×

จัดพอร์ต RMF & SSF สไตล์ทีมฟุตบอล สร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคงรองรับวัยเกษียณ

14.11.2021
  • LOADING...
RMF-SSF

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สมาคมนักวางแผนการเงินไทยแนะ จัดพอร์ตลงทุน RMF และ SSF แบบทีมฟุตบอล มีทั้งกองหน้า กองกลาง และกองหลัง เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง 
  • ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเผย การสร้างเป้าหมายลงทุนโดยทำ Retirement Account ของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีแล้ว ความสำเร็จอายุ 55-60 ปี ต้องพึ่งพาตัวเองได้ 
  • การลงทุนใน RMF และ SSF ไม่ควรกระจุกแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว ต้องกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง 
  • กองทุนประหยัดภาษี RMF และ SSF เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข ไม่จำเป็นต้องนำออกมาเป็นก้อนเดียว แต่ควรทยอยออกมาใช้ เพื่อให้เงินนั้นได้ทำงานต่อไป 

นับถอยหลังอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปี การวางแผนทางภาษีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมากสำหรับผู้ที่มีรายได้ ฉะนั้นแล้วกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือ SSF (Super Saving Funds) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกต้นๆ ที่หลายคนให้ความสนใจมิใช่น้อย แม้จะมีเงื่อนไขและนโยบายการลงทุนแตกต่างกันที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงไม่แพ้กันนั่นคือ เงินที่นำไปลงทุนสามารถตอบโจทย์ในยามเกษียณอายุได้อย่างมั่งคั่งแท้จริงหรือไม่ 

 

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนในวงเงินเดียวกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นเงื่อนไขและกฎกติกาเบื้องต้นในการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 

 

ฉะนั้นแล้วนอกเหนือจากเรื่องของการลดหย่อนภาษีที่จะได้รับ การเตรียมพร้อมรับมือการเกษียณอายุก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะทุกวันนี้ผู้สูงวัยมีอายุยืนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นแล้วหนุ่มสาววัยทำงานที่มีอายุ 25-35 ปี ต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและความฝันในวัยเกษียณได้ด้วย 

 

ทั้งนี้ กองทุน SSF ระยะเวลาถือครอง 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้ที่เสียภาษี หรือไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสามารถนำเงินออกมาได้แบบวันชนวัน มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ระดับความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันออกไปเช่นกัน หากเทียบกับกองทุน LTF ในสมัยก่อนที่เน้นเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นไทยเท่านั้น กองทุนนี้จึงถือว่าตอบโจทย์นักลงทุนได้เป็นอย่างดี 

 

ขณะที่กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้ที่เสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อนับรวมกับกองทุนรวม SSF และกลุ่มเกษียณทั้งหมด เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานบริษัทเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสำหรับข้าราชการ โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ถือลงทุนอย่างน้อย 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะสามารถขายคืนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข 

 

ฉะนั้นแล้วแนวคิดของการลงทุนควรแบ่งออกเป็นด้วยกัน 3 ส่วน ในการจัดทัพการลงทุนแบบทีมฟุตบอล โดยกองหน้าที่คอยทำชัยชนะ มีหน้าที่สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเงินลงทุนต้องเป็นเงินเย็นและถือได้ยาวนาน เพื่อที่จะสามารถลงในทรัพย์สินที่มีความคาดหวังของผลตอบแทนที่สูงได้ เช่น หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 7-10 ปี เพราะวงจรเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ประมาณ 7 ปี เงินที่นำไปลงทุนจึงต้องสามารถผ่านร้อน ผ่านหนาว ตามฤดูกาลของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งกองทุนรวม RMF และ SSF จัดทัพถือเป็นกองหน้าด้วยเช่นกัน 

 

ส่วนกองหลังเป็นตัวช่วยเพื่อรักษาประตูเอาไว้ เปรียบเสมือนเป็นเงินลงทุนได้ในระยะเวลา 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเงินส่วนนี้ถ้าหากไม่เตรียมไว้ให้หยิบจับใช้สอยได้อย่างง่ายๆ ก็อาจสร้างปัญหาให้กับชีวิต เช่น เงินที่เตรียมไว้เพื่อพาลูกเข้าโรงเรียน เป็นต้น ก็ควรนำเงินไปอยู่ในจำพวกเงินฝากหรือตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงิน หรือกองทุน Money Market ซึ่งถือเป็นกองหลังที่เน้นสภาพคล่อง 

 

ขณะที่กองกลางจะคอยเสริมเวลาได้เปรียบและหนุนหลังเวลาที่เราเพลี่ยงพล้ำ มีหน้าที่ให้สภาพคล่องยามจำเป็นและเอาชนะเงินเฟ้อได้ ในอดีตเครื่องมือหลักที่จะเข้ามาช่วย ได้แก่ พันธบัตรหรือหุ้นกู้ แต่ในยุคหลังมีการขยายไปยังทรัพย์สินที่สร้างรายได้ค่อนข้างเสถียร เช่น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างทางด่วน รถไฟฟ้า โรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีรายได้ค่อนข้างเสถียรจากสัมปทานเช่า จึงไม่ขึ้นลงตามเศรษฐกิจมากจนเกินไปนัก 

 

เมื่อเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือ Risk Return เห็นได้ชัดจากกรณีโควิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ และในอนาคตจะต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง รวมถึง Disruption ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความผันผวนในธรรมชาติที่เราจะต้องรับได้ก่อนถึงจะลงทุนได้ ถ้าหากรับความผันผวนไม่ได้ ควรเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่มันผันผวนน้อยลง

 

และการบริหารความเสี่ยงที่ต้องเข้าใจและรับความเสี่ยงนั้นได้ โดยการกระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในที่เดียว ซึ่งต้องยอมรับว่ายุคสมัยที่เปลี่ยน แม้เงินลงทุนจะมีไม่มาก แต่เราสามารถเข้าไปลงทุนได้ทั้งโลกแล้ว เช่น กองทุนในกลุ่ม S&P 500 ซึ่งลงทุนใน 500 บริษัทของอเมริกา โดยบริษัทใหญ่เหล่านี้เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทั่วโลก มีการเข้าไปทำธุรกิจอย่างน้อย 100-200 ประเทศทั่วโลก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะกระจายการลงทุนที่นอกเหนือในประเทศได้ และนักลงทุนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ แต่การลงทุนต้องมีความเข้าใจ และมีความรู้เพื่อกระจายความเสี่ยงตรงนี้ก็จะช่วยได้ 

 

“สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การตัดสินใจเรื่องจังหวะเวลาของการลงทุน สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ นักลงทุนจำนวนหนึ่งมักหมกมุ่นเรื่องจังหวะเวลาในการเข้าออกมากเกินไป ทำให้มีการเทรดนั่นค่อนข้างเยอะ แล้วคนส่วนใหญ่เวลาเข้าออกมากเกินไป มีโอกาสเสี่ยงว่าอาจจะออกไปในตลาดที่กำลังอยู่ช่วงค่อยๆ ขึ้น ซื้อแพงขายถูก เพราะว่าไปซื้อในจังหวะที่ทรัพย์สินนั้นๆ กำลังป๊อปปูลาร์มากๆ หรือดังมากๆ ก็มักจะแพง และไปขายเวลาเกิดการตกใจหรือข่าวร้าย การจับจังหวะมากเกินไปมีผลเสีย ฉะนั้นควรทยอยเข้า-ทยอยออก เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกพันกับรายได้มักทยอยเข้ามาทั้งปี วิธีการที่ดีที่สุดคือ แบบ DCA (Dollar Cost Averaging) จะช่วยให้เกิดวินัยในการลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุน เพราะเมื่อราคาตกก็ซื้อได้จำนวนมาก” 

 

ดร.สมจินต์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้ว่ากองทุน RMF เงื่อนไขสามารถนำเงินออกได้ตามกำหนดระยะเวลา แต่อยากให้นักลงทุนค่อยๆ ทยอยนำออกมาใช้หรือคงเงินไว้ก่อน เพื่อเป็นการให้เงินนั้นทำงานต่อในยามเกษียณอายุ เช่น หากคำนวณแล้วว่าช่วงเกษียณอายุต้องใช้เงินตกเดือนละ 120,000 บาทต่อปี ก็ควรถอนออกมาใช้เท่าที่คำนวณ และเงินที่เหลือนั้นเป็นการให้เงินทำงานต่อไป คล้ายกับกองทุนบำนาญนั่นเอง เพราะการเกษียณอายุเป็นการหยุดทำงาน แต่การลงทุนของเราทรัพย์สินต้องลงทุนต่อ ฉะนั้นการเรียนรู้และการเข้าใจศาสตร์แห่งการลงทุนจึงเป็นศิลปะแห่งการลงทุนอย่างแท้จริง

 

ด้าน เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA Group กล่าวว่า เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลกองทุนประหยัดภาษี ซึ่งต้องดูเงื่อนไขเป็นหลัก โดยกองทุน SSF ต้องถือครอง 10 ปีขึ้นไป ขณะที่กองทุน RMF กฎเกณฑ์สามารถขายได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งระยะเวลาการลงทุนมีความแตกต่างกัน โดย RMF จะต้องถือยาวกว่า เป็นการสร้าง Retirement Account ให้กับตัวเอง 

 

ยกตัวอย่างในต่างประเทศพบได้มากคือ ทุกคนจะตั้งใจสะสมเงินลงทุนใน Retirement Account ของตัวเอง สมมติถ้าหากเราอยากมีเงินใช้ในช่วงหลังเกษียณเดือนละ 30,000-40,000 บาท เงินที่ควรจัดเตรียมเอาไว้ต้องมีหลักประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป 

 

ดังนั้นกองทุน RMF จึงเหมาะเป็นกระปุก 1 ใบ เพื่อสร้างการลงทุนให้กับตัวเอง เพื่อสร้างเป้าหมายในการทำ Retirement Account ของตัวเองให้ดีขึ้น และได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีด้วย โดยวิธีการคิดคำนวณคือ การนำเงินลงทุนที่อยู่ใน Retirement Account ที่สะสมไปในอนาคต แล้วนำไปบวกกับอย่างอื่น เช่น ถ้าบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ควรจะนำไปบวกรวมด้วย เพื่อทำให้เป้าหมาย Retirement Account ของเราสำเร็จตอนที่เราอายุ 55-60 ปี ตอนเกษียณก็จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

อย่างบนแพลตฟอร์มของ FINNOMENA เคยมีการสำรวจว่า อยากมีเงินลงทุนเท่าไรตอนเกษียณ สมมติอยากมีเงินใช้เดือนละ 50,000 บาท ก็ต้องมีการลงทุนในกองทุน RMF อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สะสมเงินลงทุนได้ถึงเป้าหมายนั้น เงินในอนาคตก็ต้องมีประมาณ 20-30 ล้านบาทตอนเกษียณอายุ ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้เงินตรงนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า รวมถึงเงินเฟ้อที่ต้องนำมาคำนวณด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กองทุน RMF มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ให้ครบไปจนถึง 55 ปี ถึงจะเริ่มขายกลับมาได้ หากขายก่อนต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีย้อนหลังกลับไป

 

“การลงทุนในกองทุน RMF เหมาะกับทุกคน เพราะถ้าคุณอายุน้อยๆ แล้วเริ่มวางแผนด้วย RMF เหมือนการสร้างวินัย และเป็นการสร้าง Security ให้กับตัวเอง ในตอนที่เราเกษียณอายุ แม้ว่าปัจจุบันกองทุน RMF ในบ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยม กว่าจะลงทุน กว่าจะถอนได้ต้องอายุ 55-60 ปี ทำให้รู้สึกว่านานเกินไป แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ควรทำมากๆ เพราะเป็นการสร้างวินัย ถอนออกไม่ได้ และระยะการลงทุนประมาณ 20-30 ปี จากสถิติเคยบอกไว้ว่าผลตอบแทนโอกาสการลงทุนจะได้ทบต้นไปในระยะยาว”

 

หลังจากนั้นเมื่อมีสภาพคล่องแล้วในปีถัดไปจึงเลือกเข้ามาลงทุนในกองทุน SSF ซึ่งมีเงื่อนไขการลงทุนต้องอยู่ในครบเทอม 10 ปีขึ้นไปจึงจะถอนออกมาได้ ซึ่งเปรียบเทียบก็จะมีความคล้ายคลึงกับการออมผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่โอกาสของผลตอบจะสูงกว่า เนื่องจากกองทุน SSF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งตราสารทุนหรือหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฉะนั้น 10 ปี ผลตอบแทนมาเป็นบวก เช่น หากลงทุนในหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี เงินที่เรานำไปลงทุนก็จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจ

 

ปัจจุบันการจัดบนแพลตฟอร์ม FINNOMENA จัดชุด Combo Set  357 เป็นการจัดระดับความเสี่ยงให้กับกองทุนอย่าง Series 3, Series 5 และ Series 7 ยกตัวอย่าง หากนักลงทุนเลือกลงทุนใน Series 7 กองทุนเทคโนโลยีจะเน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเลย มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งเน้นไปยังกลุ่มเทคโนโลยี ประเทศจีนหรือสหรัฐฯ ในกลุ่ม Green Energy ที่สามารถนำมาปรับใช้กับกองทุนประหยัดภาษีได้

 

การเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อประหยัดภาษีสำหรับผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์นั้น การคำนึงถึงการลดหย่อนภาษีในแต่ละปีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การหาความรู้และศึกษาอย่างรอบคอบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรานั้นได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตด้วย 

 

RMF-SSF

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising