เมื่อเวลา 21.40 น. ของวันที่อาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ยาน VSS Unity ของบริษัท Virgin Galactic ได้นำมหาเศษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน วัย 70 ปี พร้อมด้วยพนักงานระดับบริหาร 3 รายคือ เบท มอสเซส, คอลิน เบนเน็ต และ ซิริชา แบนด์ลา ออกเดินทางจากสนามบินสเปซพอร์ท อเมริกา ในนิวเม็กซิโก สู่ขอบอวกาศ ด้วยการนำทางของ 2 นักบิน เดฟ แม็กเคย์ และ ไมค์ มาซุกชี ก่อนกลับลงมาร่อนลงจอดบนรันเวย์ของสนามบินเดียวกันอย่างปลอดภัย
นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการท่องอวกาศ พร้อมคิวจองที่นั่งยาวเหยียดจากเศรษฐีทั่วโลกที่อยากสัมผัสประสการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่น่าตื่นเต้นแบบนี้
รูปแบบการบินสู่ขอบอวกาศของยาน VSS Unity (คำนำหน้าย่อมาจากคำว่า Virgin Spaceship) ออกจะไม่เหมือนที่เราคุ้นเคยกัน เพราะยานลำนี้คือหนึ่งในยานรุ่น SpaceShipTwo ที่ไม่ได้เดินทางจากผิวโลกด้วยแรงขับดันของจรวดในแนวตั้ง หากแต่เกาะกับไป ‘ยานแม่’ VMS Eve (คำนำหน้าย่อมาจาก Virgin MotherShip) ที่จะเทกออฟเหมือนเครื่องบินทั่วไป พาไปจนถึงความสูง 15 กิโลเมตรจากผิวโลก จากนั้น VSS Unity จะแยกตัวออกไปแล้วติดเครื่องยนต์ของตัวเองเพื่อเดินทางต่อไปจนถึงความสูง 86 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล จุดนี้คือจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความรู้สึกแตะขอบอวกาศอย่างประทับใจ เมื่อครบเวลายาน Unity ก็จะเดินทางกลับสู่ผิวโลกโดยกางปีก ‘ขนนก’ เพื่อชะลอความเร็ว และร่อนลงจอด ณ สนามบินแห่งเดียวกับที่เทกออฟในตอนแรก
Virgin Galactic ตั้งราคาที่นั่งบนยานท่องเที่ยวอวกาศของทางบริษัทเอาไว้สูงถึง 2.5 แสนดอลลาร์ (ราว 8.15 ล้านบาท) แต่กระนั้นก็ยังมียอดจองและจ่ายมัดจำเข้ามาแล้วถึง 600 ที่นั่ง โดยนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเหล่านี้ล้วนอยากจะได้มีโอกาสขึ้นไปเห็นท้องฟ้าที่เปลี่ยนกลายเป็นสีดำ ได้เห็นขอบฟ้าของโลกที่โค้งกลม และได้ล่องลอยในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำถึง 5 นาทีภายในห้องโดยสารของยาน
ความสำเร็จของแบรนสันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กลุ่มบริษัท Virgin เข้าร่วมทุนกับบริษัท Scaled Composites เพื่อนำเทคโนโลยีของยานรุ่น SpaceShipOne มาสานต่อในชื่อบริษัท ‘Virgin Galactic’ ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็นยานรุ่น SpaceShipTwo ของทางบริษัทเอง และต้องพบกับปัญหาต่างๆ มากมายระหว่างทดสอบยานจนถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิตของนักบินระหว่างทดสอบ ก็เคยมีมาแล้ว ดังที่เกิดกับยานลำก่อนหน้า Unity นั่นคือ VSS Enterprise ในเดือนตุลาคมปี 2014 ซึ่งทางแบรนสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทก็ไม่ได้ยอมแพ้
ต่อมาเที่ยวบิน 4 เที่ยวสุดท้ายของ Unity ประสบความสำเร็จด้วยดี และเพื่อเสริมความมั่นใจของผู้โดยสาร เที่ยวบินทดสอบล่าสุดในครั้งนี้ ‘แบรนสัน’ จึงขออาสาขึ้นทดสอบยาน Unity เที่ยวบินนี้ด้วยตัวเอง
แบรนสันโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่เฝ้าฝันมองดูดวงดาว บัดนี้ผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยานอวกาศที่ได้มองลงมายังโลกอันสวยงาม ผมขอส่งต่อความฝันนี้สู่ผู้คนรุ่นต่อไป ถ้าพวกเราทำได้ พวกคุณลองจินตนาการไว้เลยว่าคนรุ่นคุณจะทำอะไรได้บ้าง”
แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่เพียงแบรนสันที่หมายตาธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศไว้ มหาเศรษฐีทางเทคโนโลยีอีก 2 รายคือ ‘เจฟฟ์ เบโซส์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon และ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX ก็ได้เข้าสู่การแข่งขันนี้อย่างเต็มตัว
โดยเฉพาะเบโซส์ที่ได้ก่อตั้ง บริษัท Blue Origin เพื่อพัฒนายาน ‘นิวเชพเพิร์ด’ ของตัวเอง ก็ได้มีการเกทับแบรนสันชนิดที่เรียกว่าหยอกกันแรงๆ ตามข้อความในทวิตเตอร์ทางการของ Blue Origin ที่ระบุว่ายานของ Virgin Galactic นั้น สู้ของ Blue Origin ไม่ได้ เพราะไปไม่ถึง ‘อวกาศ’ จริงๆ เพราะบินต่ำกว่าเส้นคาร์แมน หน้าต่างชมวิวก็ดูเล็ก เป็นแค่เครื่องบินไม่ใช่จรวด ยานไม่มีระบบเซฟตี้ ฯลฯ เรียกว่าสู้ยาน ‘นิวเชพเพิร์ด’ ไม่ได้เลย
แต่พอเอาเข้าจริงเบโซส์ก็ยอมรับความสำเร็จของแบรนสันด้วยดี และได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า เขาแทบนับวันรอไม่ไหวที่จะได้มีชื่อเข้าร่วมว่าเป็นผู้บุกเบิกยุคใหม่ของการท่องเที่ยวอวกาศด้วยกัน
กำหนดเดินทางของยานจากบริษัท Blue Origin คือ 20 กรกฎาคมนี้ โดยเบโซส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท จะเดินทางไปกับ มาร์ก เบโซส์ ผู้เป็นน้องชาย, วอลลี ฟังก์ นักบินหญิงยุคบุกเบิก และบุคคลปริศนาอีกหนึ่งรายที่ได้ประมูลซื้อที่นั่งในเที่ยวบินนี้ไปเป็นเงิน 28 ล้านดอลลาร์ ทางด้านมัสก์ มหาเศรษฐีอีกรายผู้เป็นเจ้าของบริษัท SpaceX ยังอุบเงียบไม่เปิดเผยว่าจะใช้ยานรุ่นใดในการเข้าแข่งขันในศึกครั้งนี้
หากยานนิวเชพเพิร์ดของเบโซส์ เจ้าพ่อ Amazon ประสบความสำเร็จในการทดสอบอีกราย แน่นอนว่าตลาดท่องเที่ยวอวกาศก็จะเข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มตัว โดยฟาดฟันกันที่ราคาต่อที่นั่งเป็นหลัก
UBS ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า การท่องเที่ยวอวกาศจะเพิ่มมูลค่าให้ตลาดท่องเที่ยวได้ถึงปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- เส้นคาร์แมน หรือ Kármán Line คือเส้นสมมติที่นิยามว่าจุดเริ่มต้นของอวกาศอยู่ตรงไหน สูงแค่ไหนจากระดับน้ำทะเล ทางหน่วยงานสากลอย่าง FAI หรือ Fédération Aéronautique Internationale กำหนดไว้ที่ความสูง 100 กิโลเมตร แต่ทาง NASA และ FAA รวมทั้งกองทัพอากาศสหรัฐฯ กำหนดไว้ที่ 80 กิโลเมตร