×

ธปท. ประเมินความเสี่ยง Rollover ในตลาดหุ้นกู้จะ ‘ไม่ลุกลาม’ ไปสู่ระบบการเงิน มองแนวโน้มเกิดเหตุ Fund Run ต่ำมาก!

15.01.2024
  • LOADING...
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

แบงก์ชาติประเมินความเสี่ยง Rollover ในตลาดหุ้นกู้เอกชนไทย ‘ยังจำกัด’ คาดว่าจะไม่ลุกลามไปยังระบบสถาบันการเงินและระบบการเงิน รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุ Fund Run มีน้อยมาก

 

วันนี้ (15 มกราคม) สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า การทำงานของตราสารหนี้เอกชนยังเป็นไปตาม ‘ปกติ’ เห็นได้จากยอดคงค้างและอัตราการเติบโตของตราสารหนี้ภาคเอกชนยังขยายตัว 9% ในปี 2566 แม้อัตราดังกล่าวจะชะลอลงบ้าง แต่ยังนับว่าการขยายตัวค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

 

พร้อมทั้งมองว่า ความเสี่ยง Rollover ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ออกที่มีปัญหาเฉพาะตัว หรือเป็นปัญหาเฉพาะรายบริษัทเท่านั้น โดยจะเห็นได้จากผลการขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรกพบว่า ‘การขายไม่ครบ’ มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยคิดเป็นเพียง 1.3% ของการขายทั้งหมด และไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเกินปกติ โดยหุ้นกู้ที่ขายไม่ครบนี้ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ High Yield (หุ้นกู้ที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงมา รวมไปถึงหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้งด้วย) หรือมีประวัติขายได้ไม่ครบอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ สักกะภพยังมองว่า มีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังตลาดหุ้นกู้ ระบบสถาบันการเงิน และระบบการเงินมี ‘ค่อนข้างต่ำ’ เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้

 

  1. ขนาดหุ้นกู้ High Yield มีค่อนข้างเล็ก ไม่ถึง 10% ของมูลค่าคงค้างตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชน และในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับตัว เช่น วางหลักประกันมากขึ้น หรือว่ามีการเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขยายอายุและสัญญาต่างๆ

 

  1. ความเชื่อมโยงกับ ‘ระบบการเงิน’ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผ่านกองทุนรวมมีน้อยมาก โดยกองทุนรวมในไทยถือหุ้นกู้ High Yield ประมาณ 6 ร้อยล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.1% ของตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมดที่กองทุนรวมถือเท่านั้น

 

“เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ Fund Run หรือภาวะที่กองทุนถูกไถ่ถอนอย่างหนัก หรือมีราคาถูกลงมากๆ จึงมีต่ำมาก” สักกะภพกล่าว

 

  1. ความเสี่ยงต่อ ‘สถาบันการเงิน’ มีน้อยมาก มีการถือครองหรือ Exposure กับกลุ่ม HY น้อยมาก 0.23% ของพอร์ตสินเชื่อ

 

  1. ขณะที่ผลกระทบต่อรายย่อย พบว่ามีผู้ถือหุ้นกู้ High Yield ราว 1 แสนรายเท่านั้น มีค่าเฉลี่ยในการถือแต่ละรายประมาณ 2 ล้านบาท แสดงว่าเป็นผู้มีเงินออม และเป็นกลุ่ม High Net Worth Individuals

 

ดังนั้น ธปท. จึงมองว่าหลักๆ ผลกระทบของความเสี่ยง Rollover จึงมีแต่ด้าน Sentiment มากกว่า

 

 

ธปท. มองกองทุนพยุงหุ้นกู้ใหม่ไม่จำเป็น ยืนยัน BSF เดิมใช้ไม่ได้แล้ว

 

สักกะภพกล่าวอีกว่า ตามกฎหมายกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ครั้งที่แล้ว ไม่สามารถจะเอามาใช้ได้อีกแล้ว เนื่องจากการออกกองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์คือเพื่อดูแลสถานการณ์โควิด โดยหากจะทำอีกครั้งจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งตามการประเมินแล้ว สถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้ปัจจุบันยังห่างไกลจากจุดนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X