วันนี้ (14 พฤษภาคม) อิศรา กันแตง อาจารย์ประจำสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนักวิชาการด้านผังเมือง, ธนิต ชุมแสง ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา, ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมด้วยเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ และประชาชนชาวเชียงใหม่ ร่วมเสวนาเรื่อง ‘บ้านคนไทยประชารัฐ ดอยสุเทพ คนเชียงใหม่ ความห่วงใย และข้อเสนอ’ เพื่อระดมความคิดและทางออก โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ขนาด 28 ตารางเมตร จำนวน 1,170 ยูนิต บนพื้นที่ 15 ไร่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ณ ลานศูนย์ฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ หอศิลป์สามกษัตริย์ (หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่)
อิศรากล่าวว่า เสวนาวันนี้เป็นการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทบทวนโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ซึ่งมีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ที่เริ่มจากรัฐบาลมีนโยบายที่ให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย เกิดเป็นโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ มีขึ้นใน 8 จังหวัดของประเทศ และเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตามหลักการคือให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้หาที่ดิน และให้เอกชนลงทุน ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินโครงการนี้ ซึ่งเคยจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ข้างโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย แต่ด้วยความหนาแน่นที่มากเกินไป ทุกคนจึงได้ช่วยกันปกป้องและเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะในปัจจุบันนี้ เลยย้ายที่ตั้งโครงการมาบริเวณรอยต่อของดอยสุดเทพ ด้านเหนือหอประชุมนานาชาติ ระหว่างสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือและพื้นที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร
โดยเอกสารระบุว่า เดิมทีโครงการจะตั้งอยู่บนพื้นที่อยู่ 15 ไร่ มีจำนวน 584 ยูนิตโดยประมาณ แต่เมื่อมีการประมูลแล้วกลับมีจำนวนมากถึง 1,170 ยูนิต หมายความว่าจะมี 3,500 คน เข้าไปอยู่ในพื้นที่ 15 ไร่ เป็นอาคาร 8 ชั้น สูง 22.90 เมตร สิ่งนี้เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า พื้นที่เชิงดอยสุเทพมีการจำกัดความสูงอยู่ที่ 12 เมตร ทำไมโครงการดังกล่าวถึงจะสร้างตัวอาคารที่สูงถึง 22.90 เมตร จนมาทราบภายหลังว่าเป็นเขตผังเมืองสีขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ทหาร ทำให้ได้รับการยกเว้นเรื่องความสูง แต่ฝั่งประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ใกล้เชิงดอยสุเทพกลับต้องเสียสละหรือเสียสิทธิในการใช้พื้นที่ไม่ให้สูงเกิน 12 เมตร ซึ่งทุกคนยอมยอมเสียสละ เพราะเห็นความสำคัญว่าพื้นที่เชิงดอยเป็นพื้นที่ที่เปราะบาง เป็นรอยต่อของป่า สร้างความชุ่มชื้นให้หล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนมาถึงทุกวันนี้ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนในเรื่องนี้ด้วย
ด้านธนิตกล่าวว่า ตามหลักการแล้ว การก่อสร้างที่อยู่อาศัยต้องทำที่พักอาศัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจริง คนที่เข้าพักอาศัยก็จะอยู่กันอย่างไม่มีความสุข ส่วนตัวแล้วตนไม่ได้คิดคัดค้านอย่างเดียว เพียงแต่คิดว่าที่อยู่อาศัยที่ดีควรมีความสมดุลรายล้อมด้วย ยกตัวอย่าง หมู่บ้านนักกีฬา เมื่อตอนที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2538 ที่ออกแบบได้เหมาะสม เป็นอาคารที่ไม่สูง มีพื้นที่ว่าง และมีต้นไม้จำนวนมาก ซึ่งนับเป็นตัวอย่างโครงการสร้างที่พักที่สมดุลมาก ส่วนโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เหมือนยกเอาบ้านเอื้ออาทรที่ทั้งสูงกว่าและคับแคบกว่ามาตั้งไว้เฉยๆ ตนจึงอยากให้กรมธนารักษ์และผู้เกี่ยวข้องทบทวนอีกครั้ง
ขณะที่ธีระศักดิ์กล่าวว่า ดอยสุเทพถือเป็นภูเขาลูกเดียวที่อยู่ใกล้เมืองที่สุด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า บริเวณพื้นที่ด้านหลังของดอยสุเทพ ตั้งแต่บริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติไปจนถึงห้วยตึงเฒ่า เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์สูง หากไม่ช่วยกันรักษาไว้ อนาคตดอยสุเทพจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากโครงการบ้านคนไทยประชารัฐเกิดขึ้นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันต้องทบทวนเรื่องของจำนวนและขนาด เช่น จำกัดความสูงไม่เกิน 12 เมตร จำนวนผู้พักอาศัยก็จะได้น้อยลง เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะสร้างผลกระทบเชิงลบในอนาคตด้วย
เรื่องและภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ