วันนี้ (8 พฤศจิกายน) เมื่อเวลา 11.45 น. เกิดเหตุรถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งบรรทุกดินเหนียวสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตกลงไปในหลุมจากพื้นถนนบริเวณด้านหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 ที่เกิดทรุดตัวลงกะทันหัน โดยเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
ต่อมาเวลา 13.04 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พร้อม วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตพระโขนง เพื่อตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น
ชัชชาติเปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า ผิวจราจรที่มีการทรุดตัวเป็นด้านบนของบ่อที่เป็นโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ซึ่งเวลากลางวันจะปิด และจะเปิดเพื่อทำงานในเวลา 22.00-05.00 น.โดยฝาปิดจะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อวางปิดเป็นพื้นถนน ซึ่งจะเป็นคนละรูปแบบกับที่เกิดเหตุที่มักกะสัน
สำหรับสาเหตุการถล่มในครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีความเป็นไปได้หลัก 2 กรณี คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด และการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยในเบื้องต้นจากการคำนวณพบว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักถึง 45 ตัน แต่ยังต้องหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
ในส่วนของกรุงเทพมหานครไม่ได้มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก ซึ่งต่อไปอาจจะต้องมีเพิ่มเติม แต่ตอนนี้ต้องขอจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมาช่วยในการสนับสนุนก่อน สำหรับการเข้ามาวิ่งใน กทม. ของรถบรรทุกทุกคันมีที่มาที่ไป เช่น คันที่เกิดเหตุนี้มาจากไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่งที่กำลังขนดินออกไปถมที่พุทธมณฑล
ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบ กทม. ไม่ต้องการตั้งด่านบนถนนเพราะจะทำให้เกิดรถติดมาก จึงเน้นการตรวจที่ต้นทาง เช่น แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง และตอนนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างไปแล้วว่า หากไซต์ไหนที่ใช้รถก่อสร้างควันดำบรรทุกเกินให้หยุดการก่อสร้างทันที ถือเป็นการป้องกันได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหลุมอื่นๆ 700 กว่าหลุมที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน กทม. ต้องขอความร่วมมือให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะไม่ใช่งานของ กทม. สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นโครงการที่ทำเพื่อเมืองที่สวยงาม เพื่อความเจริญของเมือง ไม่ได้อยู่ดีๆ มาขุดเล่น
โดยเฉพาะสายไฟฟ้าแรงสูงที่หากนำลงดินต้องลงไปลึกมาก อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานช่วยกันดูแล เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องชาว กทม.
ด้าน ศักดิ์มงคล อายุ 29 ปี คนขับรถบรรทุก เล่าว่า ตนเองขับออกมาจากไซต์งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งเพื่อบรรทุกดินออกนอกพื้นที่ เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุแผ่นคอนกรีตบริเวณล้อหลังได้ทรุดตัวลง ทำให้หน้ารถลอยขึ้น ตนเองตกใจจึงรีบลงจากรถทันที ส่วนตัวยอมรับว่าไม่ทราบว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ เพราะตอนตักดินใส่รถไม่ได้มีการชั่งน้ำหนัก แต่ยืนยันว่าไม่ได้บรรทุกเกิน คาดว่าน่าจะหนักไม่เกิน 20 ตัน
จากนั้นเวลา 13.20 น. กรุงเทพมหานครเตรียมนำเครนมายกรถบรรทุกออก แต่ทางผู้รับเหมาเจ้าของรถบรรทุกเสนอตัวจะดำเนินการเองเพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหาย โดยทางเอกชนนำรถเครนมายกด้านหน้ารถบรรทุกในเวลาต่อมา
ซึ่งระหว่างการแก้ไขเหตุที่เกิด เจ้าหน้าที่ได้จัดระเบียบการจราจรโดยปิดถนนตั้งแต่บริเวณสี่แยกสุขุมวิท 101/1 ไปจนถึงแยก 64/2 ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร โดยเปิดช่องทางพิเศษฝั่งขาออก 1 ช่องทางจราจรทดแทน
นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่การตั้งข้อคำถามจากสังคมถึง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ รถบรรทุก 10 ล้อคันดังกล่าวสามารถวิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เกิดเหตุได้หรือไม่
ใน กทม. รถบรรทุกวิ่งได้เวลาไหน กำหนดน้ำหนักที่เท่าไร?
ทีมข่าว THE STANDARD ได้ค้นหาข้อมูลจากข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร พบว่า
ในการวิ่งบนทางราบ
- รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในเวลา 06.00-09.00 น. และ เวลา 16.00-20.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ
- รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในเวลา 06.00-10.00 น. และ เวลา 15.00-21.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ
- ห้ามรถบรรทุกอื่น เช่น บรรทุกซุง เสาเข็ม เดินรถเวลา 06.00-21.00 น.
ในการวิ่งบนทางด่วน
- รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งเวลา 06.00-09.00 น. และ 16.00-20.00 น.
- รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งเวลา 06.00-09.00 น. และ 15.00-21.00 น.
- รถบรรทุกสารเคมี ห้ามวิ่งเวลา 06.00-10.00 น. และ 15.00-22.00 น.
ส่วนประเด็นน้ำหนักรถบรรทุก หรือพิกัดน้ำหนักตามกฎหมาย ได้กำหนดน้ำหนักของรถรวมน้ำหนักของเอาไว้ ดังนี้
- รถบรรทุกขนาด 4 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกินกว่า 9.5 ตัน
- รถบรรทุกขนาด 6 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 15 ตัน
- รถบรรทุกขนาด 10 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน
- รถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ ต้องบรรทุกหนักไม่เกิน 50.5 ตัน
สติกเกอร์แบบนี้ สังคมตั้งคำถามชวนให้คิดถึงเรื่อง ‘ส่วย’
ประเด็นที่สองคือ ที่กระจกด้านหน้ารถบรรทุกมีสติกเกอร์สีเขียวอักษรภาษาอังกฤษตัว B แปะอยู่ ทำให้หลายคนคิดว่าหรือนี่คือสติกเกอร์ส่วยที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทีมข่าว THE STANDARD ได้สอบถาม อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ถึงสติกเกอร์ดังกล่าว ซึ่งระบุว่า สติกเกอร์ที่เห็นเป็นไปตามที่สังคมตั้งข้อสงสัยคือ เป็นสติกเกอร์ที่ใช้เฉพาะกลุ่มเพื่อแสดงตัวตนว่าได้รับอนุญาตให้ขับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
การจะได้สติกเกอร์นี้เจ้าของรถจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเรียกง่ายๆ ว่าจ่ายส่วย และตามมาด้วยการติดสติกเกอร์นี้เพื่อยืนยันว่าจ่าย
อภิชาติกล่าวต่อว่า ตัวเองที่ขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของประชาชนจากการวิ่งรถบรรทุกยังคงยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่รถขนาดใหญ่ซึ่งอาจจะบรรทุกน้ำหนักเกิน ใช้ถนนในเมือง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา คือวันที่ 6 พฤศจิกายน ช่วงประมาณ 21.45 น. เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกหลุมใกล้แยกถนนศรีอยุธยาตัดถนนราชปรารภ พื้นที่เขตราชเทวี ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นทันทีหลังรถบรรทุกคันหนึ่งขับผ่านจุดดังกล่าว จึงมีการตั้งสมมติฐานว่า รถบรรทุกที่ขับผ่านไปน้ำหนักเกิน ส่งผลให้แผ่นคอนกรีตร่วงลงไปและถนนก็ทรุดเป็นหลุม