×

โรมให้ปากคำ-นำพยานหลักฐานยื่นเพิ่มเติมกรณี ส.ว. อุปกิต ด้านอัยการเตรียมเรียก ส.ว. สอบในสิ้นเดือนนี้

โดย THE STANDARD TEAM
21.03.2023
  • LOADING...

วันนี้ (21 มีนาคม) ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนบรมราชชนนี รังสิมันต์ โรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าให้ปากคำในฐานะพยานในการดำเนินคดี อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ปรากฏเกี่ยวกับขบวนการของ ตุน มิน ลัต จากการที่รังสิมันต์ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอส่งหลักฐานเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 

 

รังสิมันต์กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ ตนมั่นใจในพยานหลักฐานที่มี แต่คนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายควรทำตัวเองให้มีประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้คดีมันเฉื่อยชาแบบนี้ ถ้าตนจำไม่ผิดคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักรเมื่อเดือนมกราคมนี้เอง จนถึงก่อนที่มีความชัดเจนว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ทำไมตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ 

 

ตนมีความคาดหวังว่าพนักงานอัยการจะทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ ดูจากการที่ นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ปฏิบัติงานมา ตนก็ค่อนข้างมีความคาดหวัง เพราะดูแล้วท่านก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าคดีนี้ทางอัยการสูงสุดจะให้ความสำคัญเช่นกัน มิฉะนั้นอาจจะถูกคนครหาไปต่างๆ นานาที่จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ถ้าตนเป็นอัยการหรือตำรวจ ตอนนี้ตนออกหมายจับ ส.ว. รายดังกล่าวไปแล้ว เพราะถ้าเกิดการหลบหนีขึ้นมา ใครรับผิดชอบ ทางอัยการสูงสุดรับผิดชอบไหวหรือ ทาง บช.ปส. รับผิดชอบไหวหรือไม่

 

ส่วนที่อีกฝ่ายดำเนินการฟ้องกลับรังสิมันต์ในคดีทางอาญา รังสิมันต์กล่าวว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะดำเนินคดี ทางตนก็มีพยานหลักฐาน ที่นำมาวันนี้เป็นเพียงบางส่วน หากทางอัยการต้องการตนก็กลับไปนำมาเพิ่มให้ได้ แต่ก็เชื่อว่าทางอัยการมีหลักฐานมากกว่าตน คิดง่ายๆ ว่า ตุน มิน ลัต โดนอย่างไร ส.ว. คนดังกล่าวก็ควรโดนอย่างนั้น เพราะพยานหลักฐานชุดเดียวกัน แล้วที่อ้างว่าในช่วงโควิดนั้นด่านต่างๆ มีการปิด ตนต้องขอบอกว่ามันมีอีกหลายวิธีการและโอนเงินได้ในช่วงนั้น การที่ ส.ว. รายนี้จะอธิบายชี้แจงอย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา แต่ตนก็ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของตนได้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อภิปรายในสภา 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เมื่อยุบสภาไปแล้วทางรังสิมันต์จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมาย จะมีผลต่อการต่อสู้ในเรื่องต่างๆ หรือไม่ รังสิมันต์กล่าวว่า ทันทีที่ปิดสมัยประชุมก็จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับตอนออกหมายจับตัว ส.ว. ก็ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นกัน ดังนั้นถ้าตั้งแต่วันนั้นสามารถออกหมายจับได้ ไม่ได้เป็นการล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติอย่างไร 

 

“ผมไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วก็คงมีข้อจำกัดในเรื่องที่ผมต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งด้วย ก็ต้องแบ่งเวลาจัดการบริหารมากกว่า แต่ในเรื่องนี้ผมก็ยังจะเดินหน้าต่อไป และผมก็มั่นใจว่าแค่ดูพยานหลักฐานที่ตนมี สามารถนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แล้ว ต่อไปก็เป็นการพิจารณาของศาลทำหน้าที่ว่าสุดท้ายจะจบอย่างไร” รังสิมันต์กล่าว

 

ด้าน วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสอบสวน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการร่วมสอบสวนที่อัยการสูงสุดได้ตั้งขึ้น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รังสิมันต์ได้เคยยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด โดยระบุว่ามีพยานหลักฐาน 13 ฉบับ 

 

อัยการสูงสุดซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในความผิดนอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 20 จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการสอบสวนกับกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 (บก.ปส.3) ร่วมกันเป็นพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนประชุมร่วมกันแล้วเห็นควรว่า เมื่อรังสิมันต์อ้างว่ามีพยานหลักฐานดังกล่าว ทางคณะทำงานสอบสวนจึงเรียกมาสอบในฐานะพยาน และให้ยื่นเอกสารเข้าสู่สำนวนการสอบสวน เพื่อที่จะได้เป็นการสอบสวนที่ถูกต้องเป็นระบบ ผ่านชุดพนักงานสอบสวนที่อัยการสูงสุดได้ตั้งขึ้น

 

สำหรับความคืบหน้าในคดีขณะนี้มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือคดี ตุน มิน ลัต กับพวก ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

ส่วนคดีที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน จึงรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ พร้อมทั้งอาศัยพยานหลักฐานในชุดเดิม รวมถึงการสอบสวนเพิ่มเติมใหม่ จากเดิมที่อัยการสูงสุดได้สั่งสอบเพิ่มเติมไว้ 4 ประเด็น ซึ่งได้ทำการสอบหลักฐานสำคัญเสร็จไปแล้ว 3 ประเด็น โดยตั้งแต่ได้รับมอบหมายวันที่ 26 มกราคม ทางคณะทำงานก็ทำงานกันไม่หยุด จนถึงปัจจุบันก็ทำงานกันมาตลอด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการล่าช้าแต่อย่างใด และในช่วงอีก 2-3 วันนี้ ทางคณะทำงานสอบสวนก็จะเดินทางไปสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ด้วย ซึ่งภายในเดือนนี้คาดว่าจะสรุปสำนวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งยืนยันว่าจะทำสำนวนให้รวดเร็วที่สุด

 

วัชรินทร์กล่าวต่อไปว่า คดีนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักรเป็นไปตาม ป.วิ อาญา มาตรา 20 เป็นอำนาจอัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว คณะทำงานจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ดีที่สุดเพื่อนำเสนออัยการสูงสุด จะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้เสร็จในสิ้นเดือนนี้ ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่อย่างไร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องเรียกอุปกิตมาสอบสวนด้วยหรือไม่ วัชรินทร์กล่าวว่า อันนี้แน่นอน ถ้าพยานหลักฐานที่กำลังจะเดินทางไปสอบสวนนี้แล้วเสร็จ จะนำพยานหลักฐานที่เสร็จสิ้นแล้วมาเพื่อสอบสวนต่อ เพราะว่าเราทำการสอบสวนไม่ได้เพื่อที่จะสอบสวนไปเพื่อแจ้งข้อหาหรือจับอุปกิตก่อน แล้วค่อยสอบสวนหาพยานหลักฐาน แต่เราจะทำจากการหาพยานหลักฐานทั้งหมดให้ครบถ้วน แล้วค่อยพิจารณาว่าอุปกิตได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ จึงค่อยพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา 

 

เพราะถ้าเราไปแจ้งข้อกล่าวหาเลยก่อนที่จะมีพยานหลักฐาน ระยะเวลาต่างๆ ตามกฎหมาย มันจะมีระยะเวลาในการทำงานตาม ป.วิ อาญา มาตรา 113 แต่ถ้าเราสอบสวนพยานทุกอย่างเสร็จสิ้นชัดเจนแล้ว ตรงนี้มันจะเป็นแนวทางการสอบสวนที่ถูกต้อง ก็คือการสอบทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา เรียกว่าจะต้องดูพยานหลักฐานที่คณะทำงานกำลังทำกันอยู่ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising