วันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ภาพรวมการแก้ปัญหายังไม่มีความชัดเจน มีความลังเลในการกำหนดทิศทาง แม้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อสั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทบทวนยุทธศาสตร์ ซึ่งในความเป็นจริงต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 ขณะนี้ล่วงเลยมาแล้วแต่หลังจากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็มีการขีดเส้น 7 วัน สวนทางกับรัฐบาลวันนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะหลังช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม หรือเดือนรอมฎอน ขณะที่ข้อเสนอของฝั่งไทย ได้เจรจากับ BRN ก่อนหน้านี้ให้หยุดยิง เพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวจริง แต่กลับมีความล้มเหลวเกิดเหตุลอบสังหารตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่สบายใจสถานการณ์ไต่ระดับ และหากสังเกตดีๆความรุนแรงกำลังทำงาน เพื่อให้เกิดการตอบโต้
รอมฎอนยังมองว่า หากความรุนแรงถาโถมลงไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้คนแบกรับความเสี่ยง ดังนั้นจะดำเนินการอะไรต้องเป็นเหตุเป็นผล และมองว่ากระบวนการสันติภาพต้องผลักดันขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ชาวมุสลิมและไทยพุทธ รวมถึงอื่นๆ ต่างเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการพูดคุย เพื่อให้มีพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ให้ประชาชนพูดคุยและส่งเสียง และย้ำว่าเรื่องนี้ว่าต้องถกเถียงกันด้วยเสียงประชาชน
รอมฎอนชี้ว่า กระบวนการเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเจรจาเอง แต่ต้องมีส่วนกำกับ ขณะที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดระดับโดยมีคณะกรรมการพูดคุยซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร ไม่มีโครงสร้างดังกล่าว แต่ให้ สมช. ดำเนินการกันเอง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยยังมีข้อกังขาว่าคณะพูดคุยของ BRN เป็นตัวจริงหรือไม่นานแล้ว เรื่องทั้งหมดจึงควรเริ่มจากฉันทานุมัติของแต่ละฝ่าย ที่ต้องปรับ เพราะสุดท้ายทุกฝ่ายจะพูดคุยกันได้ต้องยุติสถานการณ์ปรปักษ์ หรือการลดความรุนแรงเผชิญหน้า
“แม้การเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงของรัฐบาล ดูเหมือนสมเหตุสมผล แต่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เพราะ BRN ยังคงใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจต่อรอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิด คือต้องเผชิญหน้า รัฐบาลต้องกำหนดวิธีการ เพราะมีความชอบธรรมมากกว่า เนื่องจากไม่ได้ใช้ความรุนแรง” รอมฎอนกล่าว
รอมฎอนยังยอมรับว่า การริเริ่มพูดคุยกับมาเลเซียเกิดจากความสามารถของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ที่ใช้ความสัมพันธ์ปูทางสู่การพูดคุยสันติภาพมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียมีความสำคัญเพราะมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประชากรและภูมิศาสตร์ จึงต้องมีการจัดวางให้เหมาะสม การกันมาเลเซียออกจากกระบวนการจะสร้างปัญหามากกว่าการแก้ไข
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะส่งนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีไปพูดคุยกับนายอันวา นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อยุติปัญหาเหตุความรุนแรงชายแดนใต้จะได้ผลหรือไม่นั้น
“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไทยใช้มาเลเซียเป็นประตูทางเข้าเพื่อพูดคุยกับ BRN ด้วย แต่สุดท้ายต้องขีดเส้นใต้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเรา ต้องริเริ่มด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ BRN หรือมาเลเซียเป็นผู้กำหนดการพูดคุยหรือการทูต” รอมฎอนกล่าว