×

รอมฎอนลุกหารือต่อที่ประชุมสภา ขอให้อนุญาต ‘พิศาล’ สส. เพื่อไทย ไปขึ้นศาลคดีตากใบ

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2024
  • LOADING...
รอมฎอน

วันนี้ (11 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ช่วงวาระการหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยช่วงหนึ่ง รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นหารือหนังสือร้องเรียนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างอิงว่าอีก 44 วันนับจากนี้ หรือในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะเป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ และจะเป็นวันสิ้นสุดอายุความคดีอาญา

 

รอมฎอนกล่าวว่า แต่ความคืบหน้าคดีศาลประทับรับฟ้องโจทก์ประชาชน 44 คน ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จึงปรึกษาว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการนัดศาลเบิกคำให้การของจำเลยครั้งแรก โดยภาคประชาชนขอให้ประธานสภาอำนวยความยุติธรรม จึงขออนุญาตให้ พล.อ. พิศาล เดินทางไปศาลในวันที่ 12 กันยายนนี้ และในวันถัดไป

 

ทำให้วันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 กำหนดไว้ว่า ระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียก สส. หรือ สว. ไปทำการสอบสวน ชี้ว่าเป็นเอกสิทธิ์ที่สมาชิกรัฐสภาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่วิธีปฏิบัติที่เคยปฏิบัติกันมา กรณีที่ศาลมีความจำเป็นขอสอบสวน หรือตำรวจขอดำเนินคดีระหว่างเปิดสมัยประชุม ก็ขอมาที่ประธานรัฐสภา

 

อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภาไม่ได้มีอำนาจ แต่สภาจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขอตัวสมาชิกไป หรือสมาชิกรัฐสภาเองขอไปดำเนินคดีด้วยตัวเอง ด้วยเห็นว่าไม่ต้องการให้คดียืดเยื้อ แต่ที่ผ่านมาตามวิธีปฏิบัติของรัฐสภาจะลงมติไม่อนุญาต

 

“อยากจะเรียนต่อรอมฎอนและพี่น้องประชาชนที่รับฟัง ไม่ได้หมายความว่าสภาของเราทั้งสองสภาจะไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดี แต่สภาเห็นว่าเพื่อพิทักษ์เอกสิทธิ์ของสมาชิก เราเกรงว่าสมาชิกฝ่ายค้านจะมีการกลั่นแกล้งเหมือนสมัยก่อนฟ้องคดีอาญา แล้วให้ตำรวจเรียกไปสอบสวน ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะดาวสภาทั้งหลาย แต่ที่เขาพูดกันยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญออกมาในกรณีที่จะมีการกลั่นแกล้งกับฝ่ายที่ไม่ถูกกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีอำนาจให้ตำรวจเรียกไปไต่สวน” วันมูหะมัดนอร์กล่าว

 

จากนั้นรอมฎอนจึงหยิบยกวรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีการฟ้อง สส. หรือ สว. ในคดีอาญา ไม่ว่าฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อสมาชิกผู้นั้นไปประชุมสภา” และถามประธานสภาถึงแนวปฏิบัติ

 

วันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ไม่มีกฎหมายที่กำหนดว่าจะต้องนำตัวไป สมาชิกสามารถมอบหมายให้ทนายดำเนินคดีแทนได้ และกรณีที่ศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่มีคนคัดค้าน และจำเลยต้องการให้จบเร็ว ฝ่ายโจทก์จะไม่ถูกบังคับให้ไปไต่สวน เป็นเรื่องของทนาย และมีหลายคดีที่เป็นในลักษณะนี้ คือศาลเห็นว่าสามารถดำเนินคดีได้โดยที่สมาชิกไม่ต้องไปชี้แจงในศาล

 

จากนั้น อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นระบุว่า ศาลอาญาได้พิจารณาคดีของตนเอง ซึ่งเป็นจำเลยในกรณีผู้บงการให้เกิดเหตุการณ์ที่พัทยา เป็นการสืบพยานโจทก์แต่เป็นการพิจารณาลับหลัง และตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 125 วรรคสุดท้าย ศาลจะพิจารณาในคดีนั้นระหว่างสมัยประชุมก็ได้ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ไป แต่ได้มอบหมายทนายความแทน แต่หากศาลขอมา สภามีประเพณีมาคือไม่ให้ไปไม่ว่ากรณีใดโดยเด็ดขาด ก่อนจะทิ้งท้ายว่า สมาชิกทุกคนถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไปศาลเด็ดขาด

 

ต่อมา กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายหารือเกี่ยวกับการใช้เอกสิทธิ์ของ สส. ว่า ในวันพรุ่งนี้ศาลจะนัดสอบคำให้การวันแรก โดยจะครบอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งการนับอายุความต้องนับ 20 ปีเมื่อได้ตัวผู้ต้องหาจำเลยไปศาล นั่นหมายความว่า หากในวันพรุ่งนี้ สส. ใช้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญไม่ไปศาล เป็นเรื่องของสภา จึงเข้าใจว่าประธานสภามีอำนาจ แต่เป็นเรื่องของสภาที่จะให้ใช้เอกสิทธิ์หรือไม่ในการคุ้มครองผู้นั้น แต่ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของผู้ที่ถูกกล่าวหาที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์

 

ในช่วงท้ายวันมูหะมัดนอร์อ้างอิงข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 187 ระบุว่า “ในกรณีที่เรื่องที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการอนุญาต หรือไม่อนุญาตในการจับกุมคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิก ไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาระหว่างสมัยประชุมตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณา” แต่เนื่องจากยังไม่มีเรื่องมาถึงประธานสภา จึงขอแจ้งให้ทราบ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising