ปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า กรมสรรพากรไม่ได้ถอยหรือทบทวนมาตรการเก็บภาษีดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามที่บางสื่อนำเสนอแต่อย่างใด แนวคิดดังกล่าวมีมานานแล้ว และความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นรูปแบบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ไม่ได้จัดทำในลักษณะกฎหมายฉบับใหม่แต่อย่างใด
โดยกรมสรรพากรขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการนำส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกค้า เพื่อพิจารณารายได้จากดอกเบี้ย หากเกิน 20,000 บาทจะต้องเสียภาษี 15% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาธนาคารแต่ละแห่งมีข้อมูลที่แยกจากกัน และมีผู้ที่เปิดบัญชีหลายบัญชีในธนาคารเดียว เพื่อให้ดอกเบี้ยที่ได้รับน้อยกว่า 20,000 บาทต่อปี ทำให้กระบวนการตรวจสอบทำได้ยาก แนวคิดการรวมข้อมูลดังกล่าวนี้ กรมสรรพากรทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์มา 2-3 ปีแล้ว และขณะนี้พร้อมดำเนินการ
จากการประชุมกับสมาคมธนาคารไทย วันนี้ (23 เม.ย.) คาดว่า จะมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับใหม่ออกมาเร็วๆ นี้ โดยใจความสำคัญคือ ผู้ใดที่ไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร จะต้องไปแจ้งต่อสาขาของธนาคารเพื่อให้ดำเนินการ และถือเป็นการยอมรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของการจ่ายดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากทุกบัญชี ไม่ว่าจะเป็นเท่าไรก็ตาม (ทุกยอดการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก) ซึ่งสามารถไปทำเรื่องขอคืนภาษีสิ้นปีได้ ในช่วงยื่นแบบภาษีของไตรมาสแรกในปีถัดไป สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปทำเรื่องกับธนาคาร ถือว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลกับทางกรมสรรพากรได้เลย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งมีอยู่นับสิบล้านบัญชีทั่วประเทศ
กระบวนการถัดจากนี้ เมื่อกรมสรรพากรได้รับข้อมูลรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร จะนำไปผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนนั้นๆ เพื่อคำนวณว่ารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทหรือไม่ หากเกินก็จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันทีในวันที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีและสิ้นปี
ขณะที่ จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แบงก์ชาติรับทราบเรื่องการหารือระหว่างกรมสรรพากรกับสถาบันการเงิน เรื่องกระบวนการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าให้กับกรมสรรพากร ซึ่งมีประเด็นเรื่องของระบบงานไอทีของสถาบันการเงินที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถนำส่งข้อมูลดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน จึงอาจต้องมีการหารือเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นในเรื่องวิธีการปฏิบัติ ข้อติดขัด ผลกระทบต่อประชาชน และทางเลือกในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์