×

ดอกเบี้ยนโยบาย เป็นขาขึ้นแล้ว ดอกเบี้ยธนาคารจะเป็นเช่นไร

15.08.2022
  • LOADING...
ดอกเบี้ยธนาคาร

บทความใน THE STANDARD WEALTH ฉบับที่แล้ว เราได้กล่าวว่ายุคแห่งการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกหมดลงแล้ว ขอต้อนรับสู่ยุคใหม่ที่จะ ‘ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และงุนงง’ (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity: VUCA)

 

ถ้าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ยุค VUCA เศรษฐกิจไทยก็คงจะเข้ายุคดอกเบี้ยขาขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เรามองว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย โดยดอกเบี้ยอาจขึ้นไปอยู่ถึง 2% ในปลายปีหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอาจปรับขึ้นไม่ได้มากเท่า

 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และนัยต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการบริหารการเงินในระยะต่อไปจะเป็นเช่นไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

 

หากมองในภาพใหญ่จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมานโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจระดับหนึ่ง โดยระดับดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ต่ำกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP Growth) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การระบาดใหญ่ในไตรมาส 2/2020 ที่มาตรการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึงกว่า 12.3% เครื่องยนต์เศรษฐกิจหดตัวหมด ทั้งการบริโภค ลงทุน และส่งออก ทางภาครัฐได้เข้าช่วยเหลือโดยใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคลงทุนบ้าง

 

แต่ผลบวกของมาตรการจะไม่เห็นทั้งหมดในทันที โดยในฝั่งของมาตรการการคลัง มาตรการการให้เงินอุดหนุน เช่น ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ในช่วงการระบาดรอบแรก และ ‘ม.33 เรารักกัน’ ในช่วงการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ในช่วงไตรมาส 3/2021 นั้น ทำให้ประชาชนมีเงินออมมากขึ้น และพร้อมที่จะนำมาจับจ่ายเมื่อมีการเปิดเศรษฐกิจขึ้น (ซึ่งก็คือในช่วงปัจจุบัน)

 

ในขณะที่มาตรการผ่อนคลายและ Soft Loan ที่ได้ทำตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2020 และในช่วงไตรมาส 3/2021 นั้น ทำให้สินเชื่อขยายตัวถึง 10.8% และ 8.9% ตามลำดับ แต่กว่าที่เศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวจริง (วัดจากการบริโภคลงทุนที่เป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจขยายตัว) ก็เป็นในช่วงไตรมาส 1/2022 ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่ากว่าที่มาตรการการเงินการคลังจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอาจใช้เวลาถึง 6-18 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเริ่มมีทิศทางชะลอลงในระยะหลัง โดยล่าสุดการขยายตัวของสินเชื่อคงค้างของไทยอยู่ที่ประมาณ 4.01% ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 8.9% ในช่วงไตรมาส 3/2021 ซึ่งหากพิจารณาในเชิง Momentum เศรษฐกิจแล้ว สินเชื่อที่ชะลอลงก็จะทำให้ Momentum ของเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงใน 6-18 เดือนข้างหน้า

 

ดังนั้นเราจึงเห็นด้วยกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ Momentum การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด หรือที่ผู้ว่าการฯ ธปท. เรียกว่า ‘Smooth Takeoff’

 

ด้วยภาพเช่นนี้ เราจึงคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และดอกเบี้ยเงินกู้ จะต้องมีการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและลดหลั่นกัน โดยเราเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 4 ครั้งในปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไปจบที่ 2% ในปลายปี 2023 โดยสมมติฐานนี้ขึ้นอยู่กับว่าไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุนแรงในปี 2023 จนทำให้ ธปท. ต้องปรับลดดอกเบี้ย

 

ในขณะที่ปัจจัยที่สำคัญในการปรับดอกเบี้ยอย่างเงินเฟ้อนั้น เราคาดว่าเงินเฟ้อไทยจะค่อยๆ ลดระดับลงไปอยู่ที่ประมาณ 5% ในปลายปีนี้ จากระดับสูงที่ 7.6% ในเดือนกรกฎาคม ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.1% ขณะที่ในปี 2022 นั้น เงินเฟ้อจะลดลงต่อจากประมาณ 4.4% ในไตรมาสแรกมาอยู่ที่ 2.2% ในไตรมาสที่ 4 ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 3.3%

 

เมื่อภาพเป็นเช่นนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ก็ไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้น โดยในส่วนดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ด้วยสภาพคล่องในระบบธนาคารที่ยังมีอยู่มาก เห็นได้จากการขยายตัวของเงินฝากที่สูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อ ทำให้ธนาคารไม่น่าจะต้องรีบระดมเงินเพื่อนำมาเก็บไว้ เพราะจะมีต้นทุนสูง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกกว่า 8-12 เดือน

 

ในฝั่งดอกเบี้ยเงินกู้นั้น จากการศึกษาของเราในช่วง 4 วัฏจักรหลัง จะพบว่าการขึ้นของดอกเบี้ย Minimum Lending Rate (MLR) หรือดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี จะเริ่มต้นช้าเร็วกว่าดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate: RP) ขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในยุคปี 2004 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว การขึ้นของดอกเบี้ย MLR ครั้งแรกนั้นช้ากว่าดอกเบี้ย RP กว่า 13 เดือน รวมถึงขนาดของการขึ้นที่น้อยกว่าด้วย (RP ขึ้นทั้งหมด 375 bps แต่ MLR ขึ้นเพียง 200 bps) แต่ใน 2 วัฏจักรหลัง (ปี 2008 และ 2010) ดอกเบี้ย MLR ปรับขึ้นก่อนดอกเบี้ย RP 1-2 เดือน ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจตึงตัวและความต้องการสินเชื่อมีมากจนธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนที่ ธปท. จะปรับขึ้นด้วยซ้ำ แต่ขนาดของการขึ้นดอกเบี้ย MLR ก็ยังจะน้อยกว่า RP

 

ฉะนั้นในวัฏจักรนี้เราจึงเชื่อว่าหากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น 150 bps ไปจบที่ 2% โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR น่าจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ และอัตราที่ปรับขึ้นก็อาจจะน้อยกว่าที่ประมาณ 20 bps โดยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) ของ 4 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่จะเป็นหัวหอกเป็นสำคัญ และในท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อว่าดอกเบี้ย MLR อาจปรับขึ้นทั้งหมดประมาณ 100 bps ทำให้ MLR ไปจบที่ประมาณ 6.25% ในท้ายวัฏจักรนี้จาก 5.25% ในปัจจุบัน

 

สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีเงินกู้นั้น จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นเท่าไร คำตอบคือหากคิดอย่างง่าย โดยมีวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลากู้เงิน 10 ปี ดอกเบี้ย 4% แล้วนั้น จะมีภาระจ่ายค่างวดเดือนละประมาณ 1 หมื่นบาท หากดอกเบี้ยขึ้นเป็น 5% ภาระจ่ายค่างวดจะประมาณ 500 บาทต่องวด หรือกล่าวอย่างง่ายว่า หากดอกเบี้ยขึ้น 1% ผู้กู้จะมีภาระจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากยอดเดิม

 

ดังนั้นแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายในภาพใหญ่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่มีหนี้สินก็จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอยู่ดี ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้นก็จะไปเบียดบังการใช้จ่ายหรือเก็บออมในระยะต่อไป

 

การเริ่มลดระดับการก่อหนี้ใหม่ หรือหากจำเป็นก็ควรล็อกดอกเบี้ยยาว ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นต่อจากนี้ไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X