สำหรับพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งในการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธีที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 THE STANDARD ขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หนังสือ ‘เรือพระราชพิธี’ โดย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
หนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติเรือพระที่นั่ง ความเป็นมาของเรือพระราชพิธี การจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต ลักษณะหน้าที่และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งและเรือในริ้วกระบวน หน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนเสด็จ การแต่งกายของผู้ประจำเรือในริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ประวัติย่อของเรือพระราชพิธีคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และภาพประกอบที่มีความสวยงาม
อีกเล่มคือ หนังสือ ‘เรือพระราชพิธี และเห่เรือ มาจากไหน?’ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ และคณะ
หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอที่มา และความสำคัญของเรือพระราชพิธีตั้งแต่ในสมัยโบราณ ว่ามีที่มาตั้งแต่ในสมัยใด พร้อมทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยข้อมูลของหนังสือมีความครบถ้วนทั้งในด้านความเชื่อและศาสนา และเห่เรือมาจากไหน? เมื่อไร?
นอกจากนี้ หนังสือยังได้รวบรวมบทความจากผู้รู้ทั้งในเรื่อง กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค…จากวิถีแห่งสงคราม สู่งานศิลป์แห่งแผ่นดิน
กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา: กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ และกาพย์เห่เรือ: ขนบสายธารสู่การสรรเสริญพระบารมี
หนังสือ กาพย์เห่เรือจากสมัยอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดย ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
หนังสือเล่มดังกล่าวได้นำต้นฉบับกาพย์เห่เรือจากหนังสือ ประชุมกาพย์เห่เรือ จัดพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. 2504 ที่ได้รวบรวมกาพย์เห่เรือที่มีความสมบูรณ์ เนื่องจากได้รวบรวมกาพย์เห่เรือตั้งแต่สมัยอยุธยา กาพย์เห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้นำมาจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังได้รวบรวมผลงานกาพย์เห่เรือในโอกาสสำคัญที่ประพันธ์โดยบุคคลสำคัญ และบทความ อธิบายตำนานเห่เรือ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเรื่องกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และการเห่เรือในพระราชพิธี
ภาพเปิด: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: