×

พระราชดำริค้ำจุนสังคม 6 องค์กรประยุกต์ใช้รับวิกฤตเศรษฐกิจที่คนไทย 3.6 ล้านคนอยู่ในสภาพตกงาน

12.10.2020
  • LOADING...
พระราชดำริค้ำจุนสังคม 6 องค์กรประยุกต์ใช้รับวิกฤตเศรษฐกิจที่คนไทย 3.6 ล้านคนอยู่ในสภาพตกงาน

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีประชาชนไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านคน อยู่ในสภาพตกงานและเสมือนตกงาน
  • โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 4,877 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้าน 
  • การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ช่วยให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (ปี 2552) เป็น 2,676 ล้านบาท (ปี 2562) และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดกว่าครั้งใด สืบเนื่องจากสงครามการค้า สู่โรคระบาดโควิด-19 จนคาดว่าแรงงานไม่น้อยกว่า 14 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ 

 

พระราชดำริค้ำจุนสังคม 6 องค์กรประยุกต์ใช้รับวิกฤตเศรษฐกิจที่คนไทย

 

อย่างไรก็ตาม 6 องค์กรภาคีพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ 

 

ได้สร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนให้แก่ภาคชนบท ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการและกิจกรรมที่มุ่ง ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ เช่น สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 105.83 ล้านไร่ เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ 6,776.71 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ 9.44 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 3.23 ล้านไร่ สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรตามแนวทฤษฎีใหม่ 2.83 ล้านครัวเรือน พัฒนากลุ่มอาชีพที่มั่นคงและกลุ่มบริหารจัดการตัวเองได้ 70,431 กลุ่ม สร้างปราชญ์และผู้นำเพื่อร่วมขยายแนวพระราชดำริ มากกว่า 3.55 แสนราย

 

ขณะที่ผลการดำเนินงานดังกล่าวช่วยบรรเทาปัญหาในชนบท ซึ่งจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีประชาชนไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านคน อยู่ในสภาพตกงานและเสมือนตกงาน คือมีงานทำแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ผู้ที่อพยพมาหางานทำในเมืองต้องกลับไปในชนบทไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน

 

 

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าการรวมตัวกันของ 6 หน่วยงานครั้งนี้ เพื่อมาแสดงความมุ่งมั่นในการสืบสานแนวพระราชดำริให้ประเทศผ่านความท้าทายต่างๆ นานาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพราะทุกคนทราบดีแล้วว่า ในช่วงเวลาสองปีมานี้ ประเทศของเราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสงครามการค้า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ Technology Disruption ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคนอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะกระทบกับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคนอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

 

“เรามักพบเสมอว่า ประชาชนในชนบทลำบากยากแค้น รอความช่วยเหลือ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงละทิ้งชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองก็ลดลง เหล่านี้กระตุ้นให้พวกเราเห็นชัดว่า เราจะต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้ประเทศไทยของเราผ่านโควิด-19 และ Technology Disruption ไปได้ เพื่อให้ประเทศไทยดีว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

 

 

ดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 4,877 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้าน 

 

ที่สำคัญคือการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาฯ 19 แห่ง ทำให้เกิดงานศึกษา ทดลอง วิจัย รวม 1,323 เรื่อง มีการขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ 148 หมู่บ้าน เกษตรกรรับประโยชน์ 31,786 ครัวเรือน 104,368 คน มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับผู้สนใจรวม 12,250 คน และมีผู้เข้าศึกษาดูงานเพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เฉพาะในปี 2563 รวม 629,097 คน และศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ 111 แห่ง ยังให้ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเกษตรกรนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ปรากฏว่าเกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.8 สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 90.4 

 

“งานขยายผลของศูนย์ศึกษาฯ ทั้ง 6 แห่ง ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยผลสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 43.3 มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก เกษตรกรร้อยละ 50.5 มีความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเงิน 216,821.98 บาท รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเงิน 146,306.98 บาท ส่วนใหญ่มีรายได้พอเพียงกับรายจ่ายคิดเป็นร้อยละ 37.80 มีการออมเงินในครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 72.30” ดนุชา กล่าว

 

 

ดนุชา กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ปรากฏว่าเกษตรกรศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการงด/ลดการเดินทางและการปิดพื้นที่ (ล็อกดาวน์) เพราะสามารถสร้างอาหารอย่างเพียงพอ ทั้งยังเป็นที่พึ่งแบ่งปันช่วยเหลือคนในชุมชน/ลูกหลานที่ได้รับผลกระทบต้องกลับไปอยู่บ้านด้วย ส่วนธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงได้รับผลกระทบบ้าง ยอดขายลดลง แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยความพร้อมรับมือวิกฤต และมองวิกฤตเป็นธรรมดา มีจุดเด่นที่มีกลยุทธ์ปรับตัวได้เร็ว ไม่ปลดคนงานออก เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี

 

 

ที่สำคัญ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ยังช่วยให้รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (ปี 2552) เป็น 2,676 ล้านบาท (ปี 2562) และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 124,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 62) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X