×

รสนายื่นหนังสือถึงสภา กทม. ไม่ให้รับโอนหนี้ BTS ส่วนต่อขยาย ด้วยภาระหนี้ไม่ควรเป็นของ กทม.

โดย THE STANDARD TEAM
15.09.2022
  • LOADING...
รสนา โตสิตระกูล

วานนี้ (14 กันยายน) วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) กล่าวถึงกรณี รสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภา กทม. ขอให้สภา กทม. มีมติไม่เห็นชอบรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่สองมาเป็นหนี้ของ กทม. 

 

วิรัตน์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการยื่นหนังสือของรสนามีความสอดคล้องกับแนวทางของสภา กทม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งตนเคยให้ความเห็นเรื่องการบริหารจัดการรถไฟฟ้าและปัญหาหนี้สินต่างๆ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจที่สภา กทม. จะต้องพิจารณา 

 

เนื่องจากสภา กทม. ชุดเก่าได้มีมติเห็นชอบให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. พิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารไปแล้ว รวมทั้งมีมติให้ กทม. เลือกดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 1. ให้ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน 2. ให้ดำเนินการในลักษณะสัมปทาน และ 3. ให้ส่งคืนโครงการแก่รัฐบาล 

 

ด้านรสนากล่าวว่า การยื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอให้สภา กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต มีมติไม่รับโอนทรัพย์สินและหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่สอง แบริ่งถึงสมุทรปราการ และหมอชิตถึงคูคต ซึ่งทั้งสองส่วนนี้อยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร การที่รัฐบาลสั่งโอนส่วนต่อขยายที่สองมาให้ กทม. โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทั้งที่ก่อนการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่สองมีการประเมินไว้ชัดเจนว่าส่วนต่อขยายดังกล่าวขาดทุนในเชิงธุรกิจ แต่เป็นผลดีในเชิงเศรษฐกิจ

 

เนื่องจากประชาชนจากต่างจังหวัดสามารถเดินทางมาเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้สะดวกขึ้น ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณ แต่กลายเป็นการยกทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในส่วนค่าก่อสร้างและการเดินรถมาให้ กทม. โดยที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปทำสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) โดยไม่ใช่ตัวแทนของ กทม. ดังนั้น การที่ KT ไปทำสัญญากับ BTS เป็นสิ่งที่สภา กทม. ในอดีตยังไม่มีการเห็นชอบ แต่มีการทำสัญญาเดินรถไปก่อน จึงเกิดภาระผูกพันขึ้นมา

 

สำหรับหนังสือร้องเรียนของรสนาได้ระบุว่า หากที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบการรับหนี้ดังกล่าว ซึ่งยังไม่ใช่หนี้ของ กทม. และยังเป็นเส้นทางคาบเกี่ยวจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี ส.ก. ทั้ง 50 เขตจะมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะภาระหนี้ไม่ควรเป็นของ กทม. ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ดังนั้น การรับโอนหนี้มาเป็นหนี้ของ กทม. จะไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป็นกลอุบายเพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี 

 

ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลายเป็นภาระของคน กทม. ที่จะต้องจ่ายค่ารถโดยสารแพงไปอีก 30 ปี แทนที่จะจ่ายในราคาถูกลง เพราะเมื่อถึงปี 2572 สัญญาเดินรถจะสิ้นสุดสัมปทาน และจะกลับคืนเป็นของ กทม. จึงไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้าง ระบบราง เหลือเพียงค่าจ้างเดินรถและค่าบำรุงรักษาเท่านั้น

 

โดยเรื่องดังกล่าวต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่ดึงเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. โดยตนมองว่าเป็นกลอุบายในการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก เนื่องจาก กทม. ไม่มีความสามารถในการรับผิดชอบค่าเดินรถและค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่สองอย่างแน่นอน และเมื่อไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ จึงจำเป็นต้องขยายสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าส่วนหลักซึ่งกำลังจะหมดสัญญาในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับการจ่ายหนี้ 

 

ตรงนี้จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะเมื่อครบสัญญาในปี 2572 รถไฟฟ้าส่วนหลักจากหมอชิตถึงอ่อนนุชจะต้องเป็นของ กทม. แต่หากมีการขยายสัมปทานต่ออีก 30 ปี เพื่อแลกกับหนี้ที่ถูกโยนมาจากส่วนต่อขยายที่สอง ตนมองว่าประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารแพงไปอีก 30 ปี จึงอยากให้สภา กทม. มีมติไม่รับโอนหนี้ดังกล่าว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising