถึงความร่มเย็นของธรรมชาติริมน้ำ และตื่นเต้นที่จะได้เห็นกิจกรรมที่กำลังจะมาถึง

 

 

     ส่วนอาหารที่แจกให้กับผู้เข้าร่วมงานก็ต้องพิเศษตามไปอีก คือ เป็นข้าวน้ำพริกลงเรือ ซึ่งเป็นอาหารที่ห่อด้วยใบบัว เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากย่อยสลายง่าย แถมด้วยน้ำที่ใส่มาในกระบอกเพื่อให้นำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก

 

 

     9.00 น. โดยประมาณ เรือก็แล่นมาถึงบริเวณวัดบางเตยนอก ณ ที่นั้น เรือกว่า 20 ลำ ได้ตั้งขบวนรออยู่แล้ว มีเรือคายัคและเรือยนต์ของชาวบ้านที่ประดับด้วยธงรอเข้าขบวนอยู่แล้ว สำหรับเรือคายัคนั้นมาจากชมรม Thammasat Fleet ซึ่งก่อตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้มีการประกาศรับสมัครนักศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ เอกดนัย วงษ์วัฒนะ ผู้ประสานงานในการดูแลกิจกรรมนี้เผยว่า เป็นการต่อยอดการทำกิจกรรมของชมรม ซึ่งได้รับโจทย์ให้นำเรือคายัคเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ การพายเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาอย่างมาก โดยจะมีทีมพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ในการดูแลตลอดการทำกิจกรรม และถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสนำกิจรรมที่เรารักที่จะทำมาเป็นส่วนเสริมให้บริการเพิ่มเติมกับประชาชน ไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เพื่อให้การต่อยอดมีความยั่งยืน ซึ่งต้องบอกว่าในตอนแรกนั้นก็จินตนาการไม่ออกว่าจะมีหน้าตาอย่างไร แต่เมื่อได้ลงมือทำและเห็นความร่วมมือผ่านรอยยิ้มของคนที่มาก็พูดได้เต็มปากว่าภูมิใจที่ได้ทำงานครั้งนี้

 

 

     จากนั้นขบวนแห่ผ้าพระกฐินพระราชทานที่มีเรือของชาวบ้านแล่นนำ ตามด้วยเรือที่ประดิษฐานผ้าพระกฐินก็จอดเทียบท่ายังวัดจันทน์กะพ้อ ที่นั่นมีชาวบ้าน นักศึกษาจากชุมนุมสันทนาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รออยู่ เพื่อตั้งต้นขบวนแห่รอบพระอุโบสถ

 

 

     จากนั้นตั้งองค์กฐินพระราชทานบนโต๊ะหมู่บูชาหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

     ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานในพิธีเดินทางมาถึงสถานที่ประกอบพิธี เปิดกรวย ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วรับผ้าพระกฐินจากพานแว่นฟ้า ประคองยืนตรง วงดุริยางค์บรรเลงเพลง สรรเสริญพระบารมี และเดินเข้าสู่พระอุโบสถ ประกอบพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระศรีมงคลเมธี เจ้าอาวาส ในฐานะประธานสงฆ์ทำพิธีอปโลกนกรรม

     จากนั้นประธานถวายเครื่องบริวารกฐิน แขกผู้มีเกียรติถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา ประกาศยอดเงินที่ถวายจำนวน 1,450,000 บาท พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานและผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำถวายพระราชกุศล ประธานกราบลาพระรัตนตรัย กราบลาพระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี

 

 

     ชาญชัย แซ่จง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ในฐานะคนรุ่นใหม่ก็ตื่นตาไปกับบรรยากาศของกิจกรรมซึ่งไม่ค่อยจะได้พบเห็น เป็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่ควรสืบสานต่อ รวมทั้งได้เห็นวิถีชีวิตริมน้ำที่คนไทยมีมาแต่ช้านาน จึงอยากเชิญชวนให้นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ลองหาโอกาสไปสัมผัสประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านี้ดูหากมีการจัดในงานต่างๆ

 

 

อปโลกน์กฐิน คืออะไร?

     เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือ แสดงความพอใจว่าได้ กรานกฐิน เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี คำว่า กรานกฐิน คือ การลาดผ้า หรือ ทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหน่ึง

     และในขณะที่มีการทอดกฐิน เรามักจะได้ยินคำว่า ‘อปโลกน์กฐิน’ หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ ถามความเห็นชอบว่าควรมีกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือร่วมกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า ‘อปโลกน์’ หมายถึงการช่วยกันมองดูว่าจะสมควรหรือไม่ อย่างไร เมื่ออปโลกน์แล้วต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น

 

 

     ในปัจจุบันมีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บและย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงยกเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้ ปัจจุบันมีการนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็ถือว่าเป็นการถวายผ้ากฐินเหมือนกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising