×

กองกำลังโรฮีนจาประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว โฆษกเมียนมาย้ำ “ไม่เจรจากับฝ่ายก่อการร้าย”

11.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกัน (ARSA) ออกประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เริ่มต้นการหยุดยิงฝ่ายเดียวเป็นเวลา 1 เดือน พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพเมียนมาปฏิบัติเช่นเดียวกัน
  • จอ เตย์ โฆษกประจำรัฐบาลเมียนมา ออกมาระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า “พวกเราไม่มีนโยบายเจรจากับฝ่ายก่อการร้าย”
  • เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาระบุว่า ปฏิบัติการความมั่นคงในเมียนมาที่มีชาวมุสลิมโรฮีนจาเป็นเป้าหมาย “ดูเหมือนตัวอย่างการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ตามที่เขียนไว้ในตำรา”

     กองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาอาระกัน (ARSA) ออกประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 ก.ย.) เริ่มต้นการหยุดยิงฝ่ายเดียวเป็นเวลา 1 เดือน พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพเมียนมาปฏิบัติเช่นเดียวกัน

     แถลงการณ์ผ่านทวิตเตอร์ของ ARSA ต้องการให้ฝ่ายองค์การมนุษยธรรมต่างๆ ออกทำหน้าที่ส่งความช่วยเหลือให้แก่ ‘เหยื่อทุกรายโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือศาสนา’ ระหว่างการหยุดยิงที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ตุลาคมนี้

     ในสายตาของเมียนมา กองกำลังนี้ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้าย โดย จอ เตย์ โฆษกประจำรัฐบาลเมียนมา ออกมาระบุผ่านทวิตเตอร์ด้วยว่า “พวกเราไม่มีนโยบายเจรจากับฝ่ายก่อการร้าย”

     ขณะเดียวกัน มีการกล่าวอ้างว่ากองทัพเมียนมาทำการวางระเบิดในพื้นที่ชายแดนเพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวโรฮีนจาที่อพยพเข้าบังกลาเทศเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ โดยมีรายงานว่าระเบิดเหล่านี้ได้คร่าชีวิตชาวโรฮีนจา 3 ราย และทำให้เด็กอีกหลายรายรับบาดเจ็บ

 

เกือบสามแสนชีวิตลี้ภัย

     ข้อมูลจากองค์กรสหประชาชาติ (UN) ชี้ว่า นับตั้งแต่เหตุรุนแรงครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ปะทุขึ้น มีชาวโรฮีนจาอพยพเข้าบังกลาเทศแล้ว 294,000 คน โดยปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาเกือบ 400,000 คนอยู่ในประเทศดังกล่าว หลังอพยพจากเหตุรุนแรงครั้งก่อนๆ

     อียังฮี ผู้เสนอรายงานพิเศษสหประชาชาติในประเด็นสิทธิมนุษยชน ระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มีอย่างน้อยๆ 1,000 คนที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะที่ตัวเลขของฝ่ายรัฐบาลเมียนมาอยู่ที่ 421 คน

     ความรุนแรงมีขึ้นหลัง ARSA ออกโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เสียชีวิต 12 นาย จนบานปลายสู่สถานการณ์ที่กองทัพเมียนมาและชาวโรฮีนจาออกมากล่าวหาอีกฝ่ายว่าก่อเหตุความไม่สงบและเผาบ้านเรือนตามหมู่บ้านต่างๆ

 

ปฏิกิริยาต่างชาติ

     ฝ่ายรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศอย่าง เอ เอช มาห์มูด อาลี กล่าวถึงสถานการณ์ในฐานะ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ที่ลุกลามไปในยะไข่ พร้อมแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ผู้นำเมียนมาอาจถูกนำขึ้นศาลระหว่างประเทศเนื่องจากกระทำการดังกล่าวได้

     ขณะที่ นูร์ จาซลาน โมฮัมเหม็ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกิจการภายในมาเลเซียเผยว่า “เต็มใจที่จะช่วยรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาตามกฎเกณฑ์ทางมนุษยธรรม แต่ยอดที่มากเกินไปอาจสร้างความกังวลให้เราได้”

     ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ลงทะเบียนต่อข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเพื่ออาศัยอยู่ในมาเลเซีย 56,000 คน

     นอกจากนี้ เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาระบุว่า ปฏิบัติการความมั่นคงในเมียนมาที่มีชาวมุสลิมโรฮีนจาเป็นเป้าหมาย “ดูเหมือนตัวอย่างการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ตามที่เขียนไว้ในตำรา” พร้อมเตือนให้รัฐบาลเมียนมา “ยุติปฏิบัติการทางทหารอันโหดร้ายของพวกคุณเสีย”

 

Photo: STR/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X