วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ อุเทนถวาย กลุ่มนักศึกษาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกนัดหมายรวมพลเพื่อยื่นหนังสือขอแสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่ อุเทนถวาย
สืบเนื่องจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของที่ดิน มีความพยายามเรียกคืนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา จากอุเทนถวาย ซึ่งได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546
สำหรับบรรยากาศช่วงเช้า กลุ่มนักศึกษาได้มีการจัดแถวโดยแบ่งลำดับขบวนตามรุ่นการศึกษา มีการถือแผ่นป้ายไวนิลและธงระบุข้อความคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่เดิม อาทิ “คนภายนอกมองแค่เป็นการย้ายที่เรียน แต่ทางประวัติศาสตร์เราคือรากเหง้าของวิชาช่างก่อสร้าง”
นอกจากนี้ยังมีขบวนรถจักรยานยนต์และรถบรรทุกสิบล้อที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงเคลื่อนตามขบวนกลุ่มนักศึกษา โดยนักศึกษาบางคนได้ใช้มือตบเป็นสัญลักษณ์
จากนั้นเวลา 09.00 น. ทางกลุ่มนักศึกษาได้ทำพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรมตามความเชื่อ
ธนัช วชิระบงกช ตัวแทนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของอุเทนถวาย กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ทางนักศึกษาขอเรียกร้องให้มีเอกภาพ ขอให้ผู้ที่เข้าร่วมไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายใด
แม้ขณะนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่หารือแล้ว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน แต่หลังจากประชุมไป 2 ครั้งก็ไม่มีการประชุมเพิ่มเติม มีเพียงการแถลงออกมาว่าจะให้อุเทนถวายย้ายไปที่แห่งใหม่ ซึ่งนักศึกษาปัจจุบันยังไม่ทราบว่าย้ายไปที่ไหน ในการแถลงมีเพียงฝ่ายผู้ใหญ่เท่านั้น
ธนัชกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งแรกไม่มีตัวแทนนักศึกษาหรือแม้แต่สมาคมศิษย์เก่าของอุเทนถวายเข้าไปร่วม ทางตัวแทนจึงมีการยื่นหนังสือคัดค้านไปทาง อว. ต่อมาจึงมีการประชุมหารือในครั้งที่ 2 และเชิญอุเทนถวายเข้าร่วม สะท้อนว่าเมื่อไรที่อุเทนถวายเงียบ ทางฝั่งที่จะดำเนินการย้ายอุเทนถวายก็จะดำเนินการไปเรื่อยๆ
เมื่อถามว่า หากมีการยืนยันให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่จะทำอย่างไรต่อ ธนัชกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือคำสั่งใดๆ ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะให้งดรับนักศึกษาหรือการย้ายไปที่ใด เป็นการออกข่าวเพียงเท่านั้น
ในหนังสือมีการกำหนดระยะเวลาแล้ว ถ้าหลังจากนี้ไม่เห็นความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางกลุ่มก็คาดว่าจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหว เช่น ใช้มาตรการเข้าไปกดดันตามกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
กำหนดการในวันนี้ กลุ่มนักศึกษาจะเดินเท้าจากอุเทนถวายไปสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือถึงศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเดินทางต่อไปยื่นหนังสือถึง ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของแต่ละพื้นที่ดูแล โดยจุดแรกที่หน้ามหาวิทยาลัยฯ ถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะใช้ตำรวจสายตรวจและตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวันดูแล ส่วนที่ อว. ใช้ตำรวจสายตรวจและตำรวจจราจร สน.พญาไท ดูแล
ส่วนในช่วงบ่ายที่จะมีขบวนเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล จะเป็นของ สน.ดุสิต ดูแล และที่รัฐสภาเป็น สน.บางโพ ดูแล ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไว้ 1 กองร้อย โดยให้เตรียมตัวในที่ตั้ง หากไม่มีความจำเป็นจะไม่ใช้กำลังดังกล่าว
เบื้องต้นจากการรายงานข่าวพบว่า ฝั่งสถาบันคู่กรณีไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มความรุนแรง และแกนนำยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือทำลายทรัพย์สิน