วันนี้ (17 ตุลาคม) จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีฝนตกหนักและตกชุกกระจายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มมากขึ้น ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) สั่งจับตาเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้น ตามข้อสั่งการของ ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักมาก 90 มิลลิเมตร (มม.) บริเวณพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดยโสธร, จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในลำน้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น
ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำชีเอ่อล้นตลิ่ง ดังนี้
- จังหวัดขอนแก่น 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชุมแพ, อำเภอแวงน้อย, อำเภอแวงใหญ่, อำเภอมัญจาคีรี, อำเภอโคกโพธิ์ไชย, อำเภอเมืองขอนแก่น, อำเภอชนบท, อำเภอบ้านไผ่, อำเภอบ้านแฮด, อำเภอพระยืน และอำเภอหนองเรือ
- จังหวัดมหาสารคาม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอกันทรวิชัย
- จังหวัดกาฬสินธุ์ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่องคำ
- จังหวัดร้อยเอ็ด 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจังหาร, อำเภอเชียงขวัญ, อำเภอทุ่งเขาหลวง, อำเภอธวัชบุรี, อำเภอพนมไพร, อำเภอโพธิ์ชัย, อำเภออาจสามารถ และ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
ส่วนลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบจากน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง ดังนี้
- จังหวัดอุบลราชธานี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี
- จังหวัดร้อยเอ็ด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพนทราย อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอหนองฮี
ทั้งนี้ ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะนี้
ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำชี-มูล ร่วมกับการปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนทดน้ำ (ฝาย) ประตูระบายน้ำต่างๆ ในลำน้ำชี-มูล เพื่อพร่องน้ำไว้รับน้ำเหนือ การบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ การจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำไว้รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมไปถึงการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา