เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยตามมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ว่า 3 แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ซึ่งประกอบด้วย อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ทั้ง 3 คนรวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ ‘ความเห็นส่วนตนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 19/2564 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่’
‘อุดม สิทธิวิรัชธรรม’ คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย 1 เสียงจากตุลาการทั้งหมด 9 เสียง
อุดมเขียนคำวินิจฉัยความเห็นส่วนตน ใจความสำคัญมีว่า
- เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของผู้ถูกร้องทั้งสามแล้ว ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่ผู้ถูกร้องที่ 3 (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) กล่าวนั้น จะเห็นได้ว่ามีแผนเป็นขั้นเป็นตอน…ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อดังกล่าว หากมีผลสำเร็จจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ที่จะต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภาให้ถูกต้องยังไม่ปรากฏชัดแต่อย่างใด
- พฤติการณ์การกระทำที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวและต่อเนื่องในการชุมนุมครั้งอื่นต่อมาอีก จึงไม่ใช่การกระทำโดยกระบวนการที่ถูกต้องทางนิติบัญญัติโดยแท้จริงในขณะนี้
- แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงประการอื่นว่าจะมีการกระทำอย่างอื่นให้สำเร็จดังกล่าวอย่างฉับพลันทันทีในขณะนั้นโดยอำนาจประการอื่นที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ
สรุป
ข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่พอฟังได้ว่า การกระทำขณะเกิดเหตุเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
แต่ห้ามมิให้มีการกระทำในลักษณะที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไป เพราะหากมีการกระทำเช่นนั้นอีกหลายครั้งต่อเนื่องกันไปเป็นระยะ จะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
จึงมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามขณะเกิดเหตุไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่ห้ามมิให้มีการกระทำในลักษณะที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 ประกอบด้วย
- วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- วิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- นภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้อง
ณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง
ผู้ถูกร้อง
- อานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1
- ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2
- ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ถูกร้องที่ 4
- จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกร้องที่ 5
- สิริพัชระ จึงธีรพานิช ผู้ถูกร้องที่ 6
- สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกร้องที่ 7
- อาทิตยา พรพรม ผู้ถูกร้องที่ 8
อ้างอิง: