วานนี้ (13 ธันวาคม) ที่เวที BIG Talk 2022 ในหัวข้อ ‘How to ช่วยชีวิตคนไทย จากอุบัติเหตุทางถนน’ โครงการแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program: IHPP), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยงานด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งผลสรุปชี้ชัดว่าการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากอุบัติเหตุเป็นมหันตภัยร้ายแรงที่บั่นทอนศักยภาพการพัฒนาประเทศไทย
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดของ WHO กล่าวว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะไม่เพียงส่งผลให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียของกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ โดยในปี 2656 ตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม พบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตบนถนนมากกว่าปี 2564 ทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 10% จึงคาดว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตปีนี้จะมากถึง 18,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 16,000 รายในปีที่ผ่านมา
“ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นช่วงไฮซีซันการท่องเที่ยว มีงานบุญและปีใหม่ ซึ่งจะมีการเดินทางมากขึ้น น่าเป็นห่วงว่าอุบัติเหตุในช่วงนี้จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ที่น่าสังเกตคือไทยเราเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกของโลกที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด นอกนั้นอยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นประเทศที่รายได้ต่ำ ระบบสาธารณูปโภคไม่ดี การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ซึ่งในไทยเราเองไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ทำไมคนไทยเรายังตายกันมาก” นพ.วิทยากล่าว
ด้าน ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยของ IHPP กล่าวว่า จากแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย IHPP รายงานข้อค้นพบเชิงวิชาการเพื่อลดการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วและได้ผล ระบุว่า หากประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงไปได้ 50% ให้เหลือ 12 รายต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ได้สำเร็จ จะช่วยเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย (LE) 0.9 ปีในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง และเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (HALE) เท่ากับ 0.8 ปีในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง ตรงกันข้าม หากปัญหาอุบัติเหตุไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบต่อการสูญเสียระยะเวลาที่ประชากรไทยจะมีชีวิตอยู่และอยู่อย่างมีสุขภาพดี
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยพบการสูญเสียของประชากรชายมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากประชากรหญิงมีแนวโน้มคงที่ ดังนี้
- ผลกระทบต่ออายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด: ในปี 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชายแสดงถึงอายุคาดเฉลี่ยที่ลดลง เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยลดลง 1.9 ปี เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 1.5 ปี สำหรับเพศหญิงในปี 2562 ลดลง 0.5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 0.4 ปี
- ผลกระทบที่เกิดต่ออายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะของประชากร: ในปี 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชาย พบค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีจากที่ควรจะเป็นลดลง 1.6 ปี เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ค่าเฉลี่ย 1.3 ปี สำหรับเพศหญิงในปี 2562 และ 2557 อัตราคงที่ที่ 0.4 ปี
“กล่าวได้ว่าทุกความพยายามในการลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากรไทย ขณะเดียวกันยังลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ที่แสดงความยืนยาวของชีวิตที่คาดหวังว่าคนเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี” ภญ.ฐิติพรกล่าว
ด้าน พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงตัวเลขคาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนนว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 11.37 และ 20-24 ปี ร้อยละ 11.05 ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 12 ล้านล้านบาท
แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้
- เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท
- บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท
- บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท
- พิการ 306,156 ล้านบาท
ด้าน พล.ต.ท. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เน้นย้ำการขับขี่ตามกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ รวมถึงแจ้งเตือนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้นโยบายตัดแต้มใบขับขี่ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 อย่างเต็มรูปแบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโทษเกี่ยวกับการผิดกฎหมายจราจรจะมีแต่โทษปรับและบำเพ็ญประโยชน์ ทุกคนจึงคิดว่าไม่รุนแรงและไม่เกรงกลัว เพราะแค่มีเงินจ่ายก็จบ แต่กฎหมายใหม่ภายใต้ระบบตัดคะแนน ไม่ว่ารวยหรือจนทุนคนมี 12 คะแนนต่อปีเท่ากัน คะแนนจะถูกตัดมากน้อยขึ้นแค่ไหนอยู่กับประเภทความผิดที่ผู้ขับขี่ละเมิด
พล.ต.ท. เอกรักษ์กล่าวต่อไปว่า มาตรการนี้จะทำให้ผู้ขับขี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตระหนักและหันมาเคารพกฎจราจรมากขึ้น และในที่สุดอุบัติเหตุก็จะลดลงตามไปด้วย เพราะหากถูกตัดแต้มจนหมดจะถูกพักใช้ใบขับขี่ หรือห้ามขับรถเป็นเวลา 90 วัน หากทำผิดซ้ำๆ อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภท
โดยระหว่างนั้นหากพบว่าฝ่าฝืนถูกจับได้จะมีโทษถึงขั้นจำคุก 3 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ใครที่ต้องการขอคืนคะแนนต้องเข้าอบรมใหม่โดยกรมการขนส่งทางบก แต่กระบวนการเหล่านี้ผู้ขับขี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเพื่อให้ได้คะแนนคืนมา